เข้าสู่ช่วงนับถอยหลังเตรียมเปลี่ยนปฏิทินปี 2564 เป็น 2565 ปีนักษัตรขาล อันเป็นช่วงเวลาที่คาดว่าการเมืองจะเข้มข้นร้อนแรงอีกครั้งหนึ่ง จนถูกมองว่าจะเป็น ปีเสือดุ ซึ่งหากดูตามปฏิทินการเมือง รวมถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคการเมือง-กลุ่มก้อนการเมืองต่างๆ จะพบว่ามีวาระร้อนๆ หลายเรื่องรออยู่ วันนี้ขอคัดมา 5 ไทม์ไลน์ อันประกอบด้วย
1.การเลือกตั้งซ่อม ชุมพร-สงขลา-หลักสี่ กทม.
ซึ่งตามคิวทั้งสามสนามเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2565 ทั้งหมด โดยตอนนี้พบว่าพรรคการเมืองปีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง มีการลงพื้นที่หาเสียงกันแล้วที่ชุมพรและสงขลา ซึ่งคู่ชิงหลักก็คือสองผู้สมัครจากพรรคร่วมรัฐบาล คือพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ ขณะที่พื้นที่หลักสี่พบว่าพรรคการเมืองทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคตั้งใหม่ประกาศจะส่งคนลงชิงชัย ไม่ว่าจะเป็นในซีกรัฐบาลคือ พลังประชารัฐ เจ้าของพื้นที่เดิม-ประชาธิปัตย์ และซีกฝ่ายค้านคือเพื่อไทยกับก้าวไกล รวมถึงพรรคใหม่ก็ลงด้วยเช่นกันคือ ไทยภักดีและพรรคกล้า ซึ่งผลที่ตามมายังไงก็จะมีการตัดคะแนนกันเองระหว่าง พรรคฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-พรรคตั้งใหม่ จนทำให้สนามเลือกตั้งหลักสี่ต้องรอให้ถึงช่วงโค้งสุดท้าย ถึงพอจะประเมินได้ว่าพรรคไหนมีโอกาสชนะเลือกตั้ง
และผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้วัดทางการเมืองได้หลายอย่าง ทั้งในส่วนของรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยเฉพาะกับพลังประชารัฐที่ส่งคนลงสมัครแบบหวังผลทั้งสามเขตเลือกตั้ง ซึ่งหากไม่สามารถกวาดชัยชนะได้หมดทั้งสามสนาม ก็คงมีผลทางการเมืองตามมากับคนในพลังประชารัฐ รวมถึงกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย
2.การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
ที่แก้ไขตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง ส.ส. นั่นก็คือการเสนอแก้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเวลานี้ร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นต่อประธานรัฐสภาไปแล้ว โดยคาดว่ารัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ทั้งสองฉบับในกลางเดือน ม.ค.65 ที่มั่นใจได้ว่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแน่นอนทั้งสองฉบับ เพียงแต่เนื้อหารายละเอียดจะมีการอภิปราย-เจรจาต่อรองกันระดับหนึ่ง โดยเห็นได้ชัดว่าสองพรรคใหญ่คือเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ จะเป็นฝ่ายคุมเกมโดยอาศัยเสียงข้างมากของสองพรรครวมกัน
3.ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ที่เห็นความคึกคักกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังมีสัญญาณการเมืองหลายอย่างว่า รัฐบาล-กระทรวงมหาดไทยยากจะยื้อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ให้นานเกินกว่ากลางปี 2565 ไปได้อีกแล้ว จึงทำให้มีการเปิดตัวแคนดิเดตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงคนที่สนใจจะลงสมัครก็เริ่มเปิดตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในปี 2565 คนกรุงเทพฯ ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แน่นอน หลังไม่ได้เลือกกันมายาวนานร่วม 9 ปี ทำให้ปี 2565 ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะทำให้การเมืองคึกคักอย่างมาก และผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวบ่งชี้หลายอย่างทางการเมือง โดยเฉพาะการชี้วัดเรื่องกระแสนิยมของคน กทม.ต่อพรรครัฐบาลและตัวพลเอกประยุทธ์ในเวลานี้
4.การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และการยื่นตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์
มีการคาดหมายกันว่า ปี 2565 การเมืองในสภาจะกลับมาพีกสุด ก็ตอนที่ฝ่ายค้านจะใช้จังหวะเปิดประชุมสภาสมัยหน้า ในช่วงวันที่ 22 พ.ค.-18 ก.ย.65 ยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ ซึ่งก่อนจะถึงตอนที่ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก พลเอกประยุทธ์ต้องมั่นใจในการคุมเสียง ส.ส.รัฐบาล โดยเฉพาะในพลังประชารัฐที่จะยกมือไว้วางใจตนเองให้เกินกึ่งหนึ่งให้ได้ เพราะหากพลเอกประยุทธ์ไม่มั่นใจ เพราะเกรงว่าจะถูกเอาคืนจากกลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และถูก ส.ส.รัฐบาลบางส่วนใช้จังหวะนี้ต่อรองการเมือง
หากสถานการณ์เป็นแบบนั้น ก็อาจทำให้พลเอกประยุทธ์ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอก เพียงแค่ยื่นญัตติเท่านั้นยังไม่ต้องอภิปราย นายกฯ ก็หมดอำนาจทางการเมืองแล้วเพราะยุบสภาไม่ได้ จนทำให้พลเอกประยุทธ์อาจอยู่ในสภาพถูกกดดันต่อรองอย่างหนัก เพื่อแลกกับเสียงโหวตไว้วางใจเหมือนที่เคยเจอมาแล้วตอนซักฟอกรอบล่าสุด ดังนั้นก่อนเปิดประชุมสภาเดือน พ.ค.ปีหน้า ถ้าพลเอกประยุทธ์ยังเคลียร์กับธรรมนัสไม่ได้ ก็น่าติดตามว่าอาจเกิดจุดเปลี่ยนการเมืองเกิดขึ้นก่อนศึกซักฟอกก็ได้
นอกจากนี้ในช่วงก่อนถึง ส.ค.65 ให้ติดตามดูเช่นกัน ที่หากไปถึงช่วงนั้นแล้วพลเอกประยุทธ์ยังอยู่ในตำแหน่ง ถึงยังไงฝ่ายค้านคงยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ว่าเมื่อไปถึงช่วง ส.ค.65 พลเอกประยุทธ์ถือว่าอยู่เกินแปดปีที่เป็นข้อห้ามของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่
ประเด็นนี้ก็น่าสนใจเช่นกันว่า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ตามมาหรือไม่ หากผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ออกมาไม่เป็นคุณกับพลเอกประยุทธ์
ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ผ่านทั้งสองศึกหนักข้างต้นไปได้ และประคองตัวไปจนสภาปิดในเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน ถึงตอนนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงแล้วที่จะอยู่ครบเทอม
5.สถานการณ์ม็อบสามนิ้ว
โดยแม้ปัจจุบันแกนนำม็อบสามนิ้วหลายคนจะอยู่ในเรือนจำ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่แกนนำและแนวร่วมอีกหลายคนแม้จะได้รับการประกันตัวไปแล้ว แต่เกือบทั้งหมดต่างมีชนักติดหลังที่ทำให้เคลื่อนไหวแบบก่อนหน้านี้ไม่ได้แล้ว หากทำก็เสี่ยงที่จะถูกศาลยกเลิกคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว จนอาจต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ทำให้มีการมองกันว่าข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้การเคลื่อนไหวของม็อบต่อจากนี้จะไม่พีกเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม สำหรับท่าทีของแกนนำและแนวร่วมบางส่วน พบว่าหลายคนยืนยันจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกในปีหน้า โดยเฉพาะเรื่องมาตรา 112 สถานการณ์ของม็อบสามนิ้วในปี 2565 จึงเป็นอีกปมร้อนการเมืองที่ต้องจับตามอง
5 ปมร้อนสถานการณ์การเมืองปีเสือดุดังกล่าว จึงทำให้เห็นได้ชัด การเมืองไทยปีหน้ายังร้อนแรงต่อเนื่อง ทั้งการเมืองในรัฐสภาและนอกรัฐสภา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ปลุกทุกภาคส่วน ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวีดิทัศน์ว่า เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2567
ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่