ม.112 ราหูอม 'ทักษิณ' วิบากกรรมหลังพักโทษ

ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.2566 ที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงประเทศไทย และมีการส่งตัวจากเรือนจำเข้าไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จนถึงปัจจุบันก็จะครบการรับโทษของที่ 180 วัน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 เข้าเกณฑ์พักโทษ ร่วมกับ เป็นนักโทษที่มีอายุเกิน 70 ปี และมีอาการป่วย ซึ่งก่อนหน้านี้กรมราชทัณฑ์ยอมรับว่า กำลังพิจารณาพักโทษนักโทษ ซึ่งหนึ่งในนั้นมี น.ช.ทักษิณ รวมอยู่ด้วย

สำหรับการพักโทษของ น.ช.ทักษิณ มีการคาดการณ์กันว่าจำเป็นต้องใช้เกณฑ์พักโทษทั่วไป ตาม “กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก หรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ.2562”

เนื่องจากก่อนหน้านี้ในวงในฝั่ง น.ช.ทักษิณต้องการใช้เกณฑ์ “ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566"

โดยให้ผู้ต้องขังสามารถคุมขังนอกเรือนจำ โดยเฉพาะที่บ้านได้ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมราชทัณฑ์คนไหนที่กล้านั่งบอร์ดคณะกรรมการ เพื่อเซ็นเห็นชอบพิจารณาผู้ต้องขังให้ได้รับเกณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะ น.ช.ทักษิณ เพราะอาจมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ และส่อติดตารางจากเหตุทุจริตในหน้าที่

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า คาดว่าวันที่ 12 ก.พ.นี้ ราชทัณฑ์จะส่งรายงานรายชื่อผู้ต้องขังที่จะได้รับการพักโทษ โดยบุคคลที่สื่อตั้งตารอคือรายชื่อของทักษิณ

แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 12 ก.พ. ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีดังกล่าวต่อที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ได้พยายามตอบเลี่ยงๆ ว่า "เรื่องดังกล่าวไม่สามารถตอบได้มาก เพราะเป็นเรื่องสิทธิของผู้ต้องขัง โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเสนอไปยังรัฐมนตรี แต่โดยธรรมเนียมแล้วจะไม่บอกก่อน เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ ซึ่งข่าวจะปรากฏก็ต่อเมื่อผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวแล้ว ยืนยันว่าไม่ว่าจะได้รับการพักโทษจะตรงกับวันเสาร์หรืออาทิตย์ก็ต้องปล่อยตัวตามสิทธิที่เขาได้รับ"

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่าชื่อของ น.ช.ทักษิณ จะอยู่ในล็อตแรกที่กรมราชทัณฑ์จะเสนอรายชื่อผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และจะได้รับการปล่อยตัวภายในเดือนนี้ ซึ่งเมื่อนับวันครบวันรับโทษ 180 วัน จะเป็นวันที่ 18 ก.พ.นี้ ก็จะได้กลับไปพักที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

เหมือนกับที่ “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่า ได้เตรียมบ้านไว้พร้อมแล้ว แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการของกระทรวงยุติธรรม

ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องจับตากันต่อไปก็คือ กรณีของ น.ช.ทักษิณ จะกลายเป็นการสร้างกระแสความไม่พอใจให้กับสังคม จนถึงจุดระเบิดได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านถูกวิจารณ์ว่าได้ย่ำยีกระบวนการยุติธรรมจนป่นปี้ เนื่องจากไม่เคยถูกคุมขังแม้แต่วันเดียว แม้ว่าจะได้รับการอภัยโทษลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปีแล้วก็ตาม และการอ้างว่าต้องมารักษาอาการป่วยขั้นวิกฤตนั้น ก็คงมีน้อยคนนักว่าเขาป่วยจริง มีแต่ถูกมองว่าเป็นการ “สมคบคิด” โดยใช้อำนาจรัฐ และการเป็นรัฐบาลในการปกป้องดูแลจนถูกเรียกขานว่า เป็น “นักโทษเทวดา”

อีกทั้ง กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และ ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เดินทางมายื่นหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรม เพื่อคัดค้านการพักโทษของทักษิณ

โดยมองว่า "ทักษิณเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดคดีคอร์รัปชันที่ไม่ได้อยู่ในคุกแม้แต่เพียงคนเดียว แล้วจะพักโทษให้ทักษิณ ได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้รับโทษสักวัน ให้อภิสิทธิ์กับคนคนเดียวโดยไม่ได้เอากฎหมายเป็นตัวตั้ง แต่เอาทักษิณเป็นตัวตั้ง"

อีกประเด็นหนึ่งที่ยังคงต้องจับตามองคือ การอายัดตัวทักษิณจากคดี ม.112 หลังจากถูกกล่าวหาว่าทำผิดนอกราชอาณาจักร พาดพิงสถาบันฯ ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อปี 2558 โดยก่อนหน้านี้ นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ บอกความเห็นอัยการ ออกได้ 3 หน้า ได้แก่ 1.สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ครบถ้วน 2.สั่งฟ้อง หากข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว และ 3.ไม่สั่งฟ้อง หากพฤติกรรมไม่เข้าข่ายความผิด

ทั้งนี้ ต้องพิจารณาตามคำร้องหนังสือขอความเป็นธรรมที่ ทักษิณแย้งมาว่า มีข้อต่อสู้อะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงในสำนวนได้ หากไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติม ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้

นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ยังไม่มีคำสั่งพักโทษทักษิณ แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัด และกรมราชทัณฑ์ได้ตอบรับการอายัดตัวเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2566 ซึ่งคดีนี้หากมีการพักโทษ ทางเรือนจำจะต้องแจ้งไปยังพนักงานสอบสอนให้มารับตัวทักษิณไว้มาดำเนินการควบคุม ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวน หรือนำตัวไปขอศาลฝากขัง ก่อนจะแจ้งผลการควบคุมตัวมาที่พนักงานอัยการว่าได้มีการควบคุมตัวทักษิณอย่างไร

การแถลงของโฆษกอัยการสูงสุดทำให้ทราบว่า น.ช.ทักษิณ กำลังถูกดำเนินคดี ในมาตรา 112 และต้องถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดีต่อ แต่ทางกรมราชทัณฑ์ก็ยังไม่มีหนังสือแจ้งออกมาให้ทราบ รวมไปถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม-พ.ต.อ.ทวี ก็ยังโบ้ยให้เป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ รวมไปถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่โบ้ยกันไปมา ไม่ยอมชี้แจง

ดังนั้นในนาทีนี้ก็ต้องจับตาว่าในที่สุดแล้ว น.ช.ทักษิณจะได้รับการพักโทษหรือไม่ รวมไปถึงจะถูกดำเนินคดีในคดีความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่                     นอกจากนี้ยังจะได้รับสิทธิ์การประกันตัวในคดีนี้หรือไม่

 แต่ดูทรงแล้วอาจได้รับการประกันตัว เนื่องจากคดีนี้ น.ช.ทักษิณ ไม่ได้มีพฤติกรรมหลบหนี และมีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง โดยเฉพาะในช่วงการพักโทษจะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ และห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต

จึงต้องลุ้นกันว่าดาวราหูจะโคจรรอบตัวทักษิณอีกนานแค่ไหน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม

หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว

'ทักษิณ' ฟิตจัด ลุยช่วยหาเสียงนายก อบจ. 3 วัน 9 เวที พื้นที่ภาคอีสาน

สำหรับตารางการลงพื้นที่ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) พรรคเพื่อไทย (พท.) ในพื้นที่ภาคอีสานช่วงเดือนม.ค.นี้

คปท. บุก 'แพทยสภา' ให้กำลังใจ ยึดมั่นจรรยาบรรณ พิสูจน์ความจริง ไม่ฟอกผิด 'นักโทษเทวดา'

ที่อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายนัสเซอร์ ยีหมะ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ดร.ใจเพชร กล้าจน ตัวแทนกองทัพธรรม นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ตัวแทนศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือถึง นายกแพทยสภาและกรรมการแพทยสภา เรื่อง ขอให้ยึดมั่นในจรรยาบรรณแพทย์

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา