ผลสอบ “รล.สุโขทัย” เขย่าโผโยกย้ายทัพเรือ

ผลการปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย “เรือหลวงสุโขทัย” โดยชุดปฏิบัติการร่วมของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐ 6 วันที่ผ่านมา ได้มีการถ่ายภาพสำรวจจุดต่างๆ โดยเฉพาะรอยปริร้าวที่กราบซ้ายเรือ ห้องใต้ป้อมปืน ฝาทางเข้าช่องลำเลียงอาวุธปล่อยนำวิถี “เอสปิเด” การเก็บกู้ปืนเล็กยาว ห้องผู้การเรือ

โดย ทร.ไทย-สหรัฐ มีเป้าหมาย 5 ข้อ คือ 1.การนำป้ายเรือขึ้นมา ซึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว 2.ถ่ายรูปหลักฐานต่างๆ หลังจากชุดประดาน้ำสามารถเข้าไปสู่ภายในตัวเรือได้แล้ว 3.การทำลายขีดความสามารถระบบอาวุธตามระเบียบในการจัดซื้ออาวุธแบบ FMS 4.การค้นหาผู้สูญหายที่เหลืออีก 5 ราย และ 5.การจัดการต่อสิ่งของที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล เช่น น้ำมันที่อยู่ในตัวเรือ

หากไม่มีอะไรผิดจากแผนที่ได้วางไว้ การปฏิบัติที่กำหนดไว้ 19 วัน จะสิ้นสุดในวันที่ 11 ก.พ.2567 ข้อมูลที่เก็บขึ้นมานั้นจะนำมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุเรืออับปางที่มี พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน

โดยการสอบสวนของคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะคล้ายกับหลักการสอบสวนตามกฎนิรภัยการบิน 4M ในการหาสาเหตุว่ามาจากปัจจัยใด ได้แก่  Man error, Material error, Media error, Management error กล่าวคือ เพื่อค้นหาว่าเป็นข้อผิดพลาดจากคน อุปกรณ์ สภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ หรือการบริหารจัดการสถานการณ์   

โดยจะนำข้อมูลที่ได้มานั้นมาตอบคำถามที่ยังค้างคาให้สิ้นสงสัย เพราะคำให้การจากผู้ที่อยู่บนเรือยังต้องหาข้อมูลมาสอบทานเพิ่มเติม

ที่สำคัญคือรายละเอียดข้อผิดพลาดต่างๆ จะนำไปสู่การยอมรับข้อเท็จจริงของผลที่เกิดขึ้น และใช้เป็นบทเรียนในการปรับปรุงพัฒนากองทัพเรืออย่างไร

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ผลสอบอาจจะเทไปที่สภาพดินฟ้าอากาศที่เกิดคลื่น State ที่ 6 ตามคำให้การของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น จนเกิดการตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้จะมี “ผู้รับผิดชอบ” หรือไม่?

หากย้อนกลับไปดูหลักการสอบสวนทั้ง 4 ข้อข้างต้น อาจสรุปว่า ทั้ง 4 ข้อมีผลมากน้อยต่างกันไป โดยเรียงลำดับความผิดพลาดจากคน และการตัดสินใจ ที่น่าจะเป็น 2 ปัจจัยหลัก เมื่อผนวกรวมกับเรื่องสภาพตัวเรือ และสภาพอากาศ จึงส่งผลให้เรือลำนี้อับปางลงในที่สุด

แต่เมื่อต้องนำไปสู่การทำเป็นบทเรียน จึงต้องนำทั้ง 4 ปัจจัยมาพิจารณา โดยแบ่งเป็นช่วงเวลา คือก่อนการเดินทาง ระหว่างเกิดเหตุการณ์ และหลังเหตุการณ์ เพื่อให้เห็นได้ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นต่อกรณีอุบัติเหตุนั้นมันส่งผลเชื่อมโยงกันอย่างไร 

ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้น จะโยนความผิดให้สิ่งแวดล้อม-สภาพแวดล้อมทั้งหมดก็คงไม่ได้ เพราะแม้จะมีเรือล่มหลายลำ แต่ก็มีเรือที่ไม่ล่มเช่นกัน แล้วเหตุใดเรือลำอื่นที่เหลือจึงไม่ล่ม?  

 ชะตากรรมของคนบนเรือ และ รล.สุโขทัย จึงไม่พ้นจะอยู่ในมือของผู้บังคับการเรือ ที่สำคัญคือก่อนเรือออก “ต้นกล” ก็ไม่ขึ้นเรือไปด้วย สะท้อนวัฒนธรรมแบบหยวนๆ กันไป ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่คิด

และยังกลายเป็นคำถามว่า กระบวนการตัดสินใจในการนำเรือเครื่องยนต์เดียวแล่นกลับสัตหีบที่ต้องวิ่งตัดอ่าวไปถึง 90 ไมล์ทะเล ท่ามกลางพายุคลื่นลมขนาดนั้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูงยิ่ง ในกรณีถ้าเครื่องยนต์ดับ เรือรบชั้นดีก็ไม่ต่างจาก “เศษเหล็กลอยน้ำ” เพราะน้ำจะสามารถเข้าเรือตลอดเวลา ประกอบกับเกิดร่องรอยการฉีกขาดด้วย การผนึกน้ำอาจจะทำได้ไม่สมบูรณ์ เพราะเรือหนักขึ้นและเอียง 

รวมไปถึงข้อสงสัยว่า ระยะเวลาที่น้ำเข้าเรือจนกว่าจะตัดสินใจนั้นใช้เวลาเท่าไหร่ และเหตุใดจึงไม่ตัดสินใจหันหัวเรือเข้าสู่บางสะพาน ซึ่งห่างกันแค่ 20 ไมล์ทะเลเท่านั้น

นอกจากนั้นยังต้องไปดูสภาพของเรือก่อนออกไปปฏิบัติงาน มีความพร้อมในระดับไหน จะแค่พอเดินเรือได้ แต่ไม่พอรับกับสภาพทะเลหรือไม่ รวมถึงมีวงรอบการซ่อม การใช้งาน ทำให้การบริหารจัดการสมบูรณ์หรือไม่ รวมถึงอุปกรณ์ ความพร้อมต่างๆ

ขณะที่ต้องดูช่วงเวลาหลังเรือเกิดอุบัติเหตุ ทั้งขั้นตอนการเข้าไปช่วยเหลือ กู้ภัย มีลำดับขั้นและการสั่งการอย่างไร

"นักเรียนนายเรือเราสอนกันว่า ภายใต้สถานการณ์จำเป็น กระบวนการคิดแรกคือ ชีวิตกำลังพลในเรือปลอดภัย เพราะเหตุการณ์ตรงนั้นเรือจมทั้งลำ อันนี้เป็นประวัติศาสตร์ของกองทัพ ถ้าเรือล่มจากสงครามเป็นหน้าที่ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง" ทหารเรือรายหนึ่งระบุ

ผลสอบที่ออกมาจึงนำไปสู่การลงโทษทั้งทางวินัยและ อาญาของผู้กระทำผิด แต่อาจกินความว่าเป็นผู้ที่ “รับผิดชอบ” ต่อเหตุการณ์ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการโฟกัสไปที่ น.ท.พิชิตชัย เถื่อนนาดี ผู้บังคับการเรือในขณะนั้น 

แต่คงยากที่จะไปถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นในขณะนั้น ได้แก่ พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล อดีตผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1  และ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการ ทร. พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ นั่งเป็นเสธ.ศูนย์ปฏิบัติการ ทร.ในขณะนั้น

ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่า ข้อมูลของพยานบุคคลและวัตถุพยาน จะจำกัดวงไว้ที่คนคุม “หน้างาน” หรือไม่

จนมีกระแสกดดันจากภายนอกผ่านฝ่ายการเมือง ที่อาจจะส่งผ่านจากภายใน ทร. ในการหา “คนกลาง” เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ในขั้นตอนสรุปสุดท้าย หลังจากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากชุดประดาน้ำไทย-สหรัฐในครั้งนี้ด้วย

สำหรับระยะเวลาที่ตั้งไว้ประมาณ 1 เดือนหลังจากปฏิบัติการครั้งนี้ อาจจะจบเร็วหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับ “ไทม์ไลน์” ในการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย

เพราะศึกในการชิงเก้าอี้ 5 เสือ ทร.ปลายปีนี้คาดว่าจะดุเดือดกว่าทุกครั้ง

แต่หากผลสอบจะสะเทือนไปถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น ก็อาจมีผลต่อการเลื่อนลดปลดย้าย หรืออาจนำมาเป็นประเด็นเรื่องในการขึ้นชิงเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารเรือคนต่อไปในปลายปีนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี