ระเบิดศึกการเมือง “สมาชิกวุฒิสภาVSรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” กันในวันจันทร์ที่ 25 มีนาคมนี้แล้ว เพราะจะเป็นการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาญัตติให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153
โดยฝ่ายรัฐบาล เมื่อ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา นายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะมาฟังและชี้แจงประเด็นที่ สว.จะอภิปรายแน่นอน
ซึ่งการประชุมจะเริ่มด้วย เสรี สุวรรณภานนท์ สว.อาวุโส ซึ่งเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวเปิดอภิปรายครั้งนี้ จะเป็นผู้อ่านญัตติเพื่อเปิดฟลอร์การอภิปราย จากนั้น สว.ก็จะส่งไม้ต่อกันเป็นทอดๆ ทั้งนวด ทั้งหวด ไล่ถลุง รัฐบาลเศรษฐา กลางสภาฯ ร่วม 12 ชั่วโมง
กระนั้นคาดว่าบรรยากาศคงไม่ถึงกับร้อนแรง ซัดกันระอุ แบบการอภิปรายของฝ่ายค้าน เพราะ สว.ไม่ได้มีเวลาไปหาข้อมูลอะไรลึกมากนักแบบฝ่ายค้าน อีกทั้ง สว.ทั้งหมดล้วนเป็นผู้ใหญ่ ทำให้ลีลาการอภิปรายก็จะเป็นแบบรัดกุม ไม่หวือหวา เร้าอารมณ์
สำหรับการอภิปรายครั้งนี้ ญัตติที่กลุ่ม สว.ที่เข้าชื่อกันขอเปิดอภิปราย ได้แบ่งหัวข้อการอภิปรายเป็น 7 ประเด็นดังนี้
1.ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องประชาชน 2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย 3.ปัญหาด้านพลังงาน 4.ปัญหาด้านการศึกษาและสังคม 5.ปัญหาด้านการต่างประเทศและท่องเที่ยว 6.ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7.ปัญหาการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
แน่นอนว่า ไฮไลต์สำคัญที่หลายคนสนใจติดตามก็คือ สว.จะมีการอภิปรายเรื่อง "นักโทษเทวดา ทักษิณ ชินวัตร-เจ้าของพรรคเพื่อไทย-นายกรัฐมนตรีตัวจริง" หรือไม่?
ที่ก็ชัดเจนว่า งานนี้ สว. โดยเฉพาะ สว.ตัวตึง ที่ยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามทักษิณ-เพื่อไทยมาตลอด ไม่พลาดที่จะใช้เวทีการอภิปรายครั้งนี้ เปิดแผล-กะชวก พฤติการณ์ความพยายามของรัฐบาลในการใช้อำนาจรัฐ ช่วยเหลือทักษิณไม่ให้ต้องติดคุกจริงแม้แต่วันเดียวจนสำเร็จ โดยเป้าใหญ่ที่จะถูกอภิปรายก็คือ เศรษฐา นายกฯ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับผิดชอบ รพ.ตำรวจ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติ
ยิ่งการอภิปรายของ สว.จะไม่มีพวก สส.เพื่อไทย มาคอย ตัดเกม-ประท้วง ไม่ให้อภิปรายพาดพิงถึงทักษิณได้ก็ยิ่งจะสร้างความลำบากใจให้กับเศรษฐา-พ.ต.อ.ทวีพอสมควร ที่ไม่มีตัวช่วยเบรกเกม ทำให้เพื่อไทยอาจต้องให้รัฐมนตรีของพรรคคอยช่วยตัดเกมของ สว.กันเอง
เพราะเมื่อ สว.เขียนไว้ในญัตติ ในหัวข้อที่ 2 คือปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ระบุไว้ในข้อ 2.1 ว่า "ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ตามคำพิพากษาที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน" อีกทั้งในหัวข้อดังกล่าวยังเขียนอีกว่า มีการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยพวกพ้อง หาประโยชน์ส่วนตน สร้างมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว จึงทำให้ สว.ย่อมอ้างว่า เมื่อเขียนไว้ในญัตติแล้ว ย่อมอภิปรายเรื่องทักษิณได้
ซึ่งยังไม่ทันได้เริ่มอภิปราย รัฐมนตรีของเพื่อไทยอย่าง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์-มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ก็ออกมาตีกันแล้วว่า สว.ไม่ควรอภิปรายเรื่องของนายทักษิณ เพราะเป็นคนนอก ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เข้าทำนอง “นายข้าใครอย่าแตะ” ทำให้คาดว่า หาก สว.เริ่มอภิปรายพาดพิงถึงกรณีของทักษิณ อาจทำให้บรรยากาศการประชุมร้อนแรงตามมา
โดยมีรายงานว่า ในการอภิปรายแต่ละหัวข้อ ทางกลุ่ม สว.มีการแบ่งทีมกันอภิปราย โดยจะมีหัวหน้าทีมในการรวบรวมข้อมูลและกำหนดประเด็นการอภิปรายไว้ เช่น เรื่องกรณีนายทักษิณ ชินวัตร สว.ตัวหลักที่จะอภิปรายคือ สมชาย แสวงการ
ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ที่จะอยู่ในหัวข้อปัญหาพลังงาน การอภิปรายจะเท้าความไปถึงตั้งแต่เรื่องบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา หรือที่เรียกกันว่า MOU 44 ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เชื่อมโยงมาถึงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา จะมีท่าทีอย่างไรกับพื้นที่ทับซ้อนที่มีผลประโยชน์ร่วม 20 ล้านล้านบาท ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ การอภิปรายจะนำโดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ที่จับเรื่องนี้มาตลอด และได้ พลเรือเอกพัลลภ สมิตานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ เป็นตัวเสริม ขณะที่หัวข้อปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะนำทีมโดย ดิเรกฤทธิ์ เจนคลองธรรม เป็นต้น
รวมถึงจะมีอีกหลายประเด็นที่ สว.อภิปรายที่น่าสนใจ เช่น นโยบาย ส.ป.ก.โฉนดทองคำ ซึ่งทาง ประพันธ์ คูณมี-สว. จะอภิปรายด้วยข้อมูลว่า นโยบายการเปลี่ยน สปก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม จะสร้างปัญหาระยะยาว เพราะจะเปิดช่องทางและเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน-นักการเมือง เข้าไปครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ได้ในอนาคต ทำให้ที่ดินของรัฐเกือบ 22 ล้านไร่ทั่วประเทศ เสี่ยงกลายเป็นสมบัติส่วนบุคคล
และจบจากศึกอภิปรายสภาสูง สัปดาห์ถัดไป 3-4 เมษยายน เศรษฐาก็ต้องเตรียมรับมือกับการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติของฝ่ายค้าน ที่หนักหน่วงกว่าของ สว.หลายเท่า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี