‘พปชร.’พรรคแห่งความ‘ผันผวน’ ไม่มีมิตรแท้ แต่มี‘ศัตรูของศัตรู’

ตลอด ‘ปีวัว’ ที่ผ่านมา เกิดเรื่องราวและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมาย โดยเฉพาะแผนการคว่ำผู้นำ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระหว่างศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 โดยมี ‘ผู้กองนัส’ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้นำก่อการ

แม้ปฏิบัติการของ ร.อ.ธรรมนัสจะล้มเหลว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวถูกจัดเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของการเมืองไทยในปีวัว หรือในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก

ที่สำคัญมันเกิดขึ้นกับผู้นำที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้นำที่ขึ้นชื่อว่า มีแบ็กอัพและสายป่านแข็งแกร่งที่สุด

และปฏิเสธไม่ได้ว่า แผนการล้มล้าง พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนั้น ที่หวังใช้เวทีสภาเป็นกลไกในการปฏิบัติการ มีมูลมาจากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐเป็นปฐมเหตุ

โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว แกนนำและ ส.ส.หลายคนไม่พอใจ 2 ป. ทั้ง ป.ประยุทธ์ และ ป.ป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ทำตัวเหินห่าง แบ่งชนชั้น ไม่ให้ความช่วยเหลือสมาชิกภายในพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่นี่คือ นั่งร้านของรัฐบาล และ 3 ป.

ความไม่พอใจนี้สะสมมาสักระยะหนึ่ง ตั้งแต่การเขย่าเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ของ พล.อ.อนุพงษ์ โดยการเสนอให้ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มานั่งเป็น มท.1 แทน พล.อ.อนุพงษ์

 คนในพรรคพลังประชารัฐต้องการปล่อยข่าวนี้ออกมา เพื่อมุ่งหวังให้ พล.อ.อนุพงษ์ขยับ และหันมาดูแลใส่ใจ ส.ส. หากแต่มันไร้ปฏิกิริยาตอบกลับ

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ ส.ส.รู้สึกว่ามีระยะห่างกับพรรคมากเกินไปจนเข้าไม่ถึง มิหนำซ้ำ ยังถูกกีดกันจากคนรอบข้างไม่ให้เข้าพบ

ความรู้สึกร่วมของคนในพรรคพลังประชารัฐตอนนั้นคือ พวกเขาเป็น ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาล แต่กลับต้องอยู่อย่างชนชั้นสอง ไม่สามารถนำมาสร้างความได้เปรียบในพื้นที่เพื่อต่อยอดสู่การเลือกตั้งครั้งหน้าได้เลย ต่างจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ที่เจ้าของพรรคให้การดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

แม้แผนจะล้มเหลว ร.อ.ธรรมนัส ต้องกลายเป็น กบฏ เซ่นความพ่ายแพ้ แต่ ส.ส.หลายคนรู้สึกว่า สิ่งที่เลขาธิการพรรคทำถือเป็นคุณูปการ อย่างน้อยมันทำให้ 2 ป. หันมาใส่ใจคนในพรรคพลังประชารัฐมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในปีวัวนี้ พรรคพลังประชารัฐถือเป็นพรรคที่ได้รับความสนใจมากที่สุดทางการเมืองไทย อันเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในที่ไม่มีทีท่าจะลดน้อยหรือเบาบางลงเลย

หมดเรื่องนั้น เรื่องนี้จะเข้ามาแทนที่ ประหนึ่งความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เกิดขึ้นจากการหล่อหลอมของอุดมการณ์ หากแต่คนที่มาและคนที่อยู่ล้วนมาจากการกวาดต้อนและผลประโยชน์ร่วม

แต่เมื่อทรัพยากรมีอย่างจำกัด ไม่สามารถจัดสรรได้แบบเท่าเทียม เมื่อมีผู้ได้ประโยชน์จึงมีผู้เสียประโยชน์ วิธีการเรียกร้องจึงมักจะมาในรูปแบบของการต่อรอง โดยใช้ทรัพยากรที่มีในพรรคอย่าง ส.ส.เป็นเครื่องมือ

  พวกเขายังใช้วิธีการการเมืองโบราณคือ ใครมี ส.ส.หน้าตักเยอะ คือผู้ที่สามารถต่อรองได้มาก ช่วงที่ผ่านมาจึงเกิดระดม ส.ส.เพื่อก่อการในเรื่องต่างๆ

บ่อยครั้งที่มุ้งต่างๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นมุ้ง ร.อ.ธรรมนัส มุ้งสามมิตร ต่างเคลมกันว่า มุ้งตัวเองมีคนมากที่สุด 40-50 คน แต่เอาเข้าจริงๆ เป็นการระดมเอา ส.ส.ที่ไม่มีกลุ่มก๊วนมาช่วยนั่งเป็นพระอันดับ เพื่อให้ดูมาก

ซึ่งในพรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.ประเภทที่เรียกกันว่า ฟรีแลนซ์ จำนวนมาก ส.ส.เหล่านี้พร้อมไปทุกที่ที่มีการร้องขอ หากมีขนมนมเนยเป็นค่าเสียเวลา

แม้แต่การ ตกปลาในบ่อเพื่อน ก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง

ความเป็นเอกลักษณ์ของพรรคพลังประชารัฐอีกอย่างคือ พรรคนี้ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร วันหนึ่งอาจเป็นศัตรูกัน แต่วันหนึ่งอาจผนึกกำลังกัน เพื่อเป้าหมายที่ตัวเองต้องการ

ปี 2564 มีความผันผวนของมุ้งต่างๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐบ่อย เริ่มตั้งแต่ต้นปี ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ภายหลังกลุ่มอดีตแกนนำ กปปส. ที่ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.กทม. นำโดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) หลุดตำแหน่งจากคำพิพากษาศาลอาญาคดีชุมนุม กปปส.ระหว่างปี 2556-2557 ส.ส.เมืองกรุงเมื่อไร้หัวต่างพากันกระจัดกระจาย

บางคนไปอยู่กับนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส และกรรมการบริหารพรรค ที่มีความสนิทสนมกับนายณัฏฐพลและนายพุทธิพงษ์ บางคนไปอยู่กับ ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค และเมื่อนายณัฏฐพลและนายพุทธิพงษ์ออกจากพรรค ทำให้มุ้งนี้สลายไปในที่สุด เหลือเพียงคนสนิทของอดีตแกนนำ กปปส.เพียงไม่กี่คนที่ยังไปมาหาสู่กัน

ขณะที่มุ้งที่มีบทบาทมากที่สุดในช่วงปีนี้ คงต้องยกให้มุ้ง 4 ช. อันประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส นางนฤมล นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ที่ใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรมากที่สุด   

สำหรับ ร.อ.ธรรมนัสกับนายวิรัชเอง ก่อนหน้านี้ไม่คงจะลงรอยกันเท่าไหร่ แต่พลันเมื่อเคลียร์ใจ สะสางปัญหาบาดหมาย แล้วจับมือกัน ทำให้การขับเคลื่อนดูดุดัน

มุ้งนี้ แทบจะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ การแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ไม่ว่าจะข้าราชการการเมือง กรรมาธิการวิสามัญต่างๆ ในสภา ถูกเสนอและคัดสรรโดยคนกลุ่มนี้ ในฐานะสายตรง พล.อ.ประวิตร

มุ้ง 4 ช. ยิ่งใหญ่ถึงขนาดเดินหน้าเขี่ย ‘เสี่ยแฮงค์’ อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แกนนำกลุ่มสามมิตร ออกจากเก้าอี้เลขาธิการพรรคได้อย่างง่ายดายในการประชุมใหญ่สามัญพรรคเดือนมิถุนายน เพื่อดัน ร.อ.ธรรมนัส นั่งตำแหน่งแม่บ้านพรรคแทน

ซึ่งบาดแผลนี้สร้างความคั่งแค้นกับให้กลุ่มสามมิตรเป็นอย่างมาก

แต่กลุ่ม 4 ช.กลับเกรียงไกรได้เพียงไม่นาน ก็ถือคราวต้องแตกเป็นเสี่ยง เหลือเพียง 3 ช. เมื่อความสัมพันธ์ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัสกับนายสันติมีปัญหา ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พอ ร.อ.ธรรมนัสเป็นใหญ่กลับไม่ได้ให้ในสิ่งที่เคยรับปากกับนายสันติเอาไว้
 และนายสันตินี่เอง คือตัวแปรคนสำคัญที่ทำให้แผนการโค่น บิ๊กตู่ ระหว่างศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจล่ม หลังคาบข่าวไปแจ้งให้นายกฯ รู้ตัวว่า อีกฝ่ายกำลังเดินเกมครั้งใหญ่ พร้อมกับระดม ส.ส.เข้าไปช่วย

ภายหลัง ร.อ.ธรรมนัสตกเป็นฝ่ายกบฏ รัฐมนตรีหลายคนที่ไม่พอใจบทบาทของ ร.อ.ธรรมนัส นางนฤมล และนายวิรัช ที่ผูกขาด พล.ประวิตร จนใครเข้าใกล้ไม่ได้ ต้องขยับไปยืนข้าง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อหวังคานอำนาจของมุ้ง 3 ช.

 ‘เสี่ยเฮ้ง’ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในวันที่ไม่มีนายวิรัชโอบอุ้ม โดดเดี่ยวและถูกเขย่าเก้าอี้บ่อยครั้งจากกลุ่ม 4 ช. หันไปจับมือกับ กลุ่มสามมิตร ที่นำโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ

 นายสันติ เมื่อแตกหักกับ ร.อ.ธรรมนัส และหันมาช่วย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ขยับเป็นสายตึกไทยคู่ฟ้าอีกคน เช่นเดียวกับนายชัยวุฒิ ครั้งหนึ่งเขาเคยสนิทกับนายวิรัชมากๆ เหมือนกับนายสุชาติ แต่ระหว่างศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เจ้าตัวต้องตกเป็นฝ่ายถูกกระทำจากน้ำมือคนคุ้นเคย ทำให้ค่อนข้างช้ำใจ แล้วหันขนาบข้างช่วย พล.อ.ประยุทธ์

ก่อนหน้านี้ทั้ง 6 คน แทบจะคนละสาย คนละทาง บางคนไม่ชอบหน้ากันด้วยซ้ำ แต่กลับมาแพ็กกัน ตามปรัชญา ศัตรูของศัตรูคือ มิตร

พวกเขามีศัตรูคนเดียวกัน และเมื่อ ร.อ.ธรรมนัสและนางนฤมลตกสวรรค์ ปฏิบัติการ 6 รัฐมนตรี โค่นทั้งสองคนจึงเกิดขึ้น ด้วยการถก 3 ป. เพื่อเขี่ย ร.อ.ธรรมนัส พ้นเลขาธิการพรรค

ทุกอย่างเหมือนจะสำเร็จ หากแต่นาทีสุดท้าย พล.อ.ประวิตรยังคงโอบอุ้ม ร.อ.ธรรมนัสต่อ

อย่างไรก็ตาม แม้แผนจะไม่สำเร็จ แต่หลายคนเชื่อว่า มันจะยังไม่จบ ตราบใดที่ ร.อ.ธรรมนัสยังมีบทบาท การสหรวมใจของ 6 รัฐมนตรี เพื่อโค่นกบฏยังเกิดขึ้นเนืองๆ เป็นระยะ
‘ปีเสือ’ จะเป็นอีกปีที่การเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐจะยังปะทุ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อเคลียร์ทุกอย่างให้พร้อมก่อนการเลือกตั้ง

 มันจะเป็นปีที่ต้องมีผู้แพ้-ผู้ชนะ ระหว่าง 6 รัฐมนตรี กับ ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล

และการรวมตัวของ 6 รัฐมนตรีก็ต้องจบลง หรือแยกย้ายเมื่อภารกิจสำเร็จ กลับไปสู่วิถีทางของแต่ละมุ้ง ซึ่งไม่แน่ว่า วันหนึ่งอาจจะต้องมารบกันเองก็ได้

เมื่อในพรรคพลังประชารัฐ เดินแบบไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร พร้อมจะเอาศัตรูของศัตรูเป็นมิตรเพื่อจำกัดอีกฝั่ง วันนี้รักกัน วันหน้าอาจห้ำหั่นกันก็เป็นได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่