ฝ่าเสียงวิจารณ์ 6 เดือนรัฐบาล ให้ 'ผลงาน' เป็นเครื่องพิสูจน์

อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศอีกครั้ง สำหรับ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ตอนนี้กำลังพาซอฟต์พาวเวอร์ผ้าขาวม้า และกระเป๋ากระจูดของไทย โกอินเตอร์ไปโชว์ไกลถึงยุโรป

จากการใส่เป็นผ้าพันคอระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2567 ณ นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย

และเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ และกิจกรรมคู่ขนาน ณ กรุงปารีส และเมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ก่อนปิดท้ายเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 7-13 มีนาคม 2567

ทั้งนี้ ถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศตั้งแต่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่รวมแล้ว 14 ประเทศ

และด้วยความที่ชีพจรลงเท้า นายกฯ นิด ที่ทำงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตามที่เจ้าตัวเคยพูดไว้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ทั้งการลงพื้นที่ต่างจังหวัดรับฟังปัญหาประชาชน และติดตามโครงการต่างๆ ซึ่งในบางจังหวัดก็ไปซ้ำๆ เพื่อกำชับติดตามแก้ไขปัญหา หวังให้เห็นผลเป็นรูปธรรมให้ได้ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศได้ครึ่งปี นายเศรษฐาไปมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นมลพิษติดอันดับโลก

รวมถึงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การดึงนักลงทุนมาไทยให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลด้านการฟื้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของไทย ทำให้นายเศรษฐาเดินสายไปต่างประเทศแบบถี่ยิบไม่หยุดเช่นกัน ซึ่งระหว่างนี้เองที่ นายกฯ เศรษฐา ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ยุโรป ก็ได้มีเสียงวิจารณ์เกิดขึ้น ว่า ผ่านมากว่า 6 เดือน ไร้ผลงานที่เป็นรูปธรรม

“ยุ่งทั้งวัน บินทั้งวัน แต่ไม่มีผลงาน” ถึง “ดังแต่ท่อ ล้อไม่หมุน” ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบการทำงานของนายเศรษฐา ที่ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ยกขึ้นมา พร้อมระบุช่วงหนึ่งว่า

“เข้าใจวิธีการทำงานของคุณเศรษฐา เพราะเคยประกาศว่า จะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จึงจำเป็นต้องออกแอคชัน มีการเคลื่อนไหวให้สังคมเห็นว่าเป็นคนทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจริงๆ ส่วนตัวยอมรับว่านายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ขยัน แต่ความขยันนั้นไม่ได้หมายความว่า จะประสบความสำเร็จในการทำงานได้ ต้องขยันแล้วทำสำเร็จด้วย เพราะคนประเภทโง่แล้วขยัน ขงจื้อบอกว่าเป็นพวกที่อันตรายที่สุด”  

นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างการทำงานด้านต่างๆ ในช่วงครึ่งปีของรัฐบาล ที่พยายามตีปี๊บหลายอย่าง แต่เหมือนจะไปไม่สุดสักผลงาน เช่น สินค้าการเกษตร ราคายางพารา ที่ยังปรับได้ไม่สูงพอเมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อนๆ และยังมีการตั้งคำถามด้วยว่า การไปต่างประเทศบ่อยๆ ของนายเศรษฐาได้อะไรกลับมาให้ประเทศบ้าง?

ที่ถึงแม้จะมีลิ่วล้อจากพรรคเพื่อไทยออกมาปกป้องพยายามเปิดผลงานรัฐบาลให้เห็นว่าผลิดอกออกผลทั้งที่เข้ามาบริหารประเทศเพียงไม่นาน เช่น นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่เดินหน้าทำทันที ภายใน 3 เดือนแรกหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปี ทั้งอ้อย ราคาปรับขึ้นมาเป็นตันละ 1,700-1,850 บาท จากเดิมตันละ 850-950 บาท ยางพารากิโลกรัมละ 75 บาท จากเดิม 3 กิโลกรัม 100 บาท รวมถึงมันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว ราคาก็พุ่งสูงมาก

ส่วนการเดินทางไปราชการต่างประเทศของนายกฯ เพื่อไทย ยืนยันมีเป้าหมายที่จะประกาศว่าประเทศไทยพร้อมเปิดรับการลงทุนเต็มที่ จนในที่สุดงานที่นายกฯ มุ่งมั่นตั้งใจทำตั้งแต่วันแรกก็ทยอยสร้างผลลัพธ์ เฉพาะช่วงต้นปีนี้มีตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งบอร์ดบีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ 4 โครงการในประเทศไทย มูลค่ารวม 29,702 ล้านบาท เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม จากเสียงวิจารณ์และหลายๆ คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ที่นำมาสู่การขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อซักถามการทำงานของรัฐบาลที่จะมีเรื่องของผลงานด้วย คาดว่าจะอยู่ในช่วงวันที่ 3-5 เมษายนนี้

โดย นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภา ได้เตรียมรวบรวมความคิดเห็น ข้อมูลที่แต่ละพรรคทำการบ้านมาบ้างแล้วว่ามีประเด็นใดจะอภิปรายบ้าง ซึ่งโดยสรุปเห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารเป็นเวลาประมาณเกือบครึ่งปีแล้ว แต่พบว่าไม่ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และเพิกเฉยต่อคำแถลงนโยบายของตนเอง ไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายและการแก้ปัญหาของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน นายเศรษฐา เองได้ยินเสียงวิจารณ์นี้แล้ว ก็พร้อมให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ โดยเจ้าตัวยืนยันว่า “พร้อมชี้แจงทุกเรื่อง และรัฐมนตรีทุกคนก็พร้อมที่จะชี้แจงเช่นกัน ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลพยายามเร่งทำงานทุกอย่าง และกลางเดือนมีนาคมนี้จะมีการแถลงว่า การที่รัฐบาลเดินทางมาต่างประเทศมีผลงานอย่างไรบ้าง รวมไปถึงการลงทุนของแต่ละบริษัทไปถึงขั้นตอนใดแล้ว ประชาชนจะได้สบายใจ ขณะเดียวกันก็จะได้วางแผนการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย”

ส่วนที่ฝ่ายการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ แต่ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม นายกฯ นิดมองเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง ผลงานรัฐบาลมีหรือไม่ ขอให้ประชาชนตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม หลังแถลงผลงาน 6 เดือนรัฐบาลแล้ว หลังจากนั้นนายเศรษฐามีคิวเดินสายต่อเนื่องลงพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 15-19 มีนาคม 2567

ส่วนการตั้งโต๊ะตีปี๊บผลงาน 6 เดือนรัฐบาลในครั้งนี้ จะออกมาเป็นที่พอใจ ชัดเจนทุกประเด็นตามที่หลายฝ่ายตั้งคำถามหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คดีฉ้อโกงพุ่งรายวัน จนท.รัฐอืด! เปิดหลุมเหลือบเรียกรับผลประโยชน์

หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลคือ “เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์รับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว

ปักหมุด‘ครม.สัญจร’เชียงใหม่ กู้ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวหลังภัยพิบัติ

ประเดิมนัดแรก “ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่” หรือ “ครม.สัญจร” ของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร

ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49