‘ป.ป.ช. ’ลดโทน ‘ผลศึกษาแจกเงินดิจิทัล’ รัฐบาลผ่านหนึ่งเปราะ เหลือ ‘ด่านธปท.’

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เรียบร้อยแล้ว และกำลังส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)

สำหรับเนื้อหาที่จะส่งให้รัฐบาลนั้น มีการปรับปรุงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ใน 3 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ ป.ป.ช. ยืนยันว่า ตัวเองมีอำนาจตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการก้าวก่ายนโยบายรัฐบาล

  ประเด็นที่สอง คือ ปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ โดยลดโทนและไม่มีการฟันธงว่า เกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการศึกษาปัญหาเศรษฐกิจระดับจุลภาคมาประกอบ

และประเด็นที่สาม ตัดถ้อยคำที่ว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการหาเสียงที่ “อาจเข้าลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้ออก

สำหรับข้อเสนอแนะดังกล่าวที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช.นี้ ถือเป็น ‘ฉบับไฟนอล’ และลดโทนความร้อนแรงจากฉบับแรกของคณะกรรมการศึกษาฯชุดของ น.ส.สุภา ไปได้เยอะ

โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘วิกฤติ’ หรือ ‘ไม่วิกฤติ’ ที่รายงานฉบับแรกซึ่งหลุดออกมาก่อนกำหนด ค่อนข้างชี้ชัดว่า เศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ ‘ยังไม่วิกฤติ’

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่เบาลงคือ เรื่อง ‘สัญญาว่าจะให้’ ซึ่งเสี่ยงจะขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ถูกแก้ไข

เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลเบาใจขึ้นเยอะ เพราะหากยึดตามข้อเสนอแนะฉบับแรก หมายความว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะไม่สามารถเดินหน้าได้เลย แม้ ป.ป.ช.จะไม่มีอำนาจในการขัดขวางนโยบายก็ตาม เพราะเหมือนเป็นการ ‘แตกหัก’ ไม่สนคำเตือนของหน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

และเป็นอีกเหตุที่จะทำให้องค์กรอื่นๆ ไม่กล้าเสี่ยงลุยไฟไปกับรัฐบาล เพราะกลัวว่า จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดกฎหมายครั้งนี้

 ‘ด่าน ป.ป.ช.’ ถือเป็นด่านสำคัญ ที่ทำให้รัฐบาลลังเลมาก เพราะมีบาดแผลมาจากโครงการรับจำนำข้าว เมื่อข้อเสนอแนะฉบับแรกที่เหมือนป้ายเตือน ‘ห้ามเข้า’ ถูกแก้ไขโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พร้อมกับปักป้ายใหม่เป็น ‘โปรดระมัดระวัง' เพียงเท่านั้น จึงทำให้มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้

ในขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เองคงเล็งเห็นเหมือนกันว่า ข้อเสนอแนะฉบับแรกก่อนแก้ไข ค่อนข้างเหาะเกินลงกา เกินคำนิยามของคำว่า ‘เสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะ’ ไป เอนไปทาง ‘ออกคำสั่ง’ จึงปรับปรุงใหม่ให้นุ่มนวลขึ้น

แต่ไม่ได้หมายความว่า ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ฉบับไฟนอล คือ สัญญาณ ‘ไฟเขียว’ เพราะ ป.ป.ช. ไม่ได้มีอำนาจอนุมัติ หรือ ไม่อนุมัติ แต่มีแค่อำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และเสนอแนะเท่านั้น ประหนึ่งคำเตือน ซึ่งรัฐบาลจะฟังหรือไม่ฟังก็ได้   

เพียงแต่ว่า เมื่อ ป.ป.ช.ได้เสนอเข้ามาแล้ว รัฐบาลจะปฏิบัติตามแค่ไหน เพียงใด ก็ได้ แต่หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาเหมือนกับโครงการรับจำนำข้าว ข้อหาว่า เตือนแล้วไม่ฟัง ไม่ระงับยับยั้ง ย่อมเกิดขึ้นได้เหมือนในอดีต

สถานการณ์ตอนนี้ ป.ป.ช.คือ ‘ไม่ขวาง’ เหลือแค่เตือนว่า มีอะไรจุดไหนที่น่าเป็นห่วง และควรจะระมัดระวังอย่างไร

หนึ่งด่านสำคัญที่หนักหนาหายไป เหลืออีก 1 ด่านคือ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศ ‘วิกฤติ’ หรือ ‘ไม่วิกฤติ’ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

โดยเฉพาะ ‘ธปท.’ ที่รัฐบาลมองว่า เป็นก้างชิ้นโตที่กลืนยาก จะเห็นได้ว่า จนถึงขณะนี้แกนนำรัฐบาลยังเปิดสงครามจิตวิทยากับ ‘ธปท.’ อยู่

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเช้าวันอังคารที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ย โดยอยากจะให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยอยู่

“วันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วเรื่องประเด็นกรอบเงินเฟ้อที่ตอนนี้ยังติดลบอยู่ ยังไม่อยู่ในจุดขั้นต่ำของกรอบเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ ฉะนั้น 2.5% ลดลงไปเหลือ 2.25% ก็ยังมีพื้นที่อีกเยอะ ถ้าเกิดมีวิกฤตหรืออะไรเกิดขึ้นก็ยังสามารถลดลงไปได้อีกเยอะมาก วันนี้ทำไมเราถึงไม่เริ่มทำกัน”  

เช่นเดียวกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ที่พูดถึงเรื่องการขัดขวางนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อวันก่อนในลักษณะเดียวกัน

“นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่าถ้าไม่ทำอะไรตอนนี้เลย โอกาสที่จะเกิดต้มยำกุ้งจะตามมา หน่วยงานต้องดูว่าการคาดการณ์นี้น่าเชื่อถือหรือไม่ และหากเป็นจริงจะเกิดอะไรขึ้น หากมากเกินกว่าจะเสี่ยงได้ ก็ต้องตัดสินใจในทางที่ทำไป แต่หากยังคัดค้านกันอีกก็ไม่ว่ากัน ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความเห็น แต่หากเกิดเหตุการณ์เลวร้าย ก็อยากให้คนที่คัดค้านรับผิดชอบ”

ท่าทีเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีผู้ว่าฯธปท. เป็นประธาน ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้

รัฐบาลเล่นสงครามประสาทกับ ธปท. มาตั้งแต่เดือนก่อน รวมถึงก่อนจะเริ่มประชุม กนง.เพียง 1 วัน โดยเป้าหมายคือ ต้องการใช้สังคมกดดันให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ย

ตอนนี้เหลือแค่ ‘ธปท.’ ที่เป็นด่านสำคัญ ซึ่งรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ฝ่าไปได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทวี' ตอบแล้ว! ปมนักโทษเทวาดาชั้น 14 'ทักษิณ' กลับมาในยุครัฐบาลประยุทธ์

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการโต้เถียงกันระหว่างอธิบดีกรมราชทัณฑ์กับ พล.ต.อ.เสรี

เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เวทีทวงคืนพรรคส้ม หลังพ่ายศึก อบจ.ราชบุรี

เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เปิดตัวเป็นผู้นำพรรคส้ม ลงสู้ศึกเลือกตั้งไม่สวยเท่าใดนัก หลังไม่สามารถนำทัพพรรคประชาชนปักธงเอาชนะใน ศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

'ปชน.' แพ้เลือกตั้ง อ้างเวลาหาเสียงน้อย โวสนามหน้าชนะแน่ เปิดตัวผู้สมัครเพิ่ม พ.ย.นี้

'พรรคประชาชน' รับพ่ายเลือกตั้ง 'นายกอบจ.ราชบุรี' อ้างเวลาหาเสียงน้อย ปัดศึกกระดูกคนละเบอร์ มั่นใจสนามหน้าชนะแน่นอน เตรียมเปิดตัวผู้สมัครเพิ่ม พ.ย.นี้

สืบสันดาน'ระบอบทักษิณ' การเมืองวิปริต รอวันวิบัติ

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มี อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ทรยศหักหลัง สางแค้นคู่ปรับทางการเมือง โดยไม่สนใจมารยาทและจริยธรรมทางการเมืองแต่อย่างใด