นับถอยหลังยุบ”ก้าวไกล” งัดพรรคสำรอง-จัดทัพใหม่สู้

สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้หลัง”คณะกรรมการการเลือกตั้ง”(กกต.)มีมติเอกฉันท์ให้ส่งคำร้องให้”ศาลรัฐธรรมนูญ”ให้มีคำสั่ง”ยุบพรรคก้าวไกล”ที่เป็นการยื่นตามช่องทางพรบ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ที่คาดกันว่า กกต.น่าจะส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญ ภายในอนาคตอันใกล้นี้ และเมื่อยื่นไปแล้ว ศาลรธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัยแน่นอน

ดังนั้นสิ่งที่ต้องติดตามหลังกระบวนการพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล ดำเนินไป หลักๆ จะมีเช่น

1.การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

ที่ต้องดูว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้หลักพิจารณาคำร้องคดีดังกล่าวอย่างไร เพราะคำร้องของกกต.คดีนี้ เกิดจากจุดสำคัญคือคำวินิจฉัยของศาลรธน.ในคดี”ล้มล้างการปกครอง”ที่ศาลรธน.ชี้ว่า พฤติการณ์หลายอย่าง ของส.ส.พรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ

 เช่นการเสนอแก้ไขมาตรา 112 , การใช้ตำแหน่งส.ส.ไปยื่นขอประกันตัว แกนนำม็อบสามนิ้วที่โดนดำเนินคดี 112 ,การนำเรื่องแก้ 112 ไปเป็นนโยบายที่หาเสียงเลือกตั้ง

ศาลรธน.จึงเห็นว่า พฤติการณ์ของส.ส.-พรรคก้าวไกล ดังกล่าว เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ

ดังนั้น ต้องจับตาว่า ตุลาการศาลรธน. จะให้”นับหนึ่งใหม่คำร้องคดียุบพรรคก้าวไกล”เพราะถือว่า คำร้องนี้คือเรื่องการยุบพรรค ที่ต้องทำตามกระบวนการพิจารณาไต่สวนคำร้องใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่แรก คือหลังกกต.ยื่นคำร้อง ก็ให้พรรคก้าวไกลในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และพยานหลักฐานต่างๆ สู้คดี จากนั้น หากศาลรธน.เห็นว่าจำเป็นต้องเปิดห้องพิจารณาคดี ก็จะเรียกทั้งกกต.-ตัวแทนพรรคก้าวไกลมาชี้แจง สู้คดีกันไป แล้วก็นัดฟังผลคำวินิจฉัย

หากศาลรธน.วางหลักไว้แบบนี้ การพิจารณาคดีของศาลรธน.ก็อาจใช้เวลาพอสมควร อาจจะหลายเดือน ถึงจะนัดฟังคำวินิจฉัย

 แต่หากศาลรธน.เห็นว่า สามารถใช้แนวคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ มาต่อยอด ในการวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลได้ ไม่ต้องเปิดห้องไต่สวน ถ้าแบบนี้ คดีก็จบเร็ว คาดว่าไม่เกิน3-4 เดือน หลังรับคำร้อง ก็น่าจะได้ข้อยุติ นัดฟังคำวินิจฉัยคดีได้

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคก้าวไกล มีส.ส.ในสภาฯมากสุด ได้รับเลือกมา 14 ล้านเสียง เป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ก็อาจเป็นแรงกดดันสำหรับศาลรธน.ไม่มากก็น้อย

ดังนั้น หากจะมีการยุบพรรคก้าวไกล ถ้ากระบวนการเดินไปแบบรวดเร็วมากเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้ พรรคก้าวไกลสู้คดีได้เต็มที่  อาจทำให้ ศาลรธน.ตกเป็นเป้าได้ว่ามี”ธงยุบพรรค”ตั้งไว้แต่แรกแล้ว ทั้งที่คำร้องคดียุบพรรคกับคำร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ เป็นคนละคำร้องกัน คำร้องคดียุบพรรคก้าวไกล ควรต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ จุดนี้ ก็อาจทำให้ ศาลรธน.ใช้เวลาพอสมควรในการวินิจฉัยคำร้อง

2 การตั้งรับของพรรคก้าวไกล

ที่นอกจากจะเตรียมทีมฝ่ายกฎหมาย และประเด็นข้อต่อสู้เพื่อสู้คดีในชั้นศาลรธน.แล้ว พรรคก้าวไกล ต้องเตรียมการอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะ”แผนสำรอง”ต่างๆ

เช่น การหาพรรคสำรองสำหรับรองรับหากเกิดกรณีโดนยุบพรรค ซึ่งเรื่องนี้ทำได้ไม่ยาก พรรคก้าวไกลมีประสบการณ์มาแล้ว วิธีการง่ายๆ คือ”เซ้งหัวพรรค”ที่จดแจ้งกับสำนักงานกกต.ไว้ แล้วมาเปลี่ยนชื่อพรรค-โลโก้พรรคให้สอดคล้องกับตัวตนของก้าวไกล-อนาคตใหม่ ภายใต้แบนด์”พรรคส้ม

ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกล ก็ต้องคิดกันว่า ในช่วงก่อนจะถึงวันอ่านคำตัดสินคดียุบพรรค จะให้ กรรมการบริหารพรรค ที่เป็นส.ส.ที่มีด้วยกัน 6 คน ลาออกจากส.ส.ก่อนหรือไม่

เพื่อที่ว่า หากพรรคโดนยุบพรรค จะได้ไม่เสียที่นั่งในสภาฯ ไป 6 เก้าอี้ หลังเคยมีบทเรียนมาแล้วกับกรณี พรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรค โดยตอนนั้นกรรมการบริหารพรรคไม่ลาออก ทำให้ อนาคตใหม่เก้าอี้ส.ส.หายไปร่วม 12 คน แต่หากแกนนำพรรคก้าวไกล มั่นใจว่าสู้คดีได้ และไม่อยากเสี่ยง เพราะหากรอดคดียุบพรรค คนที่ลาออกจากส.ส.ไป  ล้วนแต่เป็นแกนนำพรรคทั้งสิ้น

เพราะกรรมการบริหารพรรค จากผลประชุมใหญ่พรรคเมื่อ 14 มี.ค.2563 ที่เป็นการประชุมหลัง พรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรค และมีการย้ายส.ส.มาที่ พรรคก้าวไกล

วันดังกล่าว มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ผลการประชุมออกมาดังนี้ กรรมการบริหาร 10 คน ได้แก่ 1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล 2.ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค 3.นางสาวณธีภัสร์  กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 4.ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค

ส่วนกรรมการบริหารพรรค ประกอบด้วย  5.ปดิพัทธ์ สันติภาดา (ลาออกจากไปอยู่พรรคเป็นธรรม)    6.สมชาย ฝั่งชลจิตร  7. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล  8.นางสาวเบญจา แสงจันทร์ 9.นายอภิชาติ ศิริสุนทร 10.สุเทพ อู่อ้น

ซึ่ง 6 คนที่เป็นส.ส.ปัจจุบัน  ก็คือ พิธา –ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค,, สมชาย ฝั่งชลจิตร ,อภิชาต ศิริสุนทร ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรค ,เบญจา แสงจันทร์, สุเทพ อู่อ้น

อย่างไรก็ตาม วันดังกล่าว นายพิธาและนายชัยธวัช ยังได้เสนอตั้งรองหัวหน้าพรรค-รองเลขาธิการพรรคเพิ่มเติมด้วย เช่น พล.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาท-ณัฐวุฒิ บัวประทุม-ศิริกัญญา ตันสกุล -ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล

ทว่า “ข้อบังคับพรรคก้าวไกล”ข้อที่ 20 ระบุตำแหน่ง”คณะกรรมการบริหารพรรค”ไว้ โดยไม่มีตำแหน่ง “รองหัวหน้าพรรค-รองเลขาธิการพรรค-โฆษกพรรค”ดังนั้น พวกแกนนำพรรคอย่าง ศิริกัญญา -ณัฐวุฒิ-ปกรณ์วุฒิ-รังสิมันต์ โรม-วิโรจน์  จึงไม่ถือเป็นกรรมการบริหารพรรค ทำให้ หากก้าวไกลไม่รอดจากคดียุบพรรค แต่รายชื่อข้างต้นจะรอด 

ทั้งนี้ การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ในคดียุบพรรค จะตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่เกิดเหตุตามคำร้อง ที่ตามคำร้องก็คือ กรรมการบริหารพรรคในช่วงพรรคก้าวไกล พรรคเสนอแก้ไข 112 ,ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน แต่อย่างใด

นอกจากนี้ จากสถานการณ์ที่ก้าวไกล เสี่ยงโดนยุบพรรค ทำให้ แกนนำพรรคก้าวไกล และกลุ่มคณะก้าวหน้า ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องวางแผนเตรียมส่งไม้ต่อให้”แถวสาม”ขึ้นมานำทัพพรรค ต่อจากยุค ธนาธร-ปิยบุตรที่เป็นแถวหนึ่ง และพิธา-ชัยธวัช แถวสอง โดยแถวสาม ก็คาดว่าจะนำโดย ศิริกัญญา ตันสกุล  , รังสิมันต์ โรม,พริษฐ์ วัชรสินธุ,ศุภณัฐ มีนชัยนันท์, ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์,ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร เป็นต้น

ส่วนเรื่องว่า หากก้าวไกลโดนยุบพรรค แล้ว พรรคจะแตก จะมีงูเห่าสีส้ม หรือโดนซื้อตัว แบบตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือไม่?

ต้องบอกว่า บริบทแตกต่างกันมาก เพราะตอนนั้น พรรคร่วมรัฐบาลสมัยพลเอกประยุทธ์ เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จึงมีการดึงตัวอดีตส.ส.อนาคตใหม่ให้ไปอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง

ทว่าสถานการณ์ตอนนี้ รัฐบาลเพื่อไทย มีร่วม 320 เสียง อีกทั้ง ก็พบแล้วว่า พวกอดีตส.ส.อนาคตใหม่-ก้าวไกลที่ย้ายพรรคไป โดยเฉพาะพวกลงสมัครส.ส.เขต “สอบตกหมด”เพราะที่เข้ามาเป็นส.ส.ได้เพราะกระแสพรรค พอเปลี่ยนพรรค ก็สอบตก

 ดังนั้น ถึงก้าวไกลโดนยุบพรรค ก็ยากที่จะเห็นปรากฏการณ์ งูเห่าสีส้ม โดนซื้อตัวกันหลายสิบล้านบาท เพราะย้ายพรรคไปก็สอบตกสูง

 ยกเว้นพวกคิดจะเป็นส.ส.สมัยเดียว หวังเงินก้อนโต และพร้อมเสี่ยง จะสอบตก ถ้าคิดแบบนี้ก็อาจจะมีที่ไปอยู่กับพรรคใหม่  แต่ราคา ที่จะซื้อขายกัน จะไม่สูงมาก เพราะพรรคที่จะมาซื้อตัวไป ก็ไม่รู้จะซื้อเพื่ออะไร เพราะไม่ได้ทำให้ ได้โควตารัฐมนตรีเพิ่ม- เสียเงินซื้อตัว โดยรู้ดีว่า เอามา ส่งลงเลือกตั้งรอบหน้า ก็สอบตก

 ทำให้ แม้ก้าวไกล โดนยุบพรรค การซื้อตัวส.ส.ก้าวไกล จากพรรคอื่น ไม่น่าจะมี และถึงหากมี ก็ราคาไม่สูงมาก เว้นแต่พวก ไม่อยากอยู่กับก้าวไกลจริงๆ แล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วิบากกรรมของพรรคก้าวไกล ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะยังมีดาบสองรออีกนั่นก็คือ กรณีคนไปยื่นให้ ป.ป.ช.เอาผิด 44 ส.ส.ก้าวไกลสมัยที่แล้ว เสนอแก้ 112 ว่าเป็นการทำผิดประมวลจริยธรรมฯ

ดาบนี้ หาก44 ก้าวไกลไม่รอด ผลสะเทือนสูงเช่นกัน เพราะหากไม่รอด แกนนำก้าวไกลบางคนเช่น พิธา ที่ร่วมลงชื่อด้วย อาจถึงขั้น โดนตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต!!!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

'หัวหน้าเท้ง' มั่นใจสู้คดี 44 สส. ยื่นแก้ ม.112 แต่หากถูกตัดสิทธิยังมีดาวเด่นอีกหลายคน

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีจริยธรรมของ 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล ว่า ทีมกฎหมายได้เตรียมการไว้อย่างดี และตนยังอยากให้ทุกคนกลับมาย้อนคิดอีกครั้ง อยากให้ทุกคนย้อนกลับมาคิดอีกครั้งว่าที่มาที่ไปของปัญหานี้เกิดจาก ก

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี