ศึกช้างสาร ‘ชัยวัฒน์-ส.ป.ก.’ ส่อลามนโยบายภาพใหญ่

อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘มหากาพย์’ ที่มากกว่าแค่ข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อน สำหรับกรณีการออกเอกสาร สปก.4-01 และฝังหมุด สปก.4-01 ใน ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ข้อพิพาทดังกล่าวเกี่ยวพันกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เรื่องนี้เกิดจากเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ออกตระเวนแล้วพบการบุกรุกพื้นที่และปรับสภาพโดยใช้เครื่องจักร บริเวณติดถนนแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมถึงพบป้ายแสดงเอกสาร สปก.4-01 ในพื้นที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ต่อมาพบว่า ในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ส.ป.ก.นครราชสีมา ได้ออกประกาศสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กรณีเฉพาะราย เรื่องผลการคัดเลือกและอนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขต ส.ป.ก.นครราชสีมา เนื้อที่รวมประมาณ 73-0-37 ไร่ ปรากฏชื่อรวม 3 ราย 3 แปลง

จากนั้นผู้ใหญ่บ้านบ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ส่งหนังสือถึงนายอัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอทราบตำแหน่งแปลงที่ดินและรูปแปลงของทั้ง 3 ราย เนื่องจากไม่ใช่ราษฎรในพื้นที่

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา กำนันตำบลหมูสี และผู้ใหญ่บ้านบ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ร่วมกันตรวจสอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบว่า มีการปักหมุด ส.ป.ก.เข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ

ในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ทำหนังสือขอให้ ส.ป.ก.รื้อถอนหมุดออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ ต่อมาในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่อุทยานตรวจยึดพื้นที่บุกรุก

แต่ปรากฏว่า ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ส.ป.ก.นครราชสีมาได้ออกประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง ผลการคัดเลือกและอนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา (ประเภทแปลงเกษตรกรรม) ในพื้นที่หมู่ 10 บ้านเหวปลากั้งอีกครั้ง ปรากฏรายชื่อรวม 5 ราย 5 แปลง

3 ใน 5 ราย เป็นรายชื่อเดียวกับประกาศ ส.ป.ก.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566

ความร้อนแรงเริ่มมากขึ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบบริเวณพื้นที่ที่พบการบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ที่มีการฝังหลักหมุดและออกเอกสาร สปก.4-01

เรื่องดังกล่าวมีการแจ้งความกล่าวโทษผู้บุกรุก ขอให้สอบสวนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีออกเอกสาร สปก.4-01 ภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ด้วย

‘หัวหมู่ทะลวงฟัน’ ของกรมอุทยานครั้งนี้คือ ‘ชัยวัฒน์’

ที่น่าสนใจ ท่าทีของ ‘ชัยวัฒน์’ ทั้งร้อน ทั้งแรง พุ่งชนดะ ใส่ ส.ป.ก.อย่างจัง โดยไม่สนว่า จะเป็นผู้บริหารระดับไหน

  ในขณะเดียวกัน ‘ชัยวัฒน์’ ยังอ้างว่า หลังจากมีแนวนโยบายเปลี่ยน สปก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เริ่มมี ส.ป.ก.ที่ผิดปกติเข้ามาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในหลายพื้นที่และหลายจังหวัด ไม่ใช่แค่ ‘อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ความร้อนแรงนี้ทำให้ผู้บริหารระดับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแล ส.ป.ก.ต้องลงไปในพื้นที่ด้วยตัวเอง

หากแต่มันไม่ได้ทำให้สถานการณ์เย็นลงแต่อย่างใด กลับกลายเป็นเกิดการตอบโต้ อ้างกฎหมายคนละฉบับ ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส และ นายชัยวัฒน์ ผ่านทางสื่อ

แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ดูเหมือนสังคมจะให้น้ำหนักกับฝั่ง ‘ชัยวัฒน์’ ในมุมของการปกป้องผืนป่า

จากปัญหาพื้นที่พิพาทระหว่าง 2 หน่วยงาน ลามไปถึงการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่?  

เพราะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ในการกำกับดูแลของพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด

โดย ‘บิ๊กป๊อดพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี คุมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส คุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

และมีการจับโยงไปถึงข่าว ‘เกาเหลา’ กันระหว่าง 2 เสนาบดีพรรคเดียวกันก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการที่ ‘บิ๊กป๊อด’ มอบหมายให้ ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่กับอธิบดีกรมอุทยานฯ และ นายชัยวัฒน์ ที่สำคัญ ‘บิ๊กป๊อด’ ยังโทรศัพท์ไปให้กำลังใจ ‘ชัยวัฒน์’ ที่กำลังชนกับ ส.ป.ก.อยู่ด้วย

มีข่าวลือหนาหูว่า ฉากดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับใครบางคนเป็นอย่างมาก ก่อนที่พรรคพลังประชารัฐจะรีบตัดไฟแต่ต้นลมด้วยภาพ พล.ต.อ.พัชรวาท กับ ร.อ.ธรรมนัส นั่งคุยกันก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อไม่ให้โยงไปที่ประเด็นขัดแย้งในพรรค

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสได้ขอร้องว่าอย่าโยงเรื่องนี้เกี่ยวกับการเมือง

อย่างไรก็ดี คู่พิพาทโดยตรงคือตัว ‘ชัยวัฒน์’ กับเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ทุกระดับที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าสุดท้ายจะโยงถึงใคร และใหญ่ระดับไหนก็ตาม

ถึงแม้ ‘ชัยวัฒน์’ จะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา พล.ต.อ.พัชรวาท ตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติรับรู้กันว่า ‘ชัยวัฒน์’ เป็นข้าราชการประเภท ‘คอนโทรลไม่ได้’

คดีรุกที่เขาใหญ่ของนายก อบจ. และอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้วคือ ข้อตอกย้ำว่า พร้อม ‘ชนทุกระดับ

                    และเรื่องนี้มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ‘เงา’ ข้างหลัง ‘ชัยวัฒน์’ น่าจะ ‘บิ๊ก’ พอสมควร ถึงชนขนาดนี้

อีกทั้งการที่ ‘ชัยวัฒน์’ ระบุว่า ยังมี ส.ป.ก.ที่ผิดปกติในหลายพื้นที่ในระยะหลัง มันพอเห็นทิศทางว่า มันจะไม่จบแค่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่น่าจะมีรายการกัดไม่ปล่อย

และกรณีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้มีการร้องให้สอบเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว

ที่สำคัญกว่านั้นคือ คณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ที่มี นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน เคยมีมติให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ศึกษาและเฝ้าระวังการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายการปรับปรุงเอกสารสิทธิ สปก.4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตั้งแต่ปลายปีที่แล้วด้วย

ฉะนั้น มันอาจลามไปถึงเรื่องนโยบายภาพใหญ่ได้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

‘สภาสูง’ในเงื้อมมือค่ายน้ำเงิน ส่องภารกิจเลือก‘องค์กรอิสระ’

ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง

ดรามา วุฒิการศึกษา 'หมอเกศ' เปิดข้อกม.เอาผิด-พ้นสภาพสว.?

นับตั้งแต่กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อปลายเดือนมิ.ย. สิ้นสุดลง หัวกระไดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่แห้งอีกเลย เพราะหลังจากนั้นมีกลุ่มคนเข้ามายื่นหนังสือ เพื่อตรวจสอบกระบวนการเลือกที่ไม่สุจริต และเที่ยงธรรม รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มเพื่อเลือกบุคคลที่เป็นเป้าหมายโดยเฉพาะ หรือเรียกว่า ฮั้ว หรือการตรวจคุณสมบัติสว.