ยิ่งลักษณ์กำชัยสองคดีติด อาจลุ้นถวายฎีกาปีมหามงคล

แม้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโจทก์ในคดียื่นฟ้องเอาผิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกับพวก ในคดี งบอีเวนต์-ประชาสัมพันธ์โครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 จะสามารถใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คดี

หลัง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยกฟ้อง ในคดีดังกล่าว เพราะรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่เขียนไว้ในมาตรา 60 ว่า คําพิพากษาของศาลให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวัน

แต่ที่ผ่านมาทุกคดีที่เกิดขึ้นจากการตัดสินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ จะพบว่า การอุทธรณ์คดี เพื่อหวังพลิกคำพิพากษา เอาเฉพาะแค่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560

พบว่า ยังไม่เคยมีแม้แต่คดีเดียว ที่ผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ดําเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาจํานวน 9 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน โดยให้เลือกเป็นรายคดี มีการพลิกคำตัดสินแตกต่างไปจากเดิม หรือพูดง่ายๆ คดีพลิก หรือตัดสินคดีที่แตกต่างไปจากเดิม แม้แต่คดีเดียว

ยิ่งคดียิ่งลักษณ์ดังกล่าว องค์คณะฯ 9 คน ที่เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยทุกคนเป็นผู้พิพากษาศาลสูง-ศาลฎีกา ทั้งสิ้น มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 แบบนี้ ดังนั้นถึงต่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์คดีไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าสู้จนถึงที่สุด แต่มองในความเป็นจริง มันก็ยากมากที่คดีจะพลิก ด้วยการที่องค์คณะของศาลฎีกาฯ ซึ่งถูกเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ จะมา พลิกคำตัดสิน ด้วยการตัดสินว่า

ยิ่งลักษณ์และพวกที่เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวมีความผิด

เบื้องต้นจึงย่อมถือได้ว่า คดีงบจัดอีเวนต์ดังกล่าวจบแล้วโดยปริยาย แม้ต่อให้ ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ก็ตาม

แต่ระหว่างนี้ ถือว่ากระบวนการทางคดียังไม่จบ ต้องรอไปอีก 30 วันเพื่อดูว่า ป.ป.ช.จะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ โดยหาก ป.ป.ช.ไม่ยื่นอุทธรณ์คดี ก็ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว เท่ากับชนักติดหลัง-คดีความของยิ่งลักษณ์ที่ตกเป็นจำเลยที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ก็หมดไปอีกหนึ่งคดี

หลังก่อนหน้านี้เมื่อ 26 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ก็เพิ่งกำชัยชนะในคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องเอาผิดยิ่งลักษณ์ ในคดีย้ายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากเลขาธิการ สมช. ที่ศาลฎีกาฯ มีคำตัดสิน ยกฟ้องยิ่งลักษณ์ เช่นกัน จึงทำให้ยิ่งลักษณ์ชนะ 2 คดีติดในเวลาไล่เลี่ยกัน

ส่วนอัยการสูงสุดที่เป็นผู้ฟ้องคดีย้ายถวิลต่อศาลฎีกาฯ จะใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมศาลฎีกาฯ หรือไม่ พบว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีข่าวยืนยันอย่างเป็นทางการว่า นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ยื่นอุทธรณ์หรือไม่

กระนั้นมีรายงานว่า ได้มีการใช้สิทธิ์ยื่นขอขยายเวลาออกไป จากเดิมที่ต้องครบในช่วง 26 ม.ค.2567 หลังก่อนหน้านี้ ตอนช่วงจะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ 30 วัน ถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา ได้มีการส่งหนังสืออย่างเป็นทางการในนามส่วนตัว รวมถึงเปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์คดี เพื่อสู้ให้ถึงที่สุด 

แต่ก็อย่างที่บอกข้างต้น ถึงต่อให้อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์คดีไป โอกาสที่คดีจะพลิก คือศาลฎีกาฯ พลิกคำตัดสินว่ายิ่งลักษณ์มีความผิดในการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี มันก็ยาก เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีแม้แต่คดีเดียว ที่มีการพลิกคำตัดสินเดิม

เมื่อเป็นแบบนี้จึงถือว่าคดีความของยิ่งลักษณ์ในชั้นศาลฎีกาฯ ในเชิงเรื่องผลทางคดีแพ้-ชนะ ต้องถือว่า End game-จบหมดแล้ว เหลือแค่รอเวลาให้ครบตามกำหนดในเรื่องขั้นตอนการอุทธรณ์เท่านั้น ที่ก็อีกไม่นาน

 เช่น รอว่า ป.ป.ช.จะยื่นอุทธรณ์คดีงบอีเวนต์หรือไม่ โดยหากยื่น ก็ต้องรอผลการพิจารณาขององค์คณะฯ ที่คาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะ ก็คงรู้ว่าผลการอุทธรณ์ออกมาเป็นอย่างไร แต่หาก ป.ป.ช.ไม่ยื่น ก็จบทันที

และเมื่อกระบวนการทุกอย่างในคดี ย้ายถวิล เปลี่ยนศรี-คดีงบอีเวนต์ จบหมดแล้ว ก็เหลือ คดีจำนำข้าว ที่ยิ่งลักษณ์ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก 5 ปี จนทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องหนีคดีอยู่ต่างประเทศหลายปี ที่ยังเป็นชนักติดหลังอยู่ มันก็อยู่ที่การตัดสินของ ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ แล้วว่าจะเอาอย่างไร?

จะวัดดวงกลับไทย แล้วยื่นถวายฎีกาฯ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ โดยหวังลุ้นให้ไม่เป็นการลดโทษ แต่อภัยโทษ ยิ่งลักษณ์จะกล้าเสี่ยงหรือไม่

 เพราะยิ่งลักษณ์ในวัย 56 ปี ไม่ใช่ 70 ปีแบบทักษิณ ทำให้ยิ่งลักษณ์ไม่เข้าข่ายได้รับการพักโทษตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์

ยิ่งหากจะมาใช้วิธีตุกติก แกล้งป่วย ไปนอนโรงพยาบาลจนครบกำหนดหากได้รับการลดโทษ เพื่อหวังจะไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว ตามรอยทักษิณพี่ชาย

ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่คนในตระกูลชินวัตร จะมาใช้วิธีการแบบนี้ ทำติดๆ กันในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน ย่อมเป็นสิ่งที่สังคมไทยยากจะยอมรับกันได้ เพราะแค่เคสทักษิณคนเดียว กระบวนการยุติธรรมไทยก็พังป่นปี้หมดแล้ว 

จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ รูปคดียิ่งลักษณ์เบากว่าทักษิณ สิ่งนี้ ทำให้เธออาจพอมีความหวังลุ้นข่าวดี หากยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ-ลดโทษ

ด้วยต้องไม่ลืมว่า ยิ่งลักษณ์โดนตัดสินจำคุก 5 ปี คดีจำนำข้าว ด้วยความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่โดนตัดสินว่าทำผิดทุจริตคอร์รัปชัน อันต่างกับทักษิณที่โดนจำคุก 8 ปี หลายคดี และมีเรื่องของทุจริต ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ รวมถึงโดนยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท เพราะร่ำรวยผิดปกติ

แวดวงการเมืองจึงมองกันว่า ยิ่งลักษณ์มีโอกาสลุ้นระดับหนึ่ง  หากยื่นถวายฎีกา เพราะรูปคดีเบากว่าทักษิณ อีกทั้งปีนี้เป็นปีมหามงคลของประเทศไทย ก็ทำให้ยิ่งลักษณ์-ทักษิณอาจได้ลุ้น ถ้ายื่นภายในปีนี้

แต่ก่อนจะไปถึงจุดดังกล่าว ต้องรอลุ้นกันเป็นฉากต่อฉาก ลำดับแรก รอดูกันก่อนว่า กระบวนการอุทธรณ์คดี ทั้งคดีงบอีเวนต์-คดีย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จะเดินไปแบบไหนอย่างไร ถ้าจุดนี้จบเร็ว การเคลื่อนไหวของทักษิณเพื่อพยายามช่วยยิ่งลักษณ์ให้กลับไทย โดยไม่ต้องรับโทษ จะตามมาทันที.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เก้าอี้“สมช.”ของร้อนชินวัตร จัดแถว“ตัวจริง-ตัวสำรอง”

เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และต้องกระทำการอย่างรอบคอบในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการของรัฐบาล นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ทำให้ต้องใช้เวลาในตรวจสอบคุณสมบัติอย่างรอบคอบ

นายกฯเคาะเลือก'ผบ.ตร.'คนที่ 15 ฟ้าไม่ผ่าปทุมวัน คอนเฟิร์ม'บิ๊กต่าย'

การแต่งตั้งโยกย้ายหน่วยงานความมั่นคงระดับสูงเสร็จไปเกือบทุกหน่วย โดยเฉพาะเหล่าทัพ วันที่ 1 ต.ค.เริ่มงานได้ทันที เหลือเฉพาะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่ต้องเริ่มคัดเลือกตัว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 15 แทนที่ “บิ๊กต่อ”-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ที่เกษียณอายุราชการหลังวันที่ 2 ต.ค.นี้

จัดทัพสิงห์มท.-วัดใจ "บิ๊กป๊อป"รื้อโผ"ปลัดเก่ง"? อนุทิน-มท.1ลั่นไม่เอาตั๋วฝาก 

วันจันทร์นี้ 30 ก.ย. เป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 ที่ก็คือวันสุดท้ายในการทำงานของข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ที่อายุครบ 60 ปีต้องเกษียณจากตำแหน่ง

เกมยื้อแก้ 'รัฐธรรมนูญ' ' อิ๊งค์' หนักคอพาดเขียง

ประเด็นการเมืองร้อนแทรกขึ้นมาท่ามกลางปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และเศรษฐกิจ หลังพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ใจตรงกันยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีเป้าหมายคือลดอำนาจการตรวจสอบนักการเมืองผ่านองค์กรอิสระ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และ กกต.

ถกนัดแรก‘5กุนซือ’นายกฯอิ๊งค์ ปักธง‘ไทยพ้นยากจน’รัฐบาลนี้

ได้ฤกษ์รัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์”-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถกนัดแรก “คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี” ที่ บ้านพิษณุโลก บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเรือนรับรองแขกสำคัญของรัฐบาล

พท.ชิดซ้าย พรรคส้มดีดกว่า สุดซอยจ้องโละ 'จริยธรรมรมต.'

ถอยร่นไม่เป็นขบวนไปแล้วสำหรับ พรรคเพื่อไทย เมื่อแสดงท่าที โยนผ้าขาว-ไอ้เสือถอย ส่ออาการไม่ไปต่อ เลิกกลางคันกับการเร่งรัดเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ยื่นร่างต่อรัฐสภาไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เมื่อกระแสสังคมนอกจากไม่เอาด้วย แรงต้านมีมากขึ้นเรื่อยๆ