'พปชร.' ในศึกเลือกตั้งซ่อม ภายในยังร้าวลึก สะเทือนถึง 'ลุงตู่'

ช่วงส่งท้ายปีเก่า 2564 เข้าเทศกาลปีใหม่ 2565 บรรยากาศการเมืองไทยคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 2 เขต คือ เขต 6 จ.สงขลา และเขต 1 จ.ชุมพร ในวันที่ 16 ม.ค.2565 และเขต 9 กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมทั้งเตรียมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ได้เตรียมส่งผู้สมัครลงสู้ศึกกันแล้ว

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เจ้าของพื้นที่เดิมในภาคใต้ เคาะชื่อผู้สมัครก่อนใครเพื่อน ส่ง นายอิสรพงษ์ มากอำไพ  เลขาฯ นายก อบจ.ชุมพร ลงเขต 1 จ.ชุมพร และ น.ส.สุภาพร กำเนิดผล รองนายก อบจ.สงขลา ลงเขต 6 จ.สงขลา

ทางด้านพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่ง นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ บุตรชายนายอนันต์ พฤกษานุศักดิ์ ประธานบริษัท ศรีตรังฯ ผู้ผลิตถุงมือรายใหญ่ของประเทศ ลงเขต 6 สงขลา และ นายชวลิต อาจหาญ หรือ "ทนายแดง" ลงเขต 1 ชุมพร

ส่วนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดตัวผู้สมัครลงแข่งขันครบทั้ง 2 เขต ได้แก่ นายธิวัชร์ ดำแก้ว เป็นผู้สมัคร ส.ส.สงขลา เขต 6 และ นายวรพล อนันตศักดิ์ ผู้สมัคร ส.ส.ชุมพร เขต 1 

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย กลับไม่ยอมส่งเลือกตั้งซ่อม 2 เขตดังกล่าว อ้างว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ปกติ เพราะมีการเลือกตั้งซ่อม อำนาจรัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้รับชัยชนะจึงไม่ส่งลงสู้ศึกด้วย

การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาเป็นประเพณีและ "มารยาททางการเมือง” ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะหลีกทางให้พรรคเจ้าของพื้นที่ส่งผู้สมัครลงรักษาเก้าอี้เดิม แต่การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้และเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐฉีกมารยาททางการเมืองทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ได้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรค พปชร.อย่างรุนแรง จากเดิมที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่มี บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.นั่งหัวโต๊ะ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค เคาะชื่อ ทนายแดง-ชวลิต อาจหาญ ลงสู้ศึกเลือกตั้งซ่อมเขต 1 ชุมพรแล้ว แต่ต่อมาที่ประชุม กก.บห.กลับพลิกมติไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเขต 1 ชุมพร ส่งเพียงเขต 6 สงขลา เพียงเขตเดียว

เนื่องมาจากแกนนำ พปชร.มีสัญญาใจกันกับ ส.ส.ลูกหมี-ชุมพล​ จุลใส​ อดีต ส.ส.ชุมพร พรรค ปชป.ที่จะยกทีมงานทั้ง 3 เขตในสมัยหน้า​มาสังกัด พปชร. จึงต้องหลีกทางให้ เลขาฯ ตาร์ท-อิสรพงษ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของภรรยาของ ส.ส.ลูกหมี

มติ พปชร.ดังกล่าวทำให้ "ทนายแดง" ไม่พอใจ ประกาศยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรค พปชร.ทันที แต่ถูกยับยั้งไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้เปิดตัวและเปิดศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งไปแล้ว สำหรับผลการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ก็ได้เสียงถึง 32,219 คะแนน แพ้นายชุมพลที่ได้ 42,683 คะแนน

ต่อมาเมื่อช่วงค่ำวันพฤหัสบดีผ่านมา พล.อ.ประวิตร เรียกประชุม กก.บห. ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ได้ทบทวนมติดังกล่าว โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ส่ง นายชวลิต อาจหาญ ลงเลือกตั้งซ่อมในเขต 1 จ.ชุมพร โดยให้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการพรรค พปชร. เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งซ่อม จ.ชุมพร

โดย พล.อ.ประวิตร ชี้แจงถึงการทบทวนมติดังกล่าวว่า "สมาชิกพรรคเขาไม่ยอมว่าทำไมไม่ส่งผู้สมัคร จึงร้องมายังกรรมการบริหารพรรค เราจึงมาประชุมกันใหม่ และมีมติดังกล่าวออกมา"

การที่มอบหมาย นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งซ่อม จ.ชุมพร และ เสี่ยเฮ้ง-นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อม จ.สงขลา ซึ่งทั้ง 2 คนมีความใกล้ชิดกับ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เท่ากับโยน เผือกร้อน ให้หรือไม่ เพราะทั้ง 2 คนไม่คุ้นเคยพื้นที่ และไม่รับรู้มาก่อนว่าจะต้องลงไปคุมเลือกตั้งซ่อมด้วยตัวเอง

และเป็นที่ทราบดีว่า ร.อ.ธรรมนัส สนิทแนบแน่นกับ นายกฯ ชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง สามีของ น้ำหอม-สุภาพร กำเนิดผล ผู้ลงชิงเก้าอี้ ส.ส.เขต 6 สงขลา โดย เดชอิศม์ เพิ่งได้รับเลือกจากพรรค ปชป.ให้เป็นรองหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ ดังนั้นศึกเลือกตั้งซ่อมในเขต 6 สงขลา จึงเป็นสนามแรกที่ เดชอิศม์ จะพิสูจน์บารมีและศักดิ์ศรีของรองหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ ซึ่งภายหลังได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรค เขาก็ประกาศไปแล้วว่าจะกวาดเก้าอี้ ส.ส.ภาคใต้กลับมา 35 ที่นั่ง ดังนั้นสนามนี้ ปชป.จะแพ้ไม่ได้

ส่วนสนามเขต 1 ชุมพร ส.ส.ลูกหมี เจ้าของพื้นที่เดิม ฐานคะแนนเสียงยังแข็งแกร่ง สันติ พร้อมพัฒน์ ในฐานะ ผอ.เลือกตั้ง คงจะยึดพื้นที่ได้ไม่ง่ายเช่นกัน

และต้องจับตาว่า พล.อ.ประวิตร-ร.อ.ธรรมนัส จะลงไปช่วยหาเสียงทั้ง 2 เขต เต็มที่แค่ไหน เพราะมีความเกรงใจเจ้าของพื้นที่เดิมอยู่แล้ว ที่สำคัญใครจะช่วยออก "กระสุนดินดำ" ถ้า พล.อ.ประวิตร-ร.อ.ธรรมนัส เจตนาปล่อยให้แกนนำ พปชร.ที่ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ไปพิสูจน์ฝีมือกันเอาเอง จะยิ่งสะท้อนรอยร้าวเดิมจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ ร.อ.ธรรมนัสถูกปลดจากเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ ว่ายังประสานไม่สนิท

ส่วนการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร แทน นายสิระ เจนจาคะ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพ ส.ส. โดย พปชร.จะส่ง นางสรัลรัศมิ์ ภรรยาของนายสิระ ลงรักษาเก้าอี้เดิม พรรคเพื่อไทยส่ง นายสุรชาติ เทียนทอง อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ลงสู้ศึกอีกครั้ง ขณะที่พรรคก้าวไกลส่ง นายเพชร กรุณพล ดารานักแสดง ลงชิงเก้าอี้ด้วย

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 นายสิระได้เสียง 34,907 คะแนน ขณะที่นายสุรชาติได้ 32,115 คะแนน ห่างกันเพียง 2.7 พันคะแนนเท่านั้น

นายสิระ เสียเครดิตไปไม่น้อยจากที่ถูกศาล รธน.ตัดสินให้พ้นสภาพ ส.ส. สุรชาติ ลูกป๋าเหนาะ-เสนาะ เทียนทอง เจ้าพ่อวังน้ำเย็น คราวนี้ต้องสู้อย่างเต็มที่เพื่อชิงเก้าอี้มาให้ได้

จากเงื่อนไขภายใน พปชร.และปัจจัยแวดล้อมทางการเมือง การเลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 เขต พรรค พปชร.จึงตกอยู่ในสภาพที่เป็นมวยรอง         

แม้แต่ กองหนุนลุงตู่-ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการสื่อสาร บรรณาธิการบริหารศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤต ยังวิเคราะห์ว่า คนกรุงเทพฯ น่าจะได้โอกาสในการสั่งสอนพรรคพลังประชารัฐที่พวกเขามองว่าอหังการ ยโส อวดดี พวกเขาไม่พอใจตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์รวมหัวกันไล่ 4 กุมาร ที่ทุ่มเททำงานให้กับพรรคในการจัดการรณรงค์การเลือกตั้งจนได้รับชัยชนะ และทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน โครงสร้างใหม่ของพรรคหลังจากเอาสี่กุมารออกไปเป็นที่ไม่พอใจของคนกรุงเทพฯ เพราะมองคนที่มีตำแหน่งต่างๆ หลังการเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่คนกรุงเทพฯ ไม่ปลื้มไปจนถึงรู้สึกรังเกียจ ความขัดแย้งระหว่างนายกฯ กับคนมีตำแหน่งสำคัญในพรรคที่งัดข้อกับนายกฯ โดยไม่เคยคิดที่จะมีการขอขมา คนกรุงเทพฯ มองว่าใช้ไม่ได้ จึงเสื่อมศรัทธาพรรคหลังประชารัฐ

อย่างไรก็ตาม ดร.เสรี บอกว่า ถ้าพลังประชารัฐแพ้การเลือกตั้งซ่อมใน กทม.ครั้งนี้ อย่าเอาไปโยงว่าคนกรุงเทพฯ ไม่เอา ลุงตู่

แต่ ลุงตู่ ก็คงไม่อยากให้แพ้ เพราะจะถูกนำไปเชื่อมโยงถึงความนิยมของตนเองอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะถ้าแพ้เลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 เขต ทั้งภาคใต้และ กทม.ก็จะสะเทือนถึง พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา ส.ส.ใต้กับ ส.ส.กทม.ได้มาเพราะกระแส พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้สโลแกน "เลือกความสงบจบที่ลุงตู่"  ก็เท่ากับว่าความนิยมของนายกฯ ตู่ตกต่ำลง

ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มีมติไปแล้วที่จะส่ง ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในสังกัด ปชป. ส่วนพรรคเพื่อไทยยืนยันจะไม่ส่ง แต่จะแอบหนุน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่จะลงในนามอิสระไม่สังกัดพรรค พรรคก้าวไกลจะเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ ในวันที่ 23 ม.ค. ขณะที่พรรคพลังประชารัฐยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะส่งใครลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้

ก่อนหน้านั้นมีข่าวว่า พปชร.จะส่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.ลงในนามพรรค ต่อมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ถอนตัวไม่ลงสมัคร ท่ามกลางกระแสข่าวไม่ลงรอยกับแกนนำ พปชร.บางคน ขณะที่ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม.อดีต กก.บห.พรรค พปชร.ที่มีความประสงค์จะลงผู้ว่าฯ สังกัด พปชร.ตั้งแต่ต้น ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรค พปชร.เตรียมลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ           

ปรากฏการณ์ทั้งหมดสะท้อนถึงปัญหาภายใน พปชร.ยังร้าวลึก ไร้ความเป็นเอกภาพ การกำหนดทิศทางของพรรคและการตัดสินใจทางการเมืองจึงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขาดหลักคิดในการดำเนินงานทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลถึงความเสื่อมศรัทธาของประชาชนและความนิยมในตัว นายกฯ ประยุทธ์ ในที่สุด. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทม์ไลน์เคาะเครื่องบินรบ แง้มเส้นทางเรือดำน้ำเข้าครม.

เป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนที่กองทัพอากาศจะคัดเลือกแบบเครื่องบินรบฝูงใหม่ทดแทน เพื่อนำเข้าประจำการแทนเครื่องที่กำลังปลดประจำการ

'บิ๊กป้อม' เปิดบ้านป่ารอยต่อ คุย สส.พปชร. ย้ำทำหน้าที่ กมธ.งบ 68 อย่างรอบคอบ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยแกนนำคนสำคัญ อาทิ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค, นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค

พท.ไม่สิ้นมนตร์ขลังแต่ชนะแค่1.8พัน ปิดตำนาน"บิ๊กแจ๊ส-มีวันนี้เพราะพี่ให้”

เสร็จศึกแล้วสำหรับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายกฯ อบจ.ปทุมธานี ที่ล่าสุดผลคะแนนออกมาแล้วเป็นทางการ ผลปรากฏว่า “นายชาญ พวงเพ็ชร์” ที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย มีดีกรีเป็นอดีตนายกฯ อบจ.ปทุมธานี 3 สมัย ได้คะแนนทั้งสิ้น 203,032 คะแนน

สว.สีน้ำเงินเปิดเซฟเฮาส์ ทำโผ-วางขุมกำลังคุมสภาสูง

การเมืองสัปดาห์นี้ ไฮไลต์สำคัญก็คือ ต้องรอดูว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรองรายชื่อ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ทั้ง 200 คนในช่วงกลางสัปดาห์นี้ พุธที่ 3 ก.ค. ตามที่เคยประกาศไว้หรือไม่ หรือจะเลื่อนออกไป หลังกระแสวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

สภาฮั้วค่าย 'สีน้ำเงิน' ยึดสว. วงจรอุบาทว์การเมืองไทย

ผลการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ได้รายชื่อว่าที่ สว.จำนวน 200 คน และสำรอง 100 คน ครบแล้ว โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)