'ป.ป.ช.'ปักป้าย'เตือน'รัฐบาล ฝืนแจกเงิน มีราคาที่ต้องจ่าย

สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองพอสมควร กรณีผลการศึกษาของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธาน หลุดออกมาก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีมติส่งให้รัฐบาล

ซึ่งผลการศึกษาของคณะกรรมการฯ ชุดนี้แทบ ไม่เป็นคุณ กับรัฐบาลเลย

ไม่ว่าจะเป็นการพบช่องโหว่ทุจริต ความเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล การประเมินตัวเลขเศรษฐกิจจากข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ชี้ว่าเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายวิกฤต

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจะกระทำผิดกฎหมายหลายฉบับ ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.เงินตรา พ.ร.บ.เงินคงคลัง     

ไม่เพียงเท่านั้น คณะกรรมการฯ ภายใต้การนำของ สุภา ยังกระตุกเตือนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้หมั่นตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งกับสิ่งที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภามีความแตกต่างกัน 

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่ถึงกับเป็นฉบับไฟนอล เพราะต้องรอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน มีมติส่งเรื่องให้รัฐบาลก่อน ซึ่งนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาไปแล้วครั้งหนึ่ง และให้ไปปรับปรุงแก้ไขแล้วนำกลับมาพิจารณา

แต่ถึงแม้ว่าจะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ แต่หน้าตาและเนื้อหาของผลการศึกษาของคณะกรรมการฯ ชุดของ สุภา คงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก  

ฉะนั้น การหลุดออกมาก่อนจึงทำให้รัฐบาลได้เห็นและสามารถกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ได้ว่าจะเอาอย่างไรต่อไป 

แน่นอนว่า ในทางอำนาจ ป.ป.ช. ไม่ได้มีอำนาจจะสั่งหรือห้ามรัฐบาลว่า ให้ทำหรือไม่ทำโครงการใด แต่รัฐบาลไม่สามารถมองข้ามสิ่งที่ ป.ป.ช.เสนอแนะได้ โดยเฉพาะ รัฐบาลเพื่อไทย ที่เคยมีอดีตกับ ป.ป.ช.ในเรื่องโครงการรับจำนำข้าวมาแล้ว สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

โดยการศึกษาและการให้คำเสนอแนะของ ป.ป.ช.นั้น เป็นการดำเนินการที่มีกฎหมายรองรับ คือ มาตรา 32 (3) ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่บัญญัติไว้ว่า “เสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้”

มันไม่ใช่ ข้อห้าม แต่เป็นเหมือน คำเตือน ที่ถ้ารัฐบาลเลือกจะเดินหน้าต่อทั้งที่มีข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช.ให้ระมัดระวังแล้ว ต้องไม่ให้เกิดก่อผิดพลาดในโครงการอย่างเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจจะมีจุดจบเดียวกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ 

มันมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก!

และอาจจะหนักกว่าตรงที่ผลการศึกษาของคณะกรรมการฯ ชุด สุภา ได้พูดถึงนโยบายหาเสียงที่ไม่ตรงปก ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต.เอาไว้ อาจผิดอีกกระทงหนึ่ง 

แต่อย่างไรก็ดี ภายใต้ผลเสียที่พบซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวศึกษาไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องการให้รัฐบาลยกเลิกหรือยุติโครงการเสียทีเดียว แต่มีการแนะนำให้ใช้งบประมาณปกติ มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบาง และไม่ต้องใช้บล็อกเชน แต่ให้ใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังแทน ซึ่งเคยมีการทำเอาไว้มาแล้วในรัฐบาลชุดก่อน    

ข้อเสนอแนะตรงนี้ดันบังเอิญสอดคล้องกับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ที่ผ่านมาด้วย 

มันเหมือน ป.ป.ช.กำลังชี้ ทางลง ที่ปลอดภัยให้กับรัฐบาล โดยไม่ต้องผิดสัญญากับประชาชนตอนหาเสียงมากนัก 

อยู่ที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ว่าจะเชื่อหรือไม่ แต่หากดูท่าทีของรัฐบาลนายเศรษฐาตลอดช่วงบริหารประเทศหลายเดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่า อะไรที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยทำแล้วพลาด จะเลือกเลี่ยงการซ้ำรอยเป็นส่วนใหญ่

ถึงตรงนี้ต้องยอมรับว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล มีโอกาสจะแท้งสูงมาก เมื่อดูจากปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่ไม่เอื้อให้เลย

ตั้งแต่ท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ยืนยันว่าจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ย ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เสนอแนะให้รัฐบาลปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 อย่างเคร่งครัด คำว่าวิกฤตต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์และเชิงวิทยาศาสตร์ และล่าสุดของผลการศึกษาของคณะกรรมการฯ ชุด สุภา ตัวเลขทางเศรษฐกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ที่เกินกว่าจะคอนโทรลให้เห็นด้วยว่า วิกฤต

หนทางมันดูยิ่งแคบลงไปเรื่อยๆ และมันเหมือนว่าหนทางเดียวที่โครงการจะไม่แท้งคือ การลดสเป็กลง โดยการไม่กู้ และแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เสมือนการช่วยเหลือเท่านั้น

ซึ่งรัฐบาลต้องยอมเสียรังวัดและเสียหน้าบ้าง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

เปิดหนังสือ ‘หมอวรงค์’ ร้อง กกต. สอบ 4 ประเด็นใหญ่ ฟัน ‘ทักษิณ’ ปราศรัยอุดรฯเข้าข่ายผิดกม.

ในการปราศรัยที่อุดรที่ผ่านมา จริงอยู่คุณมีสิทธิ์เสรีภาพที่จะพูด อยากจะปราศรัย เป็นเรื่องของคุณ แต่คุณต้องรับรู้นะครับว่า บ้านเมืองมีขื่อมีแป ถ้าคุณทำให้สงสัยได้ว่า มีความเสี่ยงที่ทำผิดกฏหมาย