กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษออกมาอยู่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ เมื่อเช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ถือว่ายังไม่ได้พ้นโทษ โดยยังเหลือระยะเวลาอีก 6 เดือน
ฉะนั้น ‘ทักษิณ’ ยังคงต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
ในส่วนของคดีทุจริตขณะนี้ต้องรออีก 6 เดือน ถึงจะขยับได้อย่างถนัดถนี่ ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะมีอะไร
ตอนนี้ที่ ‘ทักษิณ’ ยังต้องต่อสู้คือ กรณีให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2558 ในคดีหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พนักงานสอบสวนได้นำตัว ‘ทักษิณ’ มาส่งให้กับพนักงานอัยการ แต่เนื่องจากการสอบสวนยังไม่สิ้นกระแสความ เนื่องจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าว จึงยังไม่อาจลงความเห็นและมีคำสั่งทางคดีได้ในขณะนี้
โดยอัยการได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยมีหลักประกัน และนัดให้มาพบพนักงานอัยการ ในวันที่ 10 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด
แต่ดูแล้วเส้นทางของ ‘ทักษิณ’ ไม่มีอะไรให้ต้องพะว้าพะวงเท่าไหร่ หากต่อสู้คดีมาตรา 112 จบ และพ้นโทษในคดีทุจริต
แต่คนที่อาจจะต้องเหนื่อยต่อคือ ‘ฝ่ายปฏิบัติ’ เกี่ยวกับการ ‘พักโทษ’ ในครั้งนี้ ว่ามีกระบวนการขั้นตอนถูกต้องหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่สังคมคลางแคลงสงสัยในหลายจุด
เหล่านี้ต้องมี ‘คำตอบ’ ที่ชัดเจนกับสังคมว่า ‘ทักษิณ’ ไม่ได้มีอภิสิทธิ์เหนือนักโทษคนอื่นๆ
คนที่จะประทับตราได้ว่า ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ คือ หน่วยงานตรวจสอบ หลังจากมีการนำเรื่องไปยื่นร้องเรียนต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวน กรมราชทัณฑ์ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ และฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องว่า มีพฤติการณ์หรือการกระทำที่ผิดประมวลจริยธรรมของข้าราชการหรือนักการเมือง และกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเอื้อประโยชน์กับนายทักษิณหรือไม่
โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันก่อนว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล
ในทีนี้มีทั้ง ‘กรมราชทัณฑ์’ ที่ต้องไล่ไปตั้งแต่ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ ‘โรงพยาบาลตำรวจ’
รวมถึงอาจจะลามไปถึงฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องคือ ‘นายกรัฐมนตรี’ และ ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม’
แนวทางการตรวจสอบของ ป.ป.ช.คือ กระบวนการต่างๆ มีกฎหมาย ระเบียบ รองรับถูกต้องหรือไม่ และมีการใช้ดุลยพินิจถูกต้องหรือไม่
กรณีนี้ ‘ฝ่ายปฏิบัติ’ จะเหนื่อยที่สุด เพราะต้องไปให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. กินระยะเวลายาวนาน เผลอๆ เกษียณอายุราชการไปแล้วอาจต้องยังต่อสู้คดีอยู่ หาก ป.ป.ช.มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน
ซึ่งมันเป็น ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ของเหล่าฝ่ายปฏิบัติทั้งหลายที่เข้าไปเกี่ยวข้อง จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจกับเรื่องนี้ก็ตาม ที่จะต้องเสียเวลามาต่อสู้คดี ในขณะที่ ‘ตัวการ’ สบายตัวไปแล้ว
เหมือนกับเรื่องนี้ หาก ‘ทักษิณ’ พ้นโทษ ก็ถือว่าพันธนาการ กระบวนการต่างๆ ถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องของ ‘ฝ่ายปฏิบัติ’ ที่อนุมัติกันมา
หมายความว่า ‘ทักษิณ’ รอดแล้ว แต่ ‘ฝ่ายปฏิบัติ’ อาจจะรอดหรือไม่รอดก็ได้
สุดท้ายฝ่ายการเมืองไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่เป็นข้าราชการประจำที่ต้องรับเคราะห์
กรณีนี้คล้ายกับคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่สุดท้ายแล้ว ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี หลบหนีไปต่างประเทศ ในขณะที่ฝ่ายการเมืองบางคน ข้าราชการบางคน ต้องเซ่นความผิดในฐานะ ‘ฝ่ายปฏิบัติ’
ไม่ว่าจะเป็น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตอธิบดีและข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องถูกจำคุกในคดีดังกล่าว
กรณี พักโทษนายทักษิณ นี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจจะได้รับความดีความชอบจากฝ่ายการเมืองในอนาคต ในฐานะที่ยอมเปลืองตัวแตะของร้อนชิ้นนี้ ซึ่งแน่นอนว่า หากดูพฤติกรรมตั้งแต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย มาจนถึงพรรคเพื่อไทย หากใครสู้ถวายหัว ไม่กลัวเจ็บตัว มักจะได้ปูนบำเหน็จเป็นการตอบแทน
แต่การ สมคบคิด เพื่อช่วยคนคนเดียวไม่ให้ติดคุกแม้แต่วันเดียว ก็ตอกย้ำ ระบบสองมาตรฐาน อภิสิทธิ์ชน และความเหลื่อมล้่ำ ทำให้ประชาชนสิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมที่ถูกทำลาย และรัฐบาลผู้มีอำนาจเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” ที่ยากจะเรียกกลับคืน!
และมันมี “ราคาที่ต้องจ่ายสูง” อาจจะกลายเป็นคนที่ต้องไปติดคุกเสียเอง หากวันหนึ่งได้รับการพิสูจน์ว่า กระบวนการทั้งหมดไม่ถูกต้อง!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม
หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว
'ทักษิณ' ฟิตจัด ลุยช่วยหาเสียงนายก อบจ. 3 วัน 9 เวที พื้นที่ภาคอีสาน
สำหรับตารางการลงพื้นที่ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) พรรคเพื่อไทย (พท.) ในพื้นที่ภาคอีสานช่วงเดือนม.ค.นี้
คปท. บุก 'แพทยสภา' ให้กำลังใจ ยึดมั่นจรรยาบรรณ พิสูจน์ความจริง ไม่ฟอกผิด 'นักโทษเทวดา'
ที่อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายนัสเซอร์ ยีหมะ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ดร.ใจเพชร กล้าจน ตัวแทนกองทัพธรรม นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ตัวแทนศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือถึง นายกแพทยสภาและกรรมการแพทยสภา เรื่อง ขอให้ยึดมั่นในจรรยาบรรณแพทย์
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
อ.แก้วสรร ออกบทความ ‘ความรับผิดชอบ’ ในคดีชั้น 14
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง “ความรับผิดชอบ”ในคดีชั้น ๑๔ โดยมีเนื้อหา ดังนี้