ตัดสินก้าวไกล-คดีล้มล้างฯ หลังลือตุลาการฯรุมถามยิบ

วันพุธที่ 31 ม.ค. ตั้งแต่เวลาบ่าย 2 โมง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะทำการอ่านคำวินิจฉัยกลางคดี ล้มล้างการปกครองฯ ที่มีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกลเป็นผู้ถูกร้องที่ 2

เบื้องต้นมีการเปิดเผยว่า พิธาและชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนปัจจุบัน จะปักหลักลุ้นติดตามการถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยอยู่ที่รัฐสภา จะไม่เดินทางไปฟังการอ่านคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง

ขณะที่ผู้ร้องในคดีนี้ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร-ทนายความอิสระ บอกว่าจะเดินทางไปฟังการอ่านคำวินิจฉัย

สำหรับ คดีล้มล้างการปกครองฯ ดังกล่าว รูปคดีก็คือ เป็นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 ว่าการกระทำของพิธา สมัยเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่?

ในตัวคำร้องระบุถึง พฤติการณ์แห่งคดี ที่นำไปสู่การยื่นคำร้องว่า เกิดจาก 2 เหตุการณ์สำคัญ  

1.กรณีกลุ่ม สส.พรรคก้าวไกลในสภาฯ สมัยที่แล้ว จำนวน 44 คน โดยมีพิธาในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นแกนนำ ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสภาฯ

 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างแก้ไข 112 ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ตอนนั้น ไม่มีการบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ สมัยที่แล้ว

2.กรณีพรรคก้าวไกลนำเรื่องการจะแก้ไขมาตรา 112 ไปเป็นนโยบายหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา

คำร้องดังกล่าว จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ดังกล่าวของพิธาและพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และหากเห็นว่าเข้าข่าย ก็ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายพิธาและพรรคก้าวไกลหยุดการเคลื่อนไหว หยุดการแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 โดยไม่มีเรื่องการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด

สำหรับทิศทาง มติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะออกมาเป็นคำวินิจฉัยคดี

หากศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง ก็เท่ากับพิธา-ก้าวไกลชนะคดี ได้เฮรอบ 2 ติดๆ กัน หลังพุธที่แล้วพิธาเพิ่งชนะคดีหุ้นสื่อไอทีวี

ผลที่ตามมาอาจทำให้ก้าวไกลกลับมาขยับเรื่องการเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภาฯ อีกครั้ง เพื่อบอกกับประชาชน-แฟนคลับว่า ได้ทำตามที่หาเสียงแล้ว ส่วนจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และจะทำให้ก้าวไกลออกมาพูดเรื่องในเชิงด้านลบของมาตรา 112 มากขึ้น หลังที่ผ่านมาก้าวไกลอยู่ในอาการ หมอบชั่วคราว ก็เพราะรอคำตัดสินของศาล รธน. วันที่ 31 ม.ค.นี้

แต่หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในทาง ไม่เป็นคุณ กับพรรคก้าวไกล ที่แม้ต่อให้ศาล รธน.ไม่ได้มีคำสั่งห้ามพรรคก้าวไกลเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรา 112 แต่ถ้ามีข้อความปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำนองว่า พฤติการณ์ของพิธาและพรรคก้าวไกลในเรื่องการแก้ไข 112 เข้าข่ายเป็นการกลั่นเซาะ บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ

ก็อาจทำให้มีบางฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามพรรคก้าวไกลรับลูกขยายผล ด้วยการไปยื่นต่อ กกต. เพื่อให้ กกต.ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 92 (2) ที่บัญญัติว่า “หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคและและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค

รวมถึงอาจมีอีกหนึ่งดอกฟาดฟันพิธาและก้าวไกล ก็คือ อาจมีบางคนนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากมีการระบุถึงพฤติการณ์ของ สส.ก้าวไกล ว่ากลั่นเซาะ บ่อนทำลาย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ ก็อาจทำให้บางคนไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิดพิธาและ สส.พรรคก้าวไกล ว่า กระทำการขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะมีการเขียนไว้ในข้อ 5 ที่ระบุว่า ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และข้อ 6 ต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วน ป.ป.ช.จะรับลูกด้วยหรือไม่ ต้องรอดู แต่ทั้งหมดลำดับแรกต้องดูผลคำตัดสินของศาล รธน.ที่จะออกมาก่อน

เพราะหากสุดท้าย พิธา-ก้าวไกลชนะคดี เรื่องก็จบ และไม่แน่ แม้ก้าวไกลจะกลับมาเคลื่อนไหว เรื่อง 112 อีกรอบ แต่โทนการเคลื่อนไหวต่อจากนี้อาจสมูธมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าเหมือนที่ผ่านมา

 เบื้องต้นพิธา-แกนนำพรรคก้าวไกล-สส.พรรคก้าวไกล ต่างเชื่อมั่นกันมากว่า ผลคำวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอะไรน่าหนักใจ คำตัดสินจะออกมาเป็นคุณกับพรรคก้าวไกล

แม้จะมีกระแสข่าวร่ำลือกัน หลังการไต่สวนคดีดังกล่าวในห้องพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 25 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการไต่สวนภายใน-ปิดลับ 

กระแสข่าวอ้างว่า วันดังกล่าวที่พิธากับชัยธวัชควงคู่กันไปให้ถ้อยคำ-ชี้แจงต่อหน้า 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลางห้องพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

ข่าวลือทางการเมืองลอยมาว่า วันดังกล่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคนได้ตั้งประเด็น ซักถามพิธาอย่างมาก กินเวลาพอสมควร เพื่อลงลึกรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องการแก้ไข 112 ของพรรคก้าวไกล ว่ามีวัตถุประสงค์อะไร ทำไมต้องเสนอแก้ 112 รวมถึงการที่พรรคก้าวไกลนำเรื่องแก้ 112 ไปหาเสียง และไปพูดบนเวทีหาเสียง จนถูกนายธีรยุทธยื่นในคำร้อง เช่นวันที่พรรคก้าวไกลปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดชลบุรี ที่มี 2 แกนนำม็อบสามนิ้วสายฮาร์ดคอร์ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ไปขอขึ้นเวทีดังกล่าวด้วย และตัวพิธาบอกว่า เห็นด้วยกับการแก้ 112 แต่ว่าต้องเข้าไปแก้ในสภาฯ ก่อน แต่หากเขาไม่ให้แก้แล้วค่อยว่ากัน 

ข่าวว่าประเด็นเหล่านี้มีการซักถามลงรายละเอียดจากศาลพอสมควร เมื่อ 25 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา

กระนั้นรอฟังผลคำวินิจฉัยที่จะออกมาจะดีที่สุด และเชื่อว่าไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหน จะเกิดผลตามมาในเรื่อง มาตรา 112 ในสังคมการเมืองไทยพอสมควร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' เกทับ! เลือกตั้งครั้งหน้า กวาด สส.เชียงใหม่ ครบ 10 ที่นั่ง

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงให้ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือสว.ก๊อง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด

พรรคส้มดาวกระจาย สู้ศึกอบจ. ‘พิธา’ ชน ‘ทักษิณ’ ตรง ‘ประตูท่าแพ-ตลาดวโรรส’ จันทร์นี้

พรรคประชาชน(ปชน.)เตรียมตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยส่งระดับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณลงประกบตามพื้นที่ต่างๆ

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว

'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง

“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน