เป็นอีกหนึ่งคดีประวัติศาสตร์ สำหรับกรณีช่วยเหลือให้นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ให้รอดคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม
นับตั้งแต่เกิดเหตุในปี 2555 มาถึงวันนี้ผ่านมาเกือบ 12 ปี แต่ยังคงอยู่ในการรับรู้และความทรงจำของผู้คน เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นทายาทตระกูลดัง และยังพบความพยายามในการช่วยเหลือเพื่อให้นายวรยุทธรอดคดี หรือรับโทษน้อยที่สุด
เป็นคดีที่สั่นคลอนกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นตำรวจและอัยการ โดยเฉพาะการพยายามเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถที่นายวรยุทธขับให้เหลือแค่ไม่ถึง 80 กิโลเมตร/ชม. กระทั่งในปี 2563 อัยการมีคำสั่ง 'ไม่ฟ้อง' นายวรยุทธ โดยอ้างว่า คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง
กระแสสังคมในขณะนั้นไม่มีใครรับได้ พร้อมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมว่า คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น
เมื่อสังคมรับไม่ได้ พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม ทำให้รัฐบาลขณะนั้น ที่นำโดย 'บิ๊กตู่' พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 แต่งตั้ง วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญานายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งถูกตั้งข้อหาเป็นคดีอาญา 5 ข้อหา รวมถึงข้อหาขับรถโดยประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
คณะกรรมการชุด 'วิชา' ได้ตรวจสอบและมีข้อสรุปว่า การสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ มีกระบวนการสอบสวนไม่ชอบ มีการสมคบคิดเพื่อประวิงคดีในชั้นอัยการ ใช้อิทธิพลการเมืองกดดันกระบวนการยุติธรรม
ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินคดีและวินัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้บังคับบัญชา สมาชิกสภานิติบัญญัติ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ ทนายความซึ่งทำผิดกฎหมาย พยานที่ให้การเท็จ ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนให้เกิดการทำผิดดังกล่าว
ต่อมาในปี 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติให้กรรมการ ป.ป.ช.ทุกคนเป็น 'องค์คณะไต่สวน' โดยมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 15 ราย มีทั้งตำรวจ อัยการ ฝ่ายการเมือง
คดีนี้ ป.ป.ช.ใช้เวลากว่า 2 ปี กระทั่งมีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาหลายรายเมื่อเดือนกันยายน 2566 โดยมีบิ๊กข้าราชการตำรวจในนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น 'บิ๊กอ๊อด' พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 'บิ๊กอุ้ม' พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. รวมไปถึง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ผู้เซ็นสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ
จากนั้น ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้อัยการสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ซึ่งแต่แรกมีการจับตาว่า เมื่อมาถึงอัยการแล้วอาจจะต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ เหมือนกับอีกหลายๆ คดีใหญ่ จนบางครั้ง ป.ป.ช.ตั้งส่งฟ้องเอง
แต่ปรากฏว่า คดีนี้กลับรวดเร็วกว่าคดีอื่นๆ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ อัยการได้มีคำสั่งรับดำเนินคดีอาญาฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวกรวม 8 ราย
8 รายที่อัยการรับดำเนินคดีอาญาฟ้องนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นระดับ 'บิ๊ก' ทั้งสิ้น ได้แก่ พล.ต.อ.สมยศ, พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน, พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพนักงานสืบสวนสอบสวน, นายเนตร นาคสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุด, นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม พนักงานอัยการ, นายธนิต บัวเขียว, นายชูชัย หรือพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่ และนายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่นๆ นั้น ในส่วน พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก และ พ.ต.อ.วิวัฒน์ สิทธิสรเดช คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติกันไว้เป็นพยาน
ขณะที่ พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ นามเมือง หรือคทาธร พัชรนามเมือง พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร พล.อ.ท.สุรเชษฐ ทองสลวย คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตาม ป.วิ.อาญา และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 63
ส่วน พล.ต.ท.เพิ่มพูน คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 64 ที่เหลืออีก 5 คน คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติไม่ชี้มูล
มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่สังคมจับตาอย่างมาก การที่ ป.ป.ช.ชี้มูลระดับ ‘บิ๊กตำรวจ-บิ๊กอัยการ-นักการเมือง’ ทั้งที่บางคนมีคอนเน็กชันกว้างขวาง เป็นอดีตหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมข้อครหาเรื่องการช่วยเหลือกัน และเป็นการแสดงให้เห็นว่า พร้อมจัดการกับทุกระดับ
ขณะที่ในชั้นอัยการที่รวดเร็ว นั่นเพราะคดีนี้ทำให้องค์กรอัยการเสียหายอย่างหนักจากการเซ็นคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หากตุกติก หรือมีคำถามอีกจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมองค์กร ฉะนั้น จึงต้องฉับไวเพื่อกู้ศรัทธา
กระบวนการหลังจากนี้จะเป็นการต่อสู้กันในชั้นศาล ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาพอสมควร ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีชื่อเสียงและคอนเน็กชันทางการเมือง น่าจะไม่ยอมง่ายๆ
แต่ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ย่อมไม่สามารถลบคดีนี้จากความจำของผู้คน ทันทีที่ได้ข้อสรุปที่ไม่สมเหตุสมผล หรือมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอีก กระบวนการยุติธรรมจะถูกตั้งคำถามอีกครั้ง
สุดท้ายจะกอบกู้ความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ มีแต่คนเฝ้ารอดู.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อบงการ ลูกตามสั่ง
“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.
ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’
“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน
“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง
ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2