สด.43 เคยเป็นประเด็นอื้อฉาวมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.2542 เมื่อบุตรชายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ขณะนั้น ใช้ “สด.43 ปลอม” เข้ารับราชการตำรวจ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ให้ออกจากราชการ พร้อมทั้งดำเนินคดีอาญา ฐานปลอมแปลงเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม
เรื่องดังกล่าวยังกลายเป็นประเด็นต่อเนื่อง เมื่อ สส.พรรคความหวังใหม่ได้โจมตีว่า สส.ประชาธิปัตย์หลายคนก็ "หนีทหาร" มีการพุ่งเป้าไปที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่ใช้ สด.9 ปลอม จนทำให้นักการเมือง รัฐบาล และกองทัพในตอนนั้น ออกมายืนยันว่า สด.9 ฉบับดังกล่าวไม่ปลอม แต่เจ้าตัวไปขอออกใบแทน เพราะเอกสารเก่าหาย แต่ก็ถือว่าเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการตรวจเลือกทหาร เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร เพียงแต่คดีหมดอายุความไปก่อน
หลังจากนั้นกองทัพก็ถูกตั้งคำถามถึงกรอบการปฏิบัติ และการออกเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหารได้กระทำอย่างเป็นมาตรฐานเดียว และความโปร่งใสหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ถ้าเป็นลูกชาวบ้าน ตาสี-ตาสา ต่างต้องก้มหน้าก้มตาจับใบดำ-ใบแดง ยอมรับชะตากรรมพลิกชีวิตเข้าไปเป็น “พลทหาร” ตรากตรำกับการฝึก และรับใช้นาย ต่างจากเหล่าบรรดาอภิสิทธิ์ชนที่ ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ย้อนกลับไปในยุคนั้น ขบวนการซื้อขาย สด.43 ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งสัสดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง บุคคลทั่วไป เป็นนายหน้าซื้อขายอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย เนื่องจากมีผลประโยชน์มหาศาลเป็นเดิมพัน เม็ดเงินดังกล่าวเพียงพอที่มีการแบ่งสันปันส่วนกันได้อย่างอิ่มหมีพีมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดภาคตะวันออกอย่าง ฉะเชิงเทราและชลบุรี ที่ขึ้นชื่อกันในแวดวง
ทำให้ผู้นำเหล่าทัพในยุคนั้นต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อฟื้นภาพลักษณ์ขององค์กรให้กลับมาเป็นที่เชื่อถือ ล้างตรรกะที่ว่า “ใครๆ เขาก็ทำกัน” ด้วยการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด พร้อมออกกฎเหล็ก มาตรการควบคุม กวดขันอย่างเข้มข้น ย้ำด้วยการออกมติ ครม.ขอความร่วมมือให้หน่วยงานต่างๆ ต้องใช้เอกสารการเกณฑ์ทหารประกอบการสมัครงาน
พร้อมยกเครื่องการฝึก การปฏิบัติ ให้ผู้ที่เข้าสู่รั้วทหารให้เป็นไปตามมาตรฐานมากขึ้น อีกทั้งกระบวนการการตรวจเลือกก็เปิดกว้างกว่าเมื่อก่อน ด้วยปัจจัยเรื่องสิทธิมนุษยชนกำลังเริ่มเฟื่องฟู ทำให้มีการร้องขอให้เลิกคำเรียกว่า “ไอ้เณร” ที่ใช้กันอย่างดาษดื่นในยุคนั้น และให้มาใช้คำทางการ อย่างเช่น ทหารเกณฑ์ พลทหาร ทหารกองประจำการแทน
เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาแล้ว 20 กว่าปี การซื้อขายใบ สด.43 ปลอมแทบจะไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว อีกทั้งระบบการตรวจเลือกทหารก็มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ แต่ค่ายทหารบางแห่งก็ยังมีเหตุใช้ความรุนแรงต่อทหารกองประจำการ หรือแม้กระทั่งเลี้ยงไก่ ซักกางเกงในคุณนาย ก็ยังมีให้เห็นเป็นข่าวบ้างในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
ส่วนเรื่อง สด.43 ปลอม มรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุคก่อน ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง เจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ ซึ่งมีฐานะ หรือสถานะที่จะเอื้ออำนวยให้ลูกตัวเองไม่ต้องเกณฑ์ทหารได้นั้น ก็จะมาเริ่มโผล่ให้เห็นในยุคนี้ ยิ่งถ้าเป็นผู้ที่ต้องอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ มีหน้ามีตาทางสังคม เช่นกรณีของ สส.จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ พรรคก้าวไกล ก็จะถูก “เปิดแผล” จากฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย
ยิ่งเอกสารเกณฑ์ทหารเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ การหาหลักฐานหักล้างเมื่อถูกดำเนินคดีทางอาญาจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการสืบสวน สอบสวนกันต่อไป แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ต่างจากยุคก่อน
แต่ก็ใช่ว่าการตรวจเลือกทหารจะโปร่งใส-เท่าเทียมกัน 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการใช้เทคนิค อาศัยช่องว่าง และการชี้ช่องของคณะกรรมการตรวจเลือกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบางคนยังมีอยู่ ซึ่งส่งผลให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบเหมือนกัน
ปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า “ชายไทย” ไม่อยากเกณฑ์ทหาร เพราะเสียทั้งเวลา โอกาสในการทำงาน และสุ่มเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต การหาช่องทางในการไม่ต้องเกณฑ์ทหารจึงมีอยู่ต่อไป
ก้าวไกลเห็นประเด็น และหยิบแนวทาง “ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร” เป็นนโยบายเรือธงควบคู่ไปกับการเดินหน้า “ปฏิรูปกองทัพ” และขจัดธุรกิจเชิงพาณิชย์ ขุมทรัยพ์แดนสนธยานอกงบประมาณ
ชิงคะแนนเสียงของเยาวชน คนรุ่นใหม่ไปทุกหย่อมหญ้า แม้กระทั่งในเขตทหาร รร.ทหารหลายแห่ง รวมไปถึง รร.นายร้อย จปร. นครนายก พรรคส้มก็คว้าชัยชนะทุกสนาม
สร้างพลังเชิงรุกให้ สส.ของพรรคท้าชน ตรวจสอบกองทัพอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่แถวหนึ่งยันแถวสาม ท่ามกลางเสียงเชียร์จากสื่อสังคมออนไลน์ในฝ่ายที่สนับสนุน โดยที่ สส.ปากแจ๋วบางคนก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองก็เคยใช้โครงสร้างนี้เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง
ในตอนนั้นกองทัพบกมีแนวทางในการปรับปรุง พัฒนา ปรับภูมิทัศน์บ้านตัวเองไว้รอล่วงหน้า เพราะรู้ดีว่ากระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลง และพัดมาอย่างหนักหน่วง จะเอาอะไรไปขวางก็คงเอาไม่อยู่
โดยเฉพาะการเกณฑ์ทหาร “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพ (ศปก.ทบ.) กวดขันกระบวนการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารให้มีความโปร่งใส
นอกจากนั้นยังได้วางแนวทางการเปิดรับสมัครทหารออนไลน์ เพิ่มแรงจูงใจในการสมัครสอบเป็นนายสิบ และสิทธิอื่นๆ เข้ามา เพื่อเข้าไปสู่แผนการทยอยยกเลิกบังคับการเกณฑ์ทหารตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังต้องลุ้นต่อไป เพราะผู้สมัครมาก แต่ก็ใช่ว่าจะผ่านคุณสมบัติที่กำหนด
ว่ากันว่า ในตอนนั้น “แม่ทัพภาค” ต่างเข้มงวดกวดขันประธานคณะกรรมการตรวจเลือก กรรมการ และสัสดี อย่ากระทำการทุจริตเป็นเด็ดขาด เพราะมาตรการคาดโทษของผู้บังคับบัญชาหนักหน่วง
โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 3 ขณะนั้น พล.อ.สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 22 ของ “บิ๊กบี้” ที่เกษียณอายุราชการเมื่อ ต.ค. ปี 2566 จัดชุดพิเศษไปจับตาที่หน่วยตรวจเลือกพิสูจน์ทราบการปฏิบัติของกำลังพลตัวเองว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่ รวมไปถึงตรวจสอบอย่างเข้มข้น
ถึงขนาดว่าก่อนเกษียณก็มีคำสั่งงดบำเหน็จ ลงโทษกำลังพลที่พิสูจน์ทราบว่ากระทำการทุจริตหลายคน มีรายชื่อยาวเป็นหางว่าว เนื่องจากมีการจัดชุดไปตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง จัดการผู้ใช้อำนาจหน้าที่ชี้ช่อง เอื้อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นพิเศษ
ตามมาในยุค พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ได้ย้ำให้หน่วยปฏิบัติอย่างหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน บริหารจัดการ ทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามเป้าหมายในการเดินสู่การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจล่วงหน้าไปก่อน ไม่ได้แข็งขืนหรือฝืนกระแสความต้องการของสังคม
จึงไม่แปลก ถ้าจะมีการวิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์ สด.43 ของ สส.ก้าวไกล ถูกขุดมาเล่นงานจากเพจ “วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร” เป็นไอโอกองทัพ ที่ไม่ต้องการติดเบรก ลดความน่าเชื่อถือของ “ตัวตึง” ที่ “ไม่คลีนจริง” เพราะไม่ต้องการให้ “ล้ำเส้น” มากเกินไป ในช่วงที่กองทัพขอกวาดบ้านตัวเอง
ผลพวงที่ต้องยอมรับคือ ความผิดย่อมเกิดกับ “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” เหมือนที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ระบุไว้ นำไปสู่การสอบสวนย้อนหลังไปถึงการได้มาซึ่งเอกสาร ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ หรืออาจเป็นเอกสารเถื่อนที่มีเกลื่อนเมืองในยุคนั้น ที่ลือกันให้แซ่ดว่าปั๊มขายกันเป็นขบวนการ
แต่ที่ดำเนินการแล้วคือ พล.ท.ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ได้มอบหมายให้นายทหารพระธรรมนูญ เข้าแจ้งความดำเนินคดี สส.จิรัฏฐ์ ที่ สน.ประชาชื่น ข้อหาปลอมแปลงหรือใช้เอกสารราชการปลอม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี