ก้าวไกลเบรกเกมเร็ว ชิงดักทาง ผวาเร่งยุบพรรค

คดียุบ พรรคไทยรักษาชาติ ที่เป็นพรรคสาขาของเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เคยสร้างสถิติไว้ว่าเป็นคดียุบพรรคที่ใช้เวลาสั้นที่สุด คือแค่ 25 วัน นับจาก กกต.มีมติให้ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 13 ก.พ.2562 ต่อมาศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อ 7 มีนาคม 2562 และมาถึงปัจจุบัน หลายฝ่ายกำลังจับตาว่า แล้ว คดียุบพรรคก้าวไกล จะใช้เวลานานแค่ไหน หลังก่อนหน้านี้มีการออกมาคาดการณ์ว่าอาจใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือน นับจากวันที่ กกต.มีมติเมื่อ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เป็น หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในช่วงเกิดเหตุตามคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกล

อันเชื่อได้ว่า ประเด็นที่พิธากล่าวไว้ จะปรากฏเป็นส่วนหนึ่งใน

คำชี้แจงข้อกล่าวหา ของพรรคก้าวไกล

ที่จะยื่นต่อศาล รธน. หลัง กกต.ยื่นคำร้องต่อศาล รธน.และศาล รธน.มีมติรับคำร้อง และจากนั้นจะต้องส่งคำร้องของ กกต.ให้ฝ่ายพรรคก้าวไกลไปทำคำชี้แจงข้อกล่าวหากลับมาให้ศาล รธน.ภายใน 15 วัน และศาลจะส่งเอกสารดังกล่าวไปให้ กกต.อีกครั้ง

ซึ่งคำให้สัมภาษณ์ของพิธาก็คือ ประเด็นข้อต่อสู้ ที่พรรคก้าวไกลจะใช้ในการสู้คดียุบพรรคก้าวไกล

คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของพิธาที่คงเป็นความเห็นหลังใช้เวลาตั้งหลักไปพูดคุยกับฝ่ายกฎหมาย-แกนนำพรรคมาหลายวันหลังจาก กกต.มีมติเมื่อ 12 มี.ค. โดยนายพิธาระบุว่า

“มาตรา 49  ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม และมาตรา 92 อันหนึ่งเป็นมาตรฐานที่ไว้ใช้ป้องกัน อีกอันเป็นมาตรฐานที่ใช้ประหารพรรคการเมือง น้ำหนักมันคนละอนุมาตรากัน สมมุติแม้จะมีคำว่าล้มล้างเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าโทษจะได้สัดส่วนเหมือนกัน เราจะต้องมีดุลยพินิจว่ามาตราหนึ่งมีไว้แค่ตักเตือน บอกให้หยุดการกระทำ แต่อีกมาตราหนึ่งมีไว้เพื่อที่จะยุบพรรค และนำไปสู่การลิดรอนสิทธิทางการเมืองในการลงเลือกตั้งครั้งต่อไป เชื่อว่าศาลจะให้ความยุติธรรมและให้น้ำหนักมากกว่าเรื่องของมาตรา 49"

ท่าทีข้างต้นถอดความทางการเมือง พร้อมกับมุมมองเชิงวิเคราะห์ต่อสิ่งที่พิธาและแกนนำพรรคก้าวไกลบางคนเคยแสดงความเห็นไว้ก่อนหน้านี้

 บ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า พิธาและแกนนำพรรคก้าวไกลต้องการบอกว่า คำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีล้มล้างการปกครอง ที่ตัดสินเมื่อ 31 ม.ค.2567 เป็นการตัดสินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่เป็นเรื่องว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิ-เสรีภาพ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ หากผู้ใดทราบมีสิทธิร้องต่อศาล รธน.วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

อย่างที่พิธาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า มาตรา 49 คือการ ให้เลิกการกระทำ

ซึ่งหลังศาล รธน.มีคำวินิจฉัยว่า การเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลหลายอย่างก่อนหน้านี้ เช่น การเสนอแก้ไขมาตรา 112-การนำเรื่องการแก้ 112 ไปเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

พอศาลมีคำวินิจฉัย พรรคก้าวไกลก็ลบเรื่องนโยบายแก้ไข 112 ออกจากเว็บไซต์พรรคในวันรุ่งขึ้นทันที จึงถือว่าพรรคก้าวไกลเลิกการกระทำไปแล้ว อีกทั้ง หลังมีคำวินิจฉัยดังกล่าว สส.-แกนนำพรรคก้าวไกลก็ไม่มีใครออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 อีกเลย

ก้าวไกลจึงมองว่า คดีที่ร้องว่ามีการจะล้มล้างการปกครองมีเป้าหมายคือ

 “ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้บุคคลเลิกการกระทำ”

เท่านั้น เมื่อพวกเขาได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล รธน.แล้ว ก็ไม่สมควรที่จะโดนยุบพรรค

อีกทั้งไม่ควรจะนำผลคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองมาเป็น บทหลัก-แนวทาง ในการไต่สวนคดียุบพรรค

เพราะคดีล้มล้างยื่นตาม รธน.ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตาม รธน.มาตรา 49 ขณะที่คดียุบพรรค กกต.ยื่นตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 92

วิเคราะห์ได้ว่า พรรคก้าวไกล ต้องการบอกว่า เมื่อเป็นการยื่นคนละอนุมาตรากัน น้ำหนักในการไต่สวนคดี-ตัดสินคดี จึงต้องแตกต่างกัน จะเอาคำวินิจฉัยคดีล้มล้างฯ มาเป็นแนวในการไต่สวนคดียุบพรรคก้าวไกลไม่ได้

ท่าทีข้างต้น มองทางการเมืองได้ว่า เสมือนหนึ่งการรุกไล่ของพรรคก้าวไกล ที่ต้องการสื่อสารไปถึงศาล รธน.ว่า

 หลังศาล รธน.รับคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกลแล้ว ต้องนับหนึ่งกระบวนการไต่สวนคำร้องใหม่ตั้งแต่แรก โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้มีโอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่ อย่าตัดโอกาสการสู้คดีของก้าวไกล

 เช่น หลังศาล รธน.รับคำร้อง และศาลส่งเอกสารของ กกต.ให้พรรคก้าวไกล ก็ต้องให้เวลาพรรคก้าวไกลสู้คดีได้เต็มที่เหมือนคดีปกติ เช่น สามารถขอขยายเวลาในการส่งเอกสารคำชี้แจงข้อกล่าวหาเพิ่มได้อีก 15 วัน หลังครบกำหนด 15 วันในรอบแรก รวมเวลาแล้วก็เป็น 30 วัน ซึ่งหากเป็นแบบนี้ จะทำให้ก้าวไกลมีเวลาในการตั้งหลักสู้คดี

รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้สิทธิ์ในการชี้แจงข้อกล่าวหาผ่านกระบวนการ เปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี ด้วยการเรียกตัวแทนของพรรคก้าวไกลขึ้นให้ถ้อยคำต่อศาล รธน. ซึ่งหากมีการเปิดห้องไต่สวน ก็จะทำให้จะใช้เวลาอีกร่วม 1 เดือน ในการไต่สวนคดี

ซึ่งแค่ 2 ขั้นตอน คือ ขยายเวลาส่งคำชี้แจงข้อกล่าวหาได้เต็มที่-มีการเปิดห้องไต่สวนคดี หากพรรคก้าวไกลได้โอกาสดังกล่าว ก็กินเวลาร่วม 2 เดือนเป็นอย่างต่ำ

ยังไม่นับรวมกระบวนการที่ต้องให้ กกต.ในฐานะผู้ร้อง ยื่นเอกสารโต้แย้งคำชี้แจงข้อกล่าวหาของพรรคก้าวไกล ส่งกลับมาศาล รธน.อีก ที่หาก กกต.ไม่ขยายเวลา อย่างน้อยก็ 15 วัน แต่หากขยายก็จะเป็น 30 วัน

แล้วยังมีขั้นตอนที่ตุลาการศาล รธน.ต้องกลับไปประชุมพิจารณาสำนวนทั้งหมด ก่อนนัดวันลงมติและอ่านคำวินิจฉัยอีก ที่ก็คาดว่าจะใช้เวลาเร็วสุดก็ 2 สัปดาห์ ช้าสุดอาจ 1 เดือน

โดยหากศาลให้เวลาพรรคก้าวไกลสู้คดีเต็มที่ ก็จะทำให้ แกนนำพรรค-สส.ของพรรคมีเวลาตั้งหลักสำหรับการวางแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากก้าวไกลไม่รอด โดนยุบพรรคและกรรมการบริหารพรรค 10 คน โดนตัดสิทธิ์การลงสมัครรับเลือกตั้ง

 ส่วนที่ว่า ตุลาการศาล รธน.จะมีท่าทีอย่างไรกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลออกมาดักทางไม่ให้ศาล รธน.เร่งพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลเร็วเกินไป ต้องรอดูหลังจากนี้ เมื่อศาล รธน.รับคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกลไว้วินิจฉัย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

'วิโรจน์' บอก 7 ส.ค. ผลออกมา ต้องมีคำอธิบายที่ปชช.เข้าใจได้

'วิโรจน์' บอกตามตรง 7 ส.ค. ก็แค่วันปกติ ยัน ไม่ตื่นตระหนก แต่ไม่ประมาท 'คดียุบก้าวไกล' หากผลเป็นลบ ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ภายใต้กรอบนิติรัฐ-นิติธรรม