อาฟเตอร์ช็อก 'ศักดิ์สยาม' ชู 'ไชยชนก' เลขาฯรุ่นใหม่

ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญด้วยมติ 7 ต่อ 1 เสียง เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา มีผลให้ "เสี่ยโอ๋" ศักดิ์สยาม ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัวในครั้งที่เคยดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) และมาตรา 82 วรรค 2 นับตั้งแต่วันถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2566 

แปลความได้ว่า "ศักดิ์สยาม" ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 และหลังจากนั้นก็สามารถกลับมารับตำแหน่งเสนาบดีได้ 

คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งอื่นๆ ทางการเมือง แต่เจ้าตัวไม่ประสงค์เช่นนั้น ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่ง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย หลังจากคำตัดสินออกมาภายในไม่กี่ชั่วโมง

เพราะต้องการแสดงความรับผิดชอบ อีกด้านก็ลดกระแสสังคม รวมถึงข้อเรียกร้องจากฝ่ายตรงข้ามการเมือง ที่จะต้องเรียกร้องสปิริตทางการเมืองกับ "ศักดิ์สยาม" ตามมา รวมถึงความยุ่งยากต่างๆ ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของพรรคภูมิใจไทย     

แม้ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ถูกร้อง แต่มีความพยายามทางการเมืองไล่บี้ "ศักดิ์สยาม" ให้พ้นเวทีการเมืองและกระทบไปถึงบ้านใหญ่บุรีรัมย์  

อาทิ การยื่นให้ตรวจสอบทรัพย์สินหนี้สิน ที่แสดงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นเท็จหรือไม่จากพรรคก้าวไกล รวมถึง "ศรีสุวรรณ จรรยา" ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เตรียมยื่นให้ ป.ป.ช.เอาผิดจริยธรรมร้ายแรงกับ “ศักดิ์สยาม” หรือไม่ 

หรือแม้แต่ความพยายามจะยุบพรรคภูมิใจไทย หลังอ้างว่าบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวเคยบริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์” เคยไปยื่นต่อ กกต.ไว้ตรวจสอบแล้ว

หากประเมินใน 2 ประเด็นแรกนั้นถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว ที่ "ศักดิ์สยาม" จะต้องต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป  

ส่วนประเด็นยุบพรรคเบื้องต้น “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็แสดงความมั่นใจว่า เป็นเรื่องการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบการแจกแจงแจ้งทรัพย์สินให้กับทางรัฐให้รับทราบ นี่จึงเป็นเจตนารมณ์ในการแจ้งทรัพย์สินไป 

"หากแจ้งไม่ถูกมีคนมาตรวจสอบก็ต้องแก้ไขให้ได้ หากแก้ไขไม่ได้ก็นำไปสู่การดำเนินคดี การร้องเรียนต่างๆ และเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับพรรค" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าว 

ส่วนฝ่ายกฎหมายพรรคภูมิใจไทยบอกว่า การรับบริจาคจากบุคคลหรือนิติบุคคล ได้ตรวจสอบแล้วมีคุณสมบัติครบถ้วน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง  

ฉะนั้นในส่วนของคดีต่างๆ ที่เปิดขึ้นมาจากนี้ จะกลายเป็น อาฟเตอร์ช็อก อะไรตามมา หลังเกิดแผ่นดินไหวกับ "ศักดิ์สยาม" หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

แต่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย เบื้องต้นสถานะทางการเมืองยังไม่ได้รับผลกระทบอะไร ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพในรัฐบาล ที่ถูกมองว่าจะทำให้พรรคอ่อนแอลงหรือไม่ หรือจะถูกฉวยโอกาสยึดเก้าอี้สำคัญใน ครม. หรือผลักให้ไปเป็นฝ่ายค้าน และเอาพรรคอะไหล่เข้ามาเสียบ คงไม่เกิดขึ้น เพราะประเมินจากความสัมพันธ์กับแกนนำพรรคเพื่อไทยก็ยังแน่นปึ้ก และร่วมกันทำงานเป็นไปตามการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 

อีกทั้งพรรคยังมีจำนวนเสียง สส.ที่มีเอกภาพเท่าเดิม 71 คน หรืออันดับ 3 ของประเทศ และ มี "น้องเพลง" หรือ น.ส.ชนม์ทิดา อัศวเหม ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 5 และยังเป็นทายาทการเมืองรุ่นใหม่ เลื่อนลำดับขึ้นมาเป็น สส.ทำงานแทน "เสี่ยโอ๋" 

ขณะที่เส้นเลือดใหญ่ของพรรคก็ยังมี "ครูใหญ่" เนวิน ชิดชอบ ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ บัญชาการให้คำปรึกษาชี้แนะอยู่เช่นเดิม  

แม้เจ้าตัวไม่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ยังทำหน้าที่เป็นลมใต้ปีก ทำให้พรรคภูมิใจไทยเป็นรัฐบาลถึง 3 สมัย (2551-2554, 2562-2566 และ 2566-ปัจจุบัน) และคุมกระทรวงเกรดเอได้อีกหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงมหาดไทยและ คมนาคม ฯลฯ และมีจำนวน สส.เพิ่มจำนวนขึ้นตามลำดับ  

หรือแม้แต่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา ระหว่างที่ "ศักดิ์สยาม" กำลังต่อสู้คดี "ครูใหญ่" ก็ดึงน้องชายคนกลาง หรือ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเปลี่ยนจากตำรวจมาเป็น "คุณครูเพิ่มพูน" มาแล้ว หรือกรณีอื่นๆ ในอดีต เมื่อใครถูกตัดสินทางการเมืองก็สามารถบริหารจัดการหาบุคคลมาแทนที่ทำงานได้อย่างไร้รอยต่อ     

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ยังเตรียมวางทายาททางการเมืองรุ่น 3 ด้วยการให้ลูกชายคนโต หรือ “สส.นก" ไชยชนก ชิดชอบ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย และยังมีบทบาทสำคัญปรากฏตัวเป็นสัญลักษณ์ร่วมกับแกนนำพรรคภูมิใจไทยในช่วงจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยมาแล้ว  

ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าอาจผลักดันให้ “ไชยชนก” ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ แทน "คุณอาโอ๋" รองรับกระแสของคนรุ่นใหม่เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งหน้า อย่างเช่น หลายพรรคการเมืองอื่นๆ เริ่มปรับเปลี่ยนไปบ้างแล้ว และประการสำคัญสุดเพื่อเป็นหลักประกันว่า "ครูใหญ่" เนวิน ชิดชอบ  ห้ามเบื่อ ห้ามทอดทิ้ง พรรคภูมิใจไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

‘สภาสูง’ในเงื้อมมือค่ายน้ำเงิน ส่องภารกิจเลือก‘องค์กรอิสระ’

ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง