'จำกัดอำนาจ-พันธนาการ‘รบ.เศรษฐา’ ‘อำนาจเก่า’ยังไม่ไว้ใจ‘พท.-ทักษิณ

ที่ผ่านมาแม้พรรคก้าวไกลจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนไม่กล้าแตะต้องคือ กรณีการรักษาตัวอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของนายทักษิณ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเหลือไมตรีเอาไว้ เผื่อต้องร่วมงานกันในอนาคต”

ผ่านมาหลายเดือน แต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ยังไม่สามารถเดินหน้าโปรเจกต์สำคัญๆ ของตัวเองได้เลย โดยเฉพาะนโยบายชูโรงตอนหาเสียงเลือกตั้งอย่างโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท

เสมือนหนึ่งว่ามีอะไรมาตีกรอบ หรือจำกัดแนวทางเอาไว้

ขนาดว่าถอยมาแล้วหลายก้าว ทั้งการเพิ่มเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้มีเงินในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท การยอมมาใช้วิธีออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการ เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย แต่จนแล้วจนรอดยังยักตื้นติดกึกยักลึกติดกักอยู่จนทุกวันนี้ ไม่กล้าเดินหน้าเต็มตัว

ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามลดความเสี่ยงต่างๆ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยดูข้อกฎหมายว่าสามารถออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยผ่านกลไกสภาได้หรือไม่ แต่คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกากลับออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจของรัฐบาล

เพราะสุดท้ายแล้วความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จะแม้ระบุว่าสามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้ แต่การให้ปฏิบัติตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 อย่างเคร่งครัด มันแทบไม่ได้เป็นคุณกับรัฐบาลเลย

               เนื่องจากถ้ายึดตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 รัฐบาลจะต้องติดกึกกับเรื่องความคุ้มค่า ความจำเป็น ความเร่งด่วน และเรื่องว่า "วิกฤต" หรือ "ไม่วิกฤต" อยู่ดี

ซึ่งคนที่จะตัดสินว่าวิกฤตหรือไม่ คือหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นคงไม่มีปัญหา เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งเป็น รมว.การคลัง อีกตำแหน่ง แต่ที่ยากจะคอนโทรลให้เห็นพ้องหรือคิดเหมือนกันคือ "ธปท." ที่มีความเป็นอิสระ รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้

ไหนจะเจออีกด่านสำคัญ ที่แม้ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ แต่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำให้รัฐบาลพะวงหน้าพะวงหลัง

ซึ่งก่อนหน้านี้ข้อเสนอแนะร่างแรกของคณะการศึกษาเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ได้หลุดรอดออกมา โดยเนื้อหารุนแรง สรุปเลยว่า เสี่ยงผิดกฎหมาย และเสี่ยงทุจริตหลายข้อ

ทำเอารัฐบาลต้องชะลอการเดินหน้า เพื่อรอข้อเสนอแนะอย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช. เพื่อเอาให้แน่ใจว่าเนื้อหาเป็นดังที่เผยแพร่ออกมาก่อน

กระทั่งมีการปรับปรุงเนื้อหาในคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่เสร็จสิ้น มีการแก้ไขถ้อยคำบางคำให้ดูซอฟต์ลง เสมือนลดโทนความหนักหน่วง แต่ปรากฏว่าประเด็นสำคัญของคณะกรรมการศึกษาฯ ชุดของ น.ส.สุภา จากทั้งหมด 8 ข้อ ยังอยู่ครบถ้วนเหมือนเดิม แทบมองไม่ออกถึงความแตกต่าง

ทั้ง ป.ป.ช.มองว่าเศรษฐกิจแค่ชะลอตัว ไม่ได้ถึงขั้นวิกฤต ทั้งความเสี่ยงในการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.เงินตรา พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ซึ่งสัญญาว่าจะให้ ตลอดจนการแนะนำให้รัฐบาลช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

เล่นเอารัฐบาลที่คาดหวังว่ามันจะดีกว่าเดิม ถึงขั้นออกอาการหงุดหงิด มองว่า ป.ป.ช. "ล้ำเส้น" มากเกินไป โดยนายเศรษฐาระบุเลยว่า ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่วนเรื่องนโยบายเป็นของรัฐบาล

“หน้าที่ ป.ป.ช. คือตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่วนนโยบายจะให้ใครบ้างเป็นของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคำนึงถึง”

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะดูเหมือนไม่ค่อยเกรงกลัวข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. หากแต่ในทางปฏิบัติมันทำเอารัฐบาลไขว้เขวเหมือนกันว่าจะเดินอย่างไรต่อดี โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีนายกฯ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาเรื่องนี้กันในสัปดาห์

เพราะยิ่งเดินยิ่งยาก หน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลเตรียมจะรับฟังความคิดเห็น ซึ่งสามารถชี้วัดได้ดีอีกแห่งคือ "ธปท." ก็พอจะเดาแนวโน้มออกมาว่า ยากจะเห็นด้วยกับรัฐบาลในเรื่องว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังวิกฤต

ขนาดนายเศรษฐา ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ จะรุมกดดันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. เป็นประธาน ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างหนัก แต่สุดท้ายที่ประชุม กนง.กลับไม่ได้รู้สึกกดดันแต่อย่างใด แต่มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5 เช่นเดิม

ปฏิกิริยาของนายเศรษฐา และองคาพยพในรัฐบาลฟากพรรคเพื่อไทย แสดงออกชัดว่าไม่พอใจรุนแรง คล้ายกับเมื่อเห็นข้อเสนอแนะฉบับไฟนอลของ ป.ป.ช.ที่ออกมาในวันเดียวกัน

นายเศรษฐาประกาศว่า น้อมรับความเห็น แต่ "ไม่เห็นด้วย" กับการคงอัตราดอกเบี้ยของ กนง.

“ก็ต้องน้อมรับว่าเป็นหน้าที่ของเขา เราไม่มีสิทธิไปก้าวก่ายอะไร หน้าที่ของผมคือให้ข้อคิดเห็นในฝ่ายรัฐบาลว่าควรจะทำอย่างไรบ้าง ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอยู่ตรงไหน แต่ผลโหวตออกมาอย่างนั้น รัฐบาลไปก้าวก่ายไม่ได้ ถามว่าเห็นด้วยไหม คงไม่เห็นด้วย”

ซึ่งมีบางฝ่ายให้ข้อสังเกตและให้เฝ้าจับตาว่า บางทีรัฐบาลอาจจะอาศัยข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ตลอดจนความเห็นของ ธปท.มาเป็น "ทางลง" ของโครงการนี้เหมือนกัน โดยใช้เป็นข้ออ้างว่าถูกต่อต้านและขัดขวางจากหลายฝ่าย

อย่างไรก็ดี เส้นทางที่ขรุขระ ไม่มีอิสระเต็มที่ของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย มีบางส่วนมองว่าเกิดจาก "กลุ่มอำนาจเก่า" ยังไม่ไว้วางใจและหวาดระแวงในตัวพรรคเพื่อไทย รวมไปถึง "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี

เพราะหากไม่นับฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล ที่ต้องคัดค้านตามบทบาทแล้ว องคาพยพที่ทำหน้าที่ขัดแข้งขัดขารัฐบาลอยู่ล้วนเป็นกลไกจาก "กลุ่มอำนาจเก่า" ทั้งสิ้น

สว.ที่เคยร่วมโหวตให้นายเศรษฐาได้เป็นนายกรัฐมนตรี วันนี้กลับมายื่นขออภิปรายโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อซักฟอกรัฐบาล ทั้งที่เพิ่งจะโหวตกันมาไม่กี่เดือน

หรือการที่นายทักษิณใกล้จะได้พักโทษในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ หรืออย่างช้า 22 กุมภาพันธ์ แต่กลับถูกขออายัดตัวในข้อหาผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีไปให้สัมภาษณ์สื่อที่เกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2558

ซึ่งแม้จะได้รับอิสรภาพในคดีทุจริต แต่ยังมีชนักปักหลังเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ต้องต่อสู้คดีอยู่ ไม่ได้พ้นพันธนาการในทีเดียว

ความไม่ไว้วางใจนี้ ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมในอดีตที่ยากจะคอนโทรล ฉะนั้นจึงไม่สามารถปลดปล่อยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

กับอีกส่วนหนึ่งคือ ความหวาดระแวงว่าพรรคเพื่อไทยจะกลับไปจับมือกับพรรคก้าวไกลในอนาคต เพราะต้องไม่ลืมว่า ในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ สว.ชุดแรกจะหมดวาระลง พร้อมๆ กับอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรีที่จะหมดไปด้วย ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องพึ่ง สว. หรือแม้แต่กระทั่งบางพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคในปัจจุบันที่จำเป็นต้องจับมือกันตั้งรัฐบาล แลกกับอะไรบางอย่าง

ที่ผ่านมาแม้พรรคก้าวไกลจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนไม่กล้าแตะต้องคือ กรณีการรักษาตัวอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของนายทักษิณ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเหลือไมตรีเอาไว้ เผื่อต้องร่วมงานกันในอนาคต

ขณะที่ไม่กี่วันก่อน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ให้สัมภาษณ์ในรายการยูทูบช่องหนึ่งว่า แม้จะโกรธพรรคเพื่อไทยที่ทิ้งไป แต่ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่รับหากวันหนึ่งพรรคเพื่อไทยจะกลับมาอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตย

พรรคเพื่อไทยเอง วันนี้แม้จะได้เป็นรัฐบาล แต่ก็รู้สึกอึดอัด เพราะไม่สามารถบริหารประเทศได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีการประกบอยู่

ประกอบกับหากพรรคเพื่อไทยกลับไปอยู่กับพรรคก้าวไกล มันอาจลดทอนความโกรธ เกลียด ของแฟนคลับซีกนั้นได้มากกว่าอยู่ในซีกนี้

ด้วยเหตุนี้ มันจึงทำให้ "กลุ่มอำนาจเก่า" ไม่สามารถวางใจได้ และจำเป็นต้องผูกพันธนาการด้วยบางอย่างเอาไว้ไม่ให้โดนหักหลังในวันข้างหน้า.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม

หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ

นพดลวอนหยุดปั่นเกาะกูด ‘คำนูณ’ แนะชั่งข้อ ‘ดี-เสีย’

“นพดล” ย้ำ “เกาะกูด” เป็นของไทย เอ็มโอยู 44 ไม่ได้ทำให้เสียดินแดน วอนเลิกบิดเบือนหวังผลการเมือง “คำนูณ” ชำแหละบันทึกความตกลง เป็นคุณกับกัมพูชามากกว่า

อยู่เหนือการควบคุม พท.โยนบาปปมแก้ ‘รธน.’ ‘แม้ว-เนวิน’ คุมการเมือง

"พท." เล็งยื่นร่าง กม.นิรโทษกรรมเดือน ธ.ค.นี้ ยันไม่ล้างผิด ม.112-คดีทุจริต "นพดล" รับ กม.ประชามติงานยาก ต้องโน้มน้าว สว.เห็นตามเกณฑ์ชั้นเดียว แย้มใช้เกณฑ์ 20%

ท้ารัฐบาลอยากตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แน่จริงก็เอาสิ เชื่อพลังแผ่นดินจะเกิดขึ้น

'จตุพร' ท้ารัฐบาลอยากตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แน่จริงก็เอาสิ ชี้แม้ลาออกจากพท.แล้วแต่ความสัมพันธ์ยังแนบแน่น ยุรีบตั้งทั้งบ่อน ทั้งแลนด์บริดจ์ ซุกที่ดิน 99 ปี เชื่อพลังแผ่นดินจะเกิดขึ้น ถึงคราต้องลุกต่อต้านรัฐบาลขายแผ่นดิน

'เพื่อไทย' ไม่ฟังเสียงต้าน! ดันทุรังเข็น 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?

การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ