'ก้าวไกล' ไม่ยื่นซักฟอก 'รัฐบาล' เกรงใจหรือกลัวถูกย้อนเกล็ด?

จากการกลับคำของ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ว่า "ซักฟอกที่เป็นอภิปรายไม่ไว้วางใจโอกาสมีน้อยมากจริงๆ เพราะรัฐบาลก็เพิ่งมา ยังไม่ได้ใช้งบประมาณที่ตนเองเป็นคนทำเลยแม้แต่บาทเดียว ทำให้ยังไม่มีประเด็นใหญ่มากที่จะเปิดอภิปราย ถ้าเปิดแล้วไม่มีคุณภาพ ไม่เปิดดีกว่า ควรใช้เมื่อเหมาะสม"

ทั้งที่ ก้าวไกล เคยตั้งมั่นว่าจะ อภิปรายไม่ไว้วางใจ และเคยคาดหวังให้เป็น "เวทีใหญ่" ได้โอกาส "ชำแหละรัฐบาล"

เปลี่ยนเป็นเตรียมยื่นขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือน เม.ย. ทิ้งท้ายก่อนจะปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรแทน

แม้ นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะย้ำว่า “ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูล ปัญหาของการบริหารของรัฐบาลมีเยอะ เพียงแต่ข้อมูลด้านการทุจริตในระดับที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องไปดูก่อน”

และยืนยันเสียงแข็งว่า “ไม่มีเรื่องที่จะต้องไปเกรงใจ หรือออมมือให้ใคร”

ก็ไม่ทำให้สังคมสิ้นสงสัย ในการเสาะหา ‘สาเหตุที่แท้จริง’ จากการเปลี่ยนรูปแบบการอภิปรายครั้งนี้ ว่าเป็นการปรับแผนรายวันตามสถานการณ์หรือไม่?

สวนทางกับ สมาชิกวุฒิสภา ที่ไม่ยอมอ่อนข้อ และตั้งมั่นในการอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ในช่วงปลายเดือน มี.ค. เพื่อสอบถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ถึงปัญหาวิกฤต 7 ด้านของประเทศ

โดยเฉพาะ ‘ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติ และปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งเน้นย้ำไปที่ ‘โครงการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต’

และปัญหา "ด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย" ในกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนถึง "ความสองมาตรฐาน" หรือไม่

ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยนี้ ทำให้ถูกเชื่อมโยงไปถึงกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เคยเดินทางไปพบกับนายทักษิณที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2566 ในช่วงตั้งรัฐบาล ซึ่งธนาธรเคยให้สัมภาษณ์ว่า พรรคเพื่อไทยคือพันธมิตรกัน

ที่อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์พิเศษระหว่าง ‘เพื่อไทย’ และ ‘ก้าวไกล’ หรือไม่

เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีที่อ่อนลง และคล้ายจะยอมถอยในหลายเรื่องนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ที่นายทักษิณได้รับการพักโทษ กลับมาอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหรือไม่

แม้ ก้าวไกล จะมีการตั้งกระทู้ถามในสภาก็จริง แต่ก็ยังเป็นการแตะ กระบวนการ ไม่ใช่ ตัวบุคคล

สอดรับกับเมื่อ คนในพรรค ถูกถามในกรณีนายทักษิณ ก็ต่างตอบแบบ ‘แบ่งรับแบ่งสู้’ เหมือนเกรงใจ

หรืออาจเป็นเพราะ กลัวถูกย้อนเกล็ด เสียเอง หากผลีผลามเปิดศึกใหญ่ หรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรรุนแรงเกินงามหรือไม่

เนื่องจากยังมีชนักติดหลัง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในการกระทำที่ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

จึงต้องระมัดระวัง ทั้งการพูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรม และอะไรที่เชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่อาจถูกหยิบมาเล่นงานได้ทุกเมื่อ

คงต้องรอดูกันในศึกจริงว่า ก้าวไกล จะสามารถทำหน้าที่ ฝ่ายค้าน เชิงรุก ได้อย่างที่เคยบอกไว้ได้จริงหรือไม่?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”

“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย

สัญญาณชัด! ‘เทพไท’ ฟันฉับความขัดแย้งในรัฐบาล เกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วแน่นอน

เป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมือง ซึ่งมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่กระโดดข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว