จับตาก้าวไกลชก(ไม่)เต็มหมัด ชำแหละรบ.เศรษฐาผ่านศึกซักฟอก

ในที่สุด พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคใหม่ ได้หารือเห็นพ้องร่วมกันสัปดาห์หน้า จะยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

ถึงแม้การอภิปรายครั้งนี้จะเป็นในรูปแบบให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะ ให้คำแนะนำ เป็นการอภิปรายแบบไม่ลงมติได้เท่านั้น แต่สำหรับภาคการเมืองให้ความสำคัญไม่น้อย ทั้ง ฝ่ายอภิปรายและฝ่ายที่จะโดนอภิปราย

เบื้องต้นพรรคร่วมฝ่ายค้านขอเวลาการอภิปราย 3-4-5 เม.ย. แต่ยังไม่แน่ชัด จะได้อภิปรายถึง 3 วัน 3 คืนหรือไม่ เพราะยังต้องหารือร่วมกันระหว่างวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน วิป ครม. เรื่องจำนวนชั่วโมงของแต่ละฝ่ายที่จะได้ รวมถึง จำนวนวันอภิปราย

เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในสมัยประชุมนี้ ก่อนที่จะ ปิดสมัยการประชุมสภา วันที่ 9 เม.ย. ดูตามไทม์ไลน์ ห้วงเวลา เป็นการทิ้งทวนของฝ่ายค้านก่อนปิดสมัยประชุม

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า

 ‘ประเด็นที่ฝ่ายค้านจะนำมาอภิปราย แต่ละพรรคได้ทำการบ้านมาบ้างแล้ว หลังจากรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินมากว่า 6 เดือน แต่ไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ซ้ำยังเพิกเฉยต่อนโยบายที่เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา ไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ปล่อยปละละเลยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้งคนไทยและต่างประเทศเอารัดเอาเปรียบประชาชน ปล่อยให้ข้าราชการเรียกรับผลประโยชน์ รีดนาทาเร้นประชาชน

หลักนิติธรรมถูกทำลาย โดยการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม บริหารประเทศอย่างไร้จริยธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถ ไร้วุฒิภาวะ"

ชัยธวัช ยังย้ำอย่างหนักแน่น งานนี้ไม่มีเกี้ยเซียะรัฐบาลแน่นอน

ฟากฝั่ง สส.ประชาธิปัตย์ โดย สส.บางคนออกมาโหมโรง โฟกัสไปยังกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ มุมมองเกี่ยวกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม กรณีการออกระเบียบต่างๆ นำมาสู่การถูกคุมขังนอกเรือนจำ นำมาสู่การพักโทษ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่จะมีการอภิปรายอย่างแน่นอน

ประเด็นอภิปรายของฝ่ายค้านที่ทำกันมาทุกยุคทุกสมัยคงจะครอบคลุมทุกเรื่อง มิติการเมือง มุมมองเศรษฐกิจ ที่คงหนีไม่พ้นการที่รัฐบาลยังให้คำตอบไม่ชัดเจนต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ยังไม่รู้ว่าประชาชนที่เฝ้ารอโครงการจะได้ใช้เมื่อใด โดยรัฐบาลยังมีทีท่ายื้อเวลา ให้คำตอบที่ชัดเจน วันดีเดย์ประชาชนจะได้ใช้เงินหมื่นไม่ได้

เช่นเดียวกับปมนักท่องเที่ยวต่างชาติทำร้ายแพทย์หญิงชาวไทยที่ภูเก็ต เรื่องราวลุกลาม ไม่ใช่แค่คดีทำร้ายทั่วไป แต่ลามไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ การออกเอกสารให้สร้างบ้านพักบนพื้นที่สาธารณะ การเข้ามาประกอบอาชีพของชาวต่างชาติ การปล่อยปละละเลยของหน่วยงานต่างๆ มีอะไรซ่อนเร้นหรือไม่ คงจะเป็นอีกมุมหนึ่งที่จะถูกโยงมาถึงในเวทีอภิปรายได้เหมือนกัน

บางมุมมองมีการมองกันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนการยื่นอภิปราย เสียงแตก ยื่น-ไม่ยื่น เนื่องจากเวลาใกล้ปิดสมัยประชุมงวดเข้ามา ดูตามตารางงานช่วง 1-2 สัปดาห์สุดท้าย อาจทำให้น้ำหนักความน่าสนใจลดน้อยลง

 25 มี.ค. สว.อภิปรายรัฐบาล และต่อด้วยการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2567 วาระ 2-3 แล้วก็มาจบลงที่การอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คาดว่าอยู่ในช่วงเวลา 3-5 เม.ย.

หนึ่งในความคิดกลุ่มที่ไม่อยากให้อภิปราย กลัวว่าจะเสียของ เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งบริหารประเทศมา 6 เดือน และ งบประมาณตามวงรอบปกติยังไม่มีการเบิกจ่ายมาใช้ ดังนั้นเป้าใหญ่ที่โฟกัสความบกพร่องทางการบริหารราชการแผ่นดิน อันอาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน จึงยังไม่ปรากฏอย่างเด่นชัด จึงน่าจะเก็บรวมรวมข้อมูล หลักฐาน ใบเสร็จรอ เช็กบิลทีเดียว ในการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 แบบลงมติไปเลยดีกว่า

ทว่า ในอีกมุมมองหนึ่งกลับมองว่า ระยะหลังพรรคก้าวไกลถูกตั้งคำถามอย่างหนัก การทำหน้าที่ฝ่ายค้านชกได้เต็มหมัด ตรวจสอบรัฐบาลเพื่อไทยจริงจังหรือไม่ เชื่อมโยงไปถึงข้อกล่าวหา ดีลบางอย่างกับผู้มีอำนาจตัวจริงในเพื่อไทยยังหวังร่วมรัฐบาลในอนาคต เลยไม่กล้าเดินหน้าตรวจสอบเต็มที่ โดยกรณีที่เห็นเด่นชัดสุดคือ ปมการพักโทษ ทักษิณ ชินวัตร

ก้าวไกลไม่อยากตกอยู่ในข้อครหา เลยต้องสวมบทนักตรวจสอบ รวบรวมเสียงเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะเป็นแบบไม่ลงมติ แต่ก็น่าจะทำให้ กองเชียร์สีส้มหายคลางแคลงใจ

ไม่ว่าอย่างไร ปมประเด็นที่สังคมยังจับจ้อง ปมข้อพิพาท ที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา วิวาทะตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี ไปถึงข้าราชการระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ส.ป.ก.นครราชสีมา กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ

จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นนำไปสู่การฟ้องร้อง ที่อาจต้องไปจบในชั้นศาล ไม่มีฝ่ายไหนยอมถอย กับกรณีพื้นที่ ส.ป.ก.โคราช ก็พอได้เห็นร่องรอย เจตนาบางอย่าง การเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์การมอบ ส.ป.ก.ให้เกษตรกรได้ทำกิน ได้ใช้ประโยชน์ ไปเป็นการเปิดช่องให้บางกลุ่มบางฝ่ายเข้ามาแสวงหาประโยชน์ มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เกี่ยวพันไปถึงใครอย่างไรหรือไม่

เป็นอีกมุมหนึ่ง สังคมหวังว่าก้าวไกล รวมไปถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้แสดงฝีมือ นำใบเสร็จหลักฐานแห่งการเชื่อมโยงมาชำแหละให้เห็นกลางเวทีสภาผ่านการซักฟอกที่งวดใกล้เข้ามา ที่เรื่องนี้ค่อนข้างประจักษ์ชัด แม้การอภิปรายครั้งนี้จะไม่ทำให้รัฐมนตรีต้องตกเก้าอี้

แต่ก็คงจะส่งผลสะเทือนขนาดใหญ่ไปถึง รัฐบาลเศรษฐา ในวันที่ถูกตั้งคำถามต่อการบริหารราชการแผ่นดินดังมากขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมกับลบข้อครหา ซูเอี๋ย-เกี้ยเซียะ ชกไม่เต็มหมัด ของก้าวไกลได้เหมือนกัน!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'จุรินทร์' ยึดหลัก 4 ข้อ โหวตแก้รธน. เชื่อ สว. ลงมติมีเหตุผลอยู่แล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภา จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1