'เศรษฐา'โบกธง เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช.-สตง.ขย้ำจุดตาย

จับกระแสท่าทีทางการเมืองของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ต่อ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต-ออกกฎหมายกู้เงินห้าแสนล้านบาทแจกประชาชน แลเห็นได้ชัด เศรษฐายังจะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป

อันเป็นท่าทีหลังเศรษฐาเดินทางกลับจากการปฏิบัติราชการที่ต่างประเทศเมื่อวันศุกร์สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 19 มกราคม

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการเผยแพร่เอกสาร ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ศึกษาโดย คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี สุภา ปิยะจิตติ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานคณะทำงาน

ที่ในรายงานของคณะกรรมการฯ ระบุว่า นโยบายดังกล่าวมีความเสี่ยง 3 ด้านสำคัญคือ

-ความเสี่ยงในเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย

-ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ

-ความเสี่ยงด้านกฎหมาย

จนทำให้เกิดกระแสความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ตามมา

โดย เศรษฐา-นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ล่าสุดเมื่อ 19 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้รับรายงานและเท่าที่ทราบทางจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง บอกจะคอยรับรายงานเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตจากสำนักงาน ป.ป.ช.

และเมื่อสื่อถามว่า รายงานดังกล่าวของ ป.ป.ช.ระบุว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไม่คุ้มค่าและยังไม่มีการป้องกันการทุจริต ทำให้นายกฯ ออกมาท้าว่า

“เรื่องคุ้มค่าไม่คุ้มค่า ผมเชื่อว่าเรามีตัวเลขที่สามารถอธิบายได้ ส่วนเรื่องทุจริต ผมมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าไม่มีแน่นอน ถ้าท่านสงสัยว่าทุจริตตรงไหนขอให้บอกมา เพราะตรงนี้ทางรัฐบาลมีหน้าที่อธิบาย เพราะตรงนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีในการที่จะส่งเงินเข้ากระเป๋าของพี่น้องประชาชน ผมไม่เห็นว่าจะทำทุจริตตรงไหนได้เลย

คือจริงๆ แล้วอย่าพูดลอยๆ ว่ามีการทำทุจริตได้ ผมก็เข้าใจทางด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องระมัดระวังตรงนี้ แต่ถ้าบอกได้ว่าตรงไหนมีการทุจริต เราก็พร้อมที่จะอธิบายให้ฟัง ถ้าอธิบายไม่ได้ ถ้าเกิดมีข้อกังขาก็คงทำไม่ได้ ณ จุดนี้เดินหน้าเต็มที่” นายกฯ ระบุ

ก็เป็นท่าทีของนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ที่ประเมินแล้วยังไงคงต้อง

ดัน-เข็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

ไปจนสุดทาง คงไม่ยอมยกธงขาว เลิกกลางคันง่ายๆ

ซึ่งก็ไม่ใช่ท่าทีอันเหนือความคาดหมายทางการเมือง เพราะเศรษฐา-เพื่อไทย ย่อมรู้ดีว่า หากไม่แสดงออกถึงการผลักดันดิจิทัลวอลเล็ตอย่างสุดแรง ก็จะถูกมองว่าไม่ทำตามที่หาเสียงกับประชาชน และเพื่อไทยเชื่อว่ามีประชาชนหลายล้านคนที่รอคอยดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ ดังนั้น ยังไงก็ต้องดันให้ถึงที่สุด

แต่หากสุดท้ายไปต่อไม่ได้ ค่อยมาว่ากันอีกที เช่น หากสะดุดในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีหากมีการออกกฎหมายแล้วมีคนไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความและศาลสั่งเบรกให้หยุด

หากผลสุดท้ายจบที่ฉากนี้ เศรษฐา-เพื่อไทยก็จะอ้างได้ว่า ดันให้เต็มที่แล้ว แต่ถูกองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญสกัด แบบนี้เพื่อไทยเชื่อว่าตัวเองจะไม่เสียคะแนน แต่หากยังดันไม่สุดแล้วเลิกกลางคัน แบบนี้อาจเสียหายทางการเมือง ไปจนถึงการเลือกตั้งรอบหน้าที่จะมีขึ้น

ขณะที่ท่าทีล่าสุดของทีมงานสำนักงาน ป.ป.ช.ที่ศึกษาและจัดทำรายงานเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หลังนายกรัฐมนตรียืนกรานจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป

เรื่องนี้ รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ หนึ่งในคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัลวอลเล็ตของสำนักงาน ป.ป.ช.-อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตรับจำนำข้าวของ ป.ป.ช. ระบุไว้ล่าสุดว่า หากรัฐบาลจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตที่เป็นการแจกเงินเพื่อการบริโภค โดยการจะออกกฎหมายพิเศษมากู้เงินหลายแสนล้านบาท และยังคงเดินตามเกณฑ์เดิมเช่น จะให้กับคนที่มีรายได้มีเงินเดือนไม่ถึงเจ็ดหมื่นบาทต่อเดือน สมมุติว่ารัฐบาลยังคงยืนยันตามนี้ มันจะทำให้เกิดความเสี่ยงหลายด้านด้วยกัน

ดร.สิริลักษณา กล่าวว่า ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นก็มีเช่น การที่จะออกกฎหมายกู้เงินมา ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในบางคดีก่อนหน้านี้ว่า หากมีการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินมา เงินที่กู้มาต้องส่งให้กระทรวงการคลัง ซึ่งตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ บัญญัติไว้ว่า เมื่อเงินดังกล่าวไปอยู่ที่กระทรวงการคลังแล้ว การที่จะดึงเงินออกมาใช้ต้องมีการออกกฎหมายต่างๆ มารองรับ แต่เมื่องบที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปกติ การจะออกกฎหมายพิเศษมากู้เงิน ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ บอกว่าจะต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ แต่เมื่อดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศเวลานี้ โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น เรื่องเงินเฟ้อ สภาวะการคลังของประเทศ ก็จะพบว่าไม่มีเกณฑ์ข้อใดที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้ด้วยการออกกฎหมาย มันก็จะขัดกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่จะนำเงินคลังออกมาใช้

“นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการทุจริตได้ เพราะว่าเครื่องมือที่จะใช้ในการกระจายเงินให้ประชาชนนำไปใช้ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้ระบบแบบใด จะใช้บล็อกเชนเหมือนเดิมหรือไม่ โดยหากจะใช้เทคโนโลยีขนาดนั้น ก็ต้องมีการไปว่าจ้างผู้มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีดังกล่าว ที่ก็อาจจะเป็นคนที่มีความเกี่ยวข้องกัน อาจเป็นคนที่ได้รับผลประโยชน์หรือคนที่ให้ผลประโยชน์กับบุคคลในรัฐบาล ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่จะถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบสวน และอาจถูกชี้มูลก็อาจเป็นไปได้”

รศ.ดร.สิริลักษณา ยังระบุอีกว่า อีกทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์ การแจกเงินเพื่อให้ไปใช้ในการบริโภคไม่มีประสิทธิภาพ แต่ควรใช้เงินไปกับการลงทุนโดยภาครัฐ ที่จะทำให้จีดีพีขยายตัวมากกว่าที่จะให้เงินครัวเรือนนำไปใช้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าจีดีพีขยายตัวมากกว่าโดยที่รัฐบาลเป็นผู้ใช้จ่ายในการลงทุน ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะหากรัฐบาลลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนที่อยู่ในชนบทในพื้นที่ห่างไกล ที่อินเทอร์เน็ตก็ยังเข้าไม่ถึง หากรัฐบาลลงทุนในลักษณะนี้มันจะเป็นประโยชน์กับคนที่ขาดโอกาสจริงๆ

“ดังนั้น การที่จะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตก็มีความเสี่ยงหลายด้านด้วยกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นธรรม รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลดูแลประชาชนอย่างเป็นธรรม แต่การแจกเงินลักษณะแบบที่จะทำ ไม่มีความเป็นธรรม เพราะบางคนแม้อาจจะมีเงินเดือนไม่ถึงเจ็ดหมื่นบาท ทำให้จะได้รับสิทธิ์ดิจิทัลวอลเล็ต แต่เขาอาจจะมีทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ที่ดิน มีสินทรัพย์จำนวนมากกว่าคนที่มีเงินเดือนเจ็ดหมื่น แล้วรัฐบาลจะตรวจสอบตรงนี้ได้อย่างไร หากไม่มีการตรวจสอบแล้วให้เงินกับคนเหล่านี้ไป ก็มีความไม่เป็นธรรมอีกเช่นกัน”

“สิ่งสำคัญคือ เราอยากให้ประชาชนเข้าใจว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมันทำร้ายประเทศไทย จะทำให้เราต้องตกเป็นหนี้กันไปอีกนาน”

 ขณะเดียวกันอีกหนึ่งองค์กรอิสระที่ขยับในเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ก็คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ปัจจุบันมี

ประจักษ์ บุญยัง เป็นผู้ว่าฯ สตง.

พบว่า ก่อนหน้านี้ก็ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานออกมาว่าคณะทำงานชุดดังกล่าวของ สตง.มีการศึกษาพิจารณาไปถึงไหนแล้วบ้าง

สาเหตุคงเพราะ สตง.เป็นหน่วยตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานรัฐ คือต้องมีการใช้จ่ายเงินก่อนเป็นหลัก ถึงจะตรวจสอบว่าโครงการเป็นอย่างไร มีการทุจริต มีการรั่วไหลของงบประมาณและการใช้จ่ายเงินมีความคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อตอนนี้ยังไม่มีการทำดิจิทัลวอลเล็ต เลยทำให้คณะทำงานของ สตง.อาจยังไม่ได้ขยับอะไรมากนัก

แต่ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อตรวจสอบจากเว็บไซต์ของ สตง.มีการเผยแพร่บทความที่เป็นบทความสาธารณะ ชื่อ การวิเคราะห์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อการรักษาวินัยการเงินการคลัง : ข้อเสนอในการจัดทำรายงานการศึกษาเบื้องต้นในรูปแบบ Non-audit product บทความสำนักการต่างประเทศ เนื้อหาโดย ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

ซึ่งแม้จะเป็นบทความที่เผยแพร่ตั้งแต่ช่วงตุลาคม 2566 แต่ก็เป็นท่าทีซึ่งน่าสนใจไม่น้อยว่า ผู้บริหาร-บุคลากรที่มีตำแหน่งในฝ่ายบริหารขององค์กรอิสระอย่าง สตง. มีความคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเพื่อไทย 

โดยตอนหนึ่งของบทความดังกล่าวระบุว่า สตง.ในฐานะองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ รวมทั้งให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้เงินงบประมาณ

“ในฐานะผู้เขียนเป็นผู้ตรวจสอบและนักเศรษฐศาสตร์ (Auditonomist) ผู้เขียนมองว่าผลกระทบของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอาจส่งผลต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐในอนาคต”

เบื้องต้นผู้เขียนได้รีวิวกรณีศึกษาการแจกเงินในลักษณะนี้จากต่างประเทศ เช่น นโยบายแจกเงินสดให้กับประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ภายใต้ชื่อ "Yi Qian Fu" ซึ่งใช้เงินงบประมาณจำนวน 3.6 ล้านล้านหยวน แม้ว่านโยบายนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 2021 แต่กลับมีผลกระทบต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐเช่นกัน โดยทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 267.4 ล้านล้านหยวนในปี 2020 เป็น 310.7 ล้านล้านหยวนในปี 2021” บทความดังกล่าวระบุ

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ตอนนี้หลายคนบอกอยู่ในอาการลูกผีลูกคน-เลี้ยวกลับไม่ได้ ไปต่อก็อาจไม่ถึงฝั่ง สุดท้ายจะจบลงแบบไหน ดูสถานการณ์แล้วต้องบอกว่าเข็นต่อได้ แต่โคม่าและสุ่มเสี่ยง!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

'นิพนธ์' ซัดรัฐบาลแจกเงินหมื่น เฟส 2 หวังผลการเมือง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ

นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน

ป้า 67 ป่วยหลายโรค หาบเร่ขายของเลี้ยงชีพ หวังได้เงินหมื่น เฟส 2 หวั่นตกหล่น บัตรคนจนก็ไม่มี

บุรีรัมย์ ป้า 67 ป่วยความดัน มีก้อนเนื้อที่คอ แต่ต้องหาบเร่ขายของเลี้ยงชีพและลูกพิการ หวังได้เงินหมื่น เฟสสอง มาแบ่งเบา

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

รัฐบาลเคาะแจกเงินหมื่น เฟส 2 ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนวันตรุษจีนปี 68

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง