ถ่วงดุล "เซาะกร่อน" กระชับพื้นที่ลดอุณหภูมิ

ปรากฏการณ์ป่วนขบวนเสด็จฯ ทำให้เห็นถึงการกลับมาของฝ่าย “อนุรักษนิยม” ที่ฟื้นคืนชีพหลังจากกบดานอยู่ใต้แป้นคีย์บอร์ด ปล่อยให้ฝ่ายก้าวหน้า กลุ่มทะลุทั้งหลาย รวมถึงแฟนคลับด้อมส้มยึดครองพื้นที่ในโซเชียลมีเดียมาพักใหญ่ หลังชัยชนะของพรรคก้าวไกลในสนามเลือกตั้ง จนจริตของฝ่ายก้าวหน้าเฟื่องฟู จนกลายเป็นเทรนด์ความนิยมที่ประกอบสร้างเป็นฐานเสียงทางการเมืองของนักยุทธศาสตร์ของบางพรรค

กลุ่มคนที่กบดาน เฝ้าติดตามการเติบโตของขั้วความคิดนี้มีอยู่จำนวนไม่น้อย แม้ส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับแนวทางของพรรคก้าวไกลในหลายเรื่อง แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่อยู่เหนือการเมือง และเห็นว่ากรณีป่วนขบวนเสด็จฯ เป็นการ “ล้ำเส้น-เลยธง” จึงควรแสดงออกอย่างเปิดเผยและชัดเจนในการปฏิเสธการกระทำเช่นนี้

โดยเปลี่ยนบทบาทจากผู้สังเกตการณ์ เว้นระยะห่างกับ “ความกร้าว” ที่อาละวาดในโลกออนไลน์ในห้วงที่ผ่านมา เป็นการลงสนามแสดงออกถึงจุดยืนในการเทิดทูนกรมสมเด็จพระเทพฯ ปกป้องสถาบัน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่หวั่นจะถูกมองว่าจะเป็น “พวกสลิ่มคืนชีพ” หรือ “พวกขวาจัด”

กระแสเหล่านี้บีบรัดไปยังองค์กรที่ผูกติดกับสถาบันฯ อย่างกองทัพ-ตำรวจ ให้ออกมาปกป้อง จัดการ เลยไปถึงผู้อยู่เบื้องหลัง ในการปักธงความคิดเชิงอนาคิสต์ เพิกเฉยต่อกฎหมายและรัฐ ในการต่อสู้เรียกร้อง มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามสังคมอุดมคติในกรอบทฤษฎีที่ยึดถือเป็นสรณะ

ปรากฏการณ์ป่วนขบวนเสด็จฯ ด้วยการอัดคลิปเพิ่มน้ำหนักให้คนเห็นว่า “สร้างความเดือดร้อน” แต่ก็มาโป๊ะแตกเพราะ CCTV ที่ทำให้เห็นว่าเป็นหนังคนละม้วน เลยทำให้เป้าหมายที่จะใช้ปลุกกลุ่มเรียกร้องให้แก้ไข ม.112 ตีโต้ศาล รธน. พังไม่เป็นท่า ในทางตรงข้ามกลับเข้าทางกลุ่มที่ต้องการขุดรากถอนโคนผู้บงการกลุ่มเซาะกร่อน-บ่อนทำลายสถาบัน ไม่ให้เป็นหัวเชื้อความคิดในหมู่เยาวชน จนเป็นภัยที่ยากจะควบคุมได้

การปะทะระหว่างแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง 2 ขั้วเกิดขึ้นมาแล้วในสังคม จากประวัติศาสตร์การเผชิญหน้าระหว่างคนไทยด้วยกัน ในยุค “ขวาพิฆาตซ้าย” ในเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519, เผด็จการทหาร-ประชาธิปไตยใน “พฤษภาทมิฬ” และการปริร้าวในสังคมจากความเห็นต่างทางการเมืองระหว่างคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง

ทั้งหมดนั้นล้วนมีต้นทางมาจากความคิดทางการเมือง 2 ขั้วที่มีความเห็นต่อ “สถาบัน” ต่างกัน และไม่เคยเลือนหายไประหว่างรอยต่อรุ่นต่อรุ่น เพียงแต่สถานการณ์ในแต่ละห้วงมีวิธีการจัดการปัญหาของรัฐที่แตกต่างกันไป

ซึ่งก็คือ การบังคับใช้กฎหมาย การใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้ายุติสถานการณ์ หรือแนวทางการเมืองด้วยการใช้แนวทางสังคมจิตวิทยา และดีลการเมืองโดยมีกลไกพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือ                  

ที่ผ่านมา “กลยุทธ์” ของฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่เลือกใช้ไพ่เดินหน้าฆ่ามัน แต่ย้อนศรด้วยการนำเสนอจุดอ่อน ตีแผ่เป้าหมายที่แท้จริงของผู้อยู่เบื้องหลัง สะท้อนให้เห็นเกมที่อยู่เหนืออุดมการณ์ ผสมผสานกับเรื่องผลประโยชน์ และเครือข่ายทางการเมืองที่รอผลลัพธ์สุดท้ายปลายทาง

ถอนราก “ความฝันดันเพดาน” ไม่มีอยู่จริง มีแต่คนกำหนดเกม และเยาวชนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ พร้อมมอบสัจธรรมของผู้ที่เพิกเฉยต่ออำนาจรัฐด้วยการดำเนินคดีตามกฎหมายเมื่อกระทำความผิด เผชิญชะตากรรมอยู่ตีนโรงตีนศาล

พร้อมมัดคอเหล่าบรรดานายทุนพรรคทั้งแดง และส้ม ให้เข้ามาสู่สมการอำนาจ และการเจรจา โดยมีผลประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นตัวต่อรอง

ขณะเดียวกัน ก็รอจังหวะ และสถานการณ์ให้ผู้กระทำการบ่อนเซาะเพลี่ยงพล้ำ เปิดเจตนาที่หมกมุ่น จ้องเล่นงานสถาบันออกมาให้คนเห็น แล้วชิงพื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์กลับคืนมาให้กลุ่มที่จงรักภักดี หลังจากที่ถูกอีกฝ่ายประกาศศักดา กดทับด้วยตัวอักษรบนโลกโซเชียลมานานหลายปี

ขณะที่ฝ่ายอำนาจรัฐก็มี “สายเหยี่ยว” มองว่าการใช้แนวทางมวลชนเผชิญหน้า ใช้ยาแรงจัดการ ทั้งทางกฎหมายและสังคม เพื่อขุดรากถอนโคนพรรคการเมืองไม่ให้เป็นผลไม้พิษ ก็ยังขับเคลื่อนคู่ขนานกับ สายพิราบ อยู่ แต่สุดท้ายปลายทางของสูตรนี้ก็จะเกิดความเกลียดชัง การเผชิญหน้า และเกิดความรุนแรง นำไปสู่กระแสเรียกร้องให้มีกรรมการห้ามทัพ เป็นวัฏจักรวังวนที่ไม่จบไม่สิ้น 

ดังนั้นสูตรการสร้างสมดุลของพื้นที่ข้อมูลและการแสดงออกของคนที่มีความเห็นต่าง จึงเป็นหนทางที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้ เพราะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันที่จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวขึ้นมาได้ แม้คนไทยจะได้ประชาธิปไตยแบบ “แทงหลังเพื่อน” มาทดแทน แต่นั่นก็เป็นหนทางในการหลีกเลี่ยง “อำนาจนอกระบบ” เข้ามาจัดการ

เช่นเดียวกับการใช้จังหวะที่ดีนี้ในการปลดล็อกกลุ่มอนุรักษนิยมที่ถูกกดทับ ถูกคุมขังอารมณ์ความรู้สึก ได้แสดงออกในการปกป้องให้กำลังใจผ่านทางออฟไลน์และออนไลน์ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ทั้งภาพเขียน การ์ตูน สี เสื้อ เพื่อให้กำลังใจ ในระดับที่ถือว่า “พอเหมาะ” ไม่ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าหรือแรงปะทะ

และยังเป็นการฟื้นคืนชีพพลังกลุ่มรักสถาบัน ขึ้นมาถ่วงดุลฝ่ายวิพากษ์เจ้า ไม่ให้เซาะกร่อน-บ่อนทำลายได้ง่ายๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เวทีทวงคืนพรรคส้ม หลังพ่ายศึก อบจ.ราชบุรี

เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เปิดตัวเป็นผู้นำพรรคส้ม ลงสู้ศึกเลือกตั้งไม่สวยเท่าใดนัก หลังไม่สามารถนำทัพพรรคประชาชนปักธงเอาชนะใน ศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

สืบสันดาน'ระบอบทักษิณ' การเมืองวิปริต รอวันวิบัติ

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มี อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ทรยศหักหลัง สางแค้นคู่ปรับทางการเมือง โดยไม่สนใจมารยาทและจริยธรรมทางการเมืองแต่อย่างใด

“โผทหาร”ทบ.ร้อนระอุ ทิ้งไพ่ชิงขุมกำลังปฏิวัติ

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เหล่าทัพได้ส่ง “โผทหาร” ไปที่สำนักงานปลัดกกระทรวงกลาโหมเกือบครบหมดแล้ว เพราะเวลาที่บีบรัดเข้ามา จากกรอบเวลาที่ควรจะทำโผให้เสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือน ก.ย. เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทาง รมว.กลาโหม รักษาการ ในฐานะของประธานคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล จึงเรียกประชุมบอร์ดโยกย้ายในวัน 3 ก.ย.นี้

ปิดป่าฯ-สลาย“ปชป.” กฐินร้อนจ่อสอย“อิ๊งค์”

เป็นไปตามคาด เมื่อ “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค พท. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า สส.ไม่สบายใจที่จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะพฤติกรรมแทงข้างหลังและไม่ยอมรับนายกฯ คนที่ 31 ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค

ทักษิณ-พท.ตั้งการ์ดรับมือ ร้องยุบพรรค-ตัดสิทธิเลือกตั้ง พลิกแฟ้มคดี ถูกร้องอื้อแต่เงียบ

ทักษิณ ชินวัตร เดินจังหวะการเมืองรัดกุมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ส.ค. ทั้งก่อนและหลังเดินขึ้นตึกชินวัตร 3 ที่ปัจจุบันคือ ที่ทำการพรรคเพื่อไทยชั่วคราว และยังเป็นสถานที่วางแผนจัดตั้งรัฐบาล-ฟอร์ม ครม. รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร