มาตรา 112 สะกด'ทักษิณ' ปิดช่องตลบหลังอำนาจเก่า

ทำท่าว่านักโทษเทวดาชั้น 14 "ทักษิณ ชินวัตร" จะได้กลับบ้านจันทร์ส่องหล้า ไม่ติดคุกสักวัน ชักจะไม่ง่ายเสียแล้ว

เมื่ออัยการสูงสุด และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยอัยการสูงสุดเตรียมอายัดตัว "ทักษิณ" ต่อกรมราชทัณฑ์ หากได้รับการพักโทษระหว่างวันที่ 18 ก.พ.นี้ เพื่อเตรียมดำเนินคดีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพ์ จากกรณีให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ ที่ประเทศเกาหลี พาดพิงสถาบัน เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2552  

เนื่องจากมีรายงานว่า "มีชื่อของนายทักษิณ” เป็นหนึ่งในนักโทษกรณีพิเศษ พร้อมกับผู้ต้องขังรายอื่นอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาเห็นชอบพักโทษ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินคดีและกฎหมาย อัยการสูงสุดอาจขออายัดตัวในวันที่พักโทษออกมาจากโรงพยาบาลเพื่อสั่งฟ้อง และให้ศาลพิจารณาให้ประกันตัวหรือจำคุกเพื่อต่อสู้คดีต่อไป

หรืออาจจะสั่งยกฟ้องหลังทักษิณยื่นขอความเป็นธรรมให้พิจารณาคดีอีกครั้ง หลังอัยการสูงสุดเคยสั่งฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2559 หากเป็นเช่นนั้นก็ได้กลับบ้าน

"พิชิต ชื่นบาน" ที่ปรึกษาของนายกฯ และอดีตทนายความทักษิณ แสดงความมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ว่า นายใหญ่ เมื่อได้พักโทษจะได้กลับบ้าน ไม่ถูกอายัดตัวแต่อย่างใด ซึ่งก็ต้องดูว่าจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ 

แต่ในมุมการเมืองหาได้มองเช่นนั้นไม่ และมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา หากสมมุติว่าท้ายสุด "ทักษิณ" ถูกดำเนินคดีฐานความผิดมาตรา 112 ไม่เพียงจะสุ่มเสี่ยงมิได้สู่อิสรภาพและกลับบ้านแบบเท่ๆ แล้ว ยังกระทบไปถึงจุดยืนและเสถียรภาพของพรรคเพื่อไทยต้องสั่นคลอนตามหรือไม่ 

โดยเฉพาะข้อเรียกร้องในเรื่องการนิรโทษกรรมที่กำลังเป็นประเด็นสังคมในขณะนี้ ว่าจะเหมารวมคดีมาตรา 112 หรือไม่ ภายใต้การขับเคลื่อนของพรรคก้าวไกล และองค์กรเครือข่ายทั้งในและนอกประเทศ เพราะมีคนในกระบวนการถูกดำเนินคดีและสูญสิ้นอิสรภาพมาจากปมมาตรา 112 

หลังพรรคเพื่อไทย นำโดย "แพทองธาร ชินวัตร" บุตรสาวนายใหญ่ ประกาศไม่แตะต้องมาตรา 112 รวมถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับมาตรา 1 และมาตรา 2 และหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน

ล่าสุด “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จุดยืนเรื่องมาตรา 112 ของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไรหลังสภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม จะนำมาตรา 112 มารวมอยู่หรือไม่ ว่า จุดยืนของเราคือเรื่องอะไรที่มีความอ่อนไหวที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่และยังมีความเห็นต่างกัน ต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อน  ถ้ายังหาข้อสรุปไม่ได้ไม่ควรหยิบยกขึ้นมา พรรคเพื่อไทยชัดเจน จะเห็นว่าในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจึงไม่แตะเรื่องมาตรา 112 จนกว่าทุกอย่างจะชัด และเชื่อว่าถ้ายังคงเป็นเช่นนี้ ไม่ควรไปแตะต้อง เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่นอกเหนือการเมือง เมื่อสภาพสังคมเป็นเช่นนี้ ไม่ควรหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาและไปกระทบกระเทือนสถาบัน 

"ผมเคยตอบกระทู้ของนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ถามในเรื่องนี้ว่าทำไมต้องไปหมกมุ่นเรื่องนี้ ทำไมไม่มาสนใจเรื่องที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชน"  

แต่กรณีของ “ภูมิธรรม” ให้ความเห็นนั้น ก่อนที่เรื่องมาตรา 112 ของนายใหญ่จะกลับมาเป็นประเด็น จึงต้องดูว่าสุดท้ายหากถูกสั่งฟ้องจริง “เพื่อไทย” จะมีท่าทีอย่างไร เปลี่ยนจุดยืนหรือไม่

หรือจะแกล้งหลับหูหลับตา ปล่อยเกียร์ว่างให้พรรคก้าวไกลออกหน้าทั้งในชั้น กมธ. หรือพิจารณากฎหมายในสภา เพื่อให้ "ทักษิณ" ได้รับประโยชน์ทางอ้อมไปหรือไม่  

เช่นเดียวกับ "พริษฐ์ วัชรสินธุ" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ออกมาทอดสะพานว่า หากทักษิณถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มีเหตุจูงใจทางการเมือง ก็จะได้รับการนิรโทษกรรมด้วย  

ยังมีการประเมินว่า การดำเนินคดีมาตรา 112 แก่ “นักโทษเทวดา” ยังเป็นการช่วยลดกระแสสังคมไม่ให้ออกจากการควบคุมตัวจากเรือนจำมาง่ายๆ ที่มองว่าทำตัวเสมือนอยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม โดยมีเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ติดตามเรื่องนี้ สะสมพลัง รอวันสถานการณ์จุดติด และหากมีสถานการณ์อื่นๆ เข้ามาแทรก เช่น “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ เดินตามโมเดลพี่ชาย ก็อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้พรรคเพื่อไทยแพ้ทั้งกระดานก็เป็นได้ และลามไปถึงผู้มีอำนาจ

นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่า ต้องการล่ามโซ่ตรวนด้วยคดี 112 เพื่อจับ "ทักษิณ " เนื่องจากผู้มีอำนาจเก่ายังไม่ไว้วางใจ "นายใหญ่" แม้ว่าจะกลายมาเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเหลิงอำนาจ แทรกแซงทุกองค์กร ทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ เมื่อสถานการณ์ข้างหน้าเปลี่ยน เช่นในอนาคตพรรคส้มชนะเลือกตั้งได้ สส.เข้ามาในสภาจำนวนมาก อาจทำให้ทักษิณตลบหลังผู้มีอำนาจร่วมรัฐบาลได้ทุกเมื่อ อย่างที่เคยหักหลังคนในเครือข่ายมาหลายกรณี

สอดรับกับการให้สัมภาษณ์ของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ผู้นำทางจิตวิญญาณ และนายทุนพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 20 พ.ย.66 หลังยอมรับเคยพบ “ทักษิณ” ที่เกาะฮ่องกง ช่วงจัดตั้งรัฐบาล  

"รู้สึกเสียใจและเจ็บปวดที่สุดที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล แต่ก็เข้าใจข้อจำกัดของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ถึงแม้จะเสียใจ แต่สำหรับผม พรรคเพื่อไทยคือมิตร และทางออกที่จะทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าต้องมี 2 พรรคนี้ ฝากถึงเพื่อนในพรรคก้าวไกลและแกนนำพรรคเพื่อไทยด้วย อนาคตของประเทศไทยอยู่ในมือคุณทั้งสอง" 

ยังตอกย้ำอีกครั้งผ่านการสัมภาษณ์ในรายการ "ป๋าเต็ดทอล์ก" เมื่อวันที่ 2 ก.พ.67 ตอนหนึ่งว่า "ถามว่าผมโกรธแกนนำเพื่อไทยไหม โกรธนะ เสียใจนะ แต่ถ้าเกิดแกนนำพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะกลับมายืนอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตย ผมนึกเหตุผลที่จะไม่ต้อนรับพวกเขาไม่ออก" หัวหน้าคณะก้าวหน้ากล่าว

ด้วยเหตุผลทางการเมืองเหล่านี้ ผู้มีอำนาจจึงต้องล่ามโซ่ทักษิณด้วยคดีมาตรา 112. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม

หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว

'ทักษิณ' ฟิตจัด ลุยช่วยหาเสียงนายก อบจ. 3 วัน 9 เวที พื้นที่ภาคอีสาน

สำหรับตารางการลงพื้นที่ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) พรรคเพื่อไทย (พท.) ในพื้นที่ภาคอีสานช่วงเดือนม.ค.นี้

คปท. บุก 'แพทยสภา' ให้กำลังใจ ยึดมั่นจรรยาบรรณ พิสูจน์ความจริง ไม่ฟอกผิด 'นักโทษเทวดา'

ที่อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายนัสเซอร์ ยีหมะ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ดร.ใจเพชร กล้าจน ตัวแทนกองทัพธรรม นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ตัวแทนศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือถึง นายกแพทยสภาและกรรมการแพทยสภา เรื่อง ขอให้ยึดมั่นในจรรยาบรรณแพทย์

'ธนาธร' แนะรัฐบาลทำ 'เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์' ต้องรัดกุม ปิดช่องมิจฉาชีพใช้ฟอกเงิน

'ธนาธร' ชี้ ทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ต้องรัดกุม ปิดช่องมิจฉาชีพใช้ฟอกเงิน แนะรบ.ฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย ระบุทางออกเดียวเรียกความเชื่อมั่นไทย

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา