31 ม.ค.ชี้ชะตาพิธา-ก้าวไกล เดิมพันอนาคตการเมืองไทย

 

แม้คำวินิจฉัยเรื่องหุ้นสื่อของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา จะเป็นคุณกับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล สามารถกลับเข้าไปเป็น สส.ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน 

แต่เรื่องที่หวาดเสียวและชี้ชะตาอนาคตพรรคสีส้มและการเมืองไทย หมุดหมายอยู่ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินจากกรณีเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่

หรือที่รู้จักในชื่อ คดีล้มล้างการปกครอง โดยมีผู้ร้องที่1 พิธา-ผู้ร้องที่ 2 พรรคก้าวไกล ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา 

โดยมีผู้ร้องคือ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เลิกกระทำการใดๆ หรือหยุดการกระทำใดๆ หรือเลิกการแสดงความเห็น พูด เขียน พิมพ์ โฆษณา และสื่อความหมายโดยวิธีอื่นๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 โดยในคำร้องดังกล่าวนี้ยังไม่ถึงขั้นยุบพรรค   

ในคำร้องได้ยึดบรรทัดฐานตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 19/2564 หรือคดี ทะลุเพดาน ที่สุดท้ายสั่งให้กลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำที่จะก่อขึ้นต่อไปในอนาคตขึ้นมาเทียบเคียง  

โดยมีสาระสำคัญของผู้ร้องระบุว่า ...การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร มีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 

ในประการที่อาจนำไปสู่การเซาะกร่อน บ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของราชอาณาจักรไทย อันอาจจะเป็นการนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่น ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่เข้าข่ายจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน จึงจำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลม 

ขณะที่ “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนจากผู้ร้องที่ 2 แย้งผ่านการให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทย ตอนหนึ่งว่า “คำวินิจฉัยจะไม่ได้ออกมาเป็นทางลบขนาดที่หลายคนกังวลว่าจะไปไกลถึงขั้นเกิดการยุบพรรค” เนื่องจากเป็นเพียงการร้องให้ยุติการกระทำที่กล่าวหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ

พร้อมประเมินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสออกได้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ผลออกมาเป็นลบ สั่งให้ยกเลิกการกระทำ ถ้าศาลเห็นว่านโยบายของพรรค ก.ก.เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

2.ออกมากลางๆ ค่อนไปทางลบ ตีกรอบว่าการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 มีขอบเขตทำได้แค่ไหน “นั่นอาจเป็นเป้าประสงค์อันดับพื้นฐานก็ได้ว่าอาจจะต้องการแค่ตีกรอบเนื้อหาบางอย่าง”

3.ผลออกมาเป็นบวก ยกคำร้อง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่กระบวนการนิติบัญญัติคือการเสนอแก้ไขกฎหมายหรือเสนอร่างกฎหมายใหม่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการเสียงข้างมากใน สส.และ สว. และต่อให้ผ่านรัฐสภาไปได้ ก็ยังมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังประกาศใช้เป็นกฎหมาย ดังนั้นโดยกระบวนการได้วางกลไกป้องกันไม่ให้ออกกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

“เราพยายามต่อสู้ว่าไม่ได้มีเจตนาบั่นทอน ทำลาย ลดทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ลดการคุ้มครองแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการทำให้การคุ้มครองประมุขของรัฐได้สมดุล ได้สัดส่วนกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยังคงฐานความผิดนี้อยู่ และคุ้มครองเหนือกว่าบุคคลทั่วไป รวมถึงเจ้าพนักงานของรัฐอื่นๆ ด้วย เจตนาของเราคือยังต้องการปรับการลงโทษในฐานความผิดนี้ให้มันได้สัดส่วนกับพฤติการณ์การกระทำผิด” หัวหน้าพรรคก้าวไกลชี้แจงข้อกล่าวหา 

ตัดมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในอดีตประเด็นเรื่องของมาตรา 112 เคยวางบรรทัดฐานมุมนิติศาสตร์เอาไว้แล้ว โดยยกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 เป็นหัวใจสำคัญ และผูกพันกับมาตรา 112 ในการพิทักษ์และปกป้องสถาบัน ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้” ผ่านคำวินิจฉัยที่ 28-29/2555 

“คำนูณ สิทธิสมาน” สมาชิกวุฒิสภา เคยโพสต์สรุปสาระสำคัญเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่โต้แย้ง ว่ามาตรา 112 สอดคล้องและเสมือนเป็นกฎหมายลูกบทของรัฐธรรมนูญมาตรา 2 และมาตรา 8 (หรือมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ 60), พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสถาบันหลักและคุณลักษณะประการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงต้องมีกฎหมายคุ้มครอง มิให้ผู้ใดละเมิด การละเมิดพระมหากษัตริย์จึงเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

มาตรา 112 จึงอยู่ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ, การคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นการคุ้มครองเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น, ต้องบัญญัติโทษไว้พอสมควรแก่เหตุ, มาตรา 112 เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อความมั่นคงของรัฐที่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 (ปัจจุบันอยู่ในมาตรา 34) และมาตรา 112 สอดคล้องกับหลักนิติธรรม  

แต่ประเด็นที่อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระยื่นร้องในมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 60 ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยวินิจฉัย ท่ามกลางการจับตาว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพในฐานะพรรคการเมืองของพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอนโยบาย การทำหน้าที่ สส.ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ในการเสนอและแก้ไขกฎหมาย และต้องผ่านกระบวนอีกหลายขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ จะถือว่าเป็นการล้มล้างหรือไม่

เพราะต้องฝ่าฟันอีกหลายด่านหิน ได้แก่ การวินิจฉัยของประธานรัฐสภาว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 หรือไม่ เช่นในอดีตประธานรัฐสภา “ชวน หลีกภัย” เคยไม่บรรจุร่างแก้ไขของพรรคก้าวไกลในรัฐบาลสมัยที่แล้ว 

รวมถึงยังต้องผ่านการพิจารณาในสภา 3 วาระ วุฒิสภา 3 วาระ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก่อนทูลเกล้าฯ เพื่อให้มหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วจึงประกาศเป็นกฎหมาย      

ฉะนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า จะเป็นการหลักการสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 

หรือศาลรัฐธรรมนูญจะยอมให้แก้ไขได้ หรือแบบมีเงื่อนไข และต้องไม่เป็นอย่างที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียง หลังหลายฝ่ายเป็นกังวลว่าเนื้อหาสุ่มเสี่ยงลดทอนสถานะของกษัตริย์ และอาจส่งผลให้มีการละเมิดประมุขแห่งรัฐได้

หากเป็นเช่นนี้พรรคก้าวไกลก็จะไม่ถูกยุบพรรค และคาดว่าเพื่อคานอำนาจกับพรรคเพื่อไทย ที่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ไว้วางใจในระบอบทักษิณ     

หรือจะวินิจฉัยแบบเคร่งครัดตามคำร้องเพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ป้องกันมิให้สถาบันถูกละเมิด เมื่อเป็นเช่นนั้นจะเข้าเขตแดนล้มล้างการปกครองฯ ถือเป็นหัวเชื้อ หรือสารตั้งต้น ดำเนินการเอาผิด "พิธา" และ "พรรคก้าวไกล" ให้ตกกระดานทางการเมือง

เชื่อว่าหลังจากนั้นจะมีผู้ยื่น หรือ กกต.ยกขึ้นมาเอง และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างเช่น พรรคไทยรักษาชาติถูกสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (2) มาแล้ว 

อาจมีขยายผลเช็กบิลย้อนหลังไปเอาผิด "พิธา" และและ สส.พรรคก้าวไกลรวม 44 คน ในสมัยที่แล้ว เพราะเคยลงชื่อเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ต่อประธานสภาฯ ในปี 2564 ก่อนถูกประธานสภาฯ ปัดตกไปเพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ว่าการกระทำเช่นนั้นขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่

เพราะแค่หาเสียงยังผิดข้อหาล้มล้างแล้ว และเคยเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 จะไม่ผิดหนักกว่าหรือ เพื่อประหารชีวิตทางการเมืองตลอดไป อย่างเช่น “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กรณีโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบัน 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 31 ม.ค.นี้ จะออกมาแบบไหนสุดคาดเดา แต่ไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหน จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญกำหนดอนาคตการเมืองไทย. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พิธา มั่นใจ ก้าวไกล ไม่ถูกยุบ แต่เตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์

'พิธา' มองบวก 'ก้าวไกล' ยังมีโอกาสรอดสูง พร้อมเตรียมแผนรับรองทุกกรณี ลั่น ถึงไม่สมบูรณ์แบบ แต่การมีอยู่ของพวกผม จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า

'พิธา' เดินสายมู จ.เชียงใหม่

'พิธา' เดินสายมู ร่วมพิธีสงสนาน อาบน้ำนมพระพิฆเณศ-เวียนเทียนวัดศรีสุพรรณ เจ้าอาวาสมอบองค์พระให้ แต่ก็ต้องคืน เหตุมูลค่าเกิน 3,000 บาท พร้อมพบปะประชาชนถนนวัวลาย ป้าวัย 71 วิ่งโผกอด ร้องโอ้ยชื่นใจ ถ้าไม่มีเกมสกปรก ได้เป็นนายกฯไปแล้ว

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน