เคลื่อนต่อเอาผิด เครือข่ายช่วยเหลือ "ทักษิณ"

จับทิศทางกระแสสังคมได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนในสังคมมองว่า การที่ทักษิณได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่านักโทษคนอื่นๆ ทั่วประเทศ จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมถูกวิจารณ์ว่าอยู่ในยุคเสื่อมถอย ผู้คนในหลายภาคส่วนจึงเริ่มคิดว่า อาจถึงเวลาที่สังคมต้องเรียกร้องให้มีการ "ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม" ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ คือ "ตำรวจและดีเอสไอ-อัยการ-ศาล-กรมราชทัณฑ์-กรมคุมประพฤติ" ก่อนที่ระบบงานยุติธรรมของประเทศไทยจะเสื่อมถอย ประชาชนสิ้นศรัทธาไปมากกว่านี้!

ไม่ได้ผิดความคาดหมายมากนักกับการนัดชุมนุมเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 12-14 ม.ค. ของ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่มี 2 แกนนำคือ พิชิต ไชยมงคล และนัสเซอร์ ยีหมะ เป็นหัวหอกหลักในการเคลื่อนไหวเรื่องนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้นัดชุมนุม บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงสายวันอาทิตย์ที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา

ภาพรวมการเคลื่อนไหวดังกล่าวต้องยอมรับว่า ยังไม่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองให้กับ

ทักษิณ ชินวัตร-รัฐบาล-กระทรวงยุติธรรม-กรมราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจ

 ได้มากนัก เพราะจำนวนคนมาร่วมกิจกรรมไม่มากเท่าใด

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่า ขณะนี้ผู้คนในสังคมเกิดกระแสความรู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมองว่ากรณีของทักษิณทำให้กระบวนการยุติธรรม-การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยไม่มีความหมาย ขาดความศักดิ์สิทธิ์ 

จากความจริงเชิงประจักษ์ที่ก็เห็นชัด กรมราชทัณฑ์และ รพ.ตำรวจเลือกปฏิบัติกับทักษิณจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า

ความยุติธรรมสีดำ

จนคนในสังคมเห็นไปในทางเดียวกันว่า การบังคับใช้กฎหมายมีการเลือกปฏิบัติ เพื่อช่วยเหลือคนบางคนที่มีอำนาจทางการเมืองและการเงิน จนทำให้ระบบราชทัณฑ์ของประเทศไทยกลายเป็นเรื่องตลก และคนในสังคมเห็นว่า ถ้อยคำสวยหรูของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และกระทรวงยุติธรรมที่เคยเขียนไว้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลว่าจะยึดหลักและฟื้นฟู หลักนิติธรรม สุดท้ายเป็นแค่ถ้อยคำสวยหรูในหน้ากระดาษ ที่ไปแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา เพราะสุดท้ายไม่เกิดขึ้นจริง หลังเกิดกรณีทักษิณ

อย่างไรก็ตาม การที่ความเคลื่อนไหวของ คปท.เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจยังไม่ถึงจุดพีก คนยังมาไม่มาก ที่ก็คงย่อมทำให้ทักษิณมั่นใจมากขึ้นว่า การที่ตัวเขาและเครือข่ายมีการช่วยเหลือกัน จนทำให้ทักษิณไม่ต้องติดคุกแม้แต่คืนเดียว นับแต่กลับมาเมื่อ 22 ส.ค.2566 สุดท้ายแล้วความไม่พอใจที่เกิดขึ้น ก็แค่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย หรือวงสนทนาตามวงกาแฟ วงสุราและวงข้าวเท่านั้น ยังไม่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมือง จนทำให้กรมราชทัณฑ์ต้องรีบพาตัวทักษิณออกจาก รพ.ตำรวจ กลับไปนอนคุกที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานครแต่อย่างใด 

พูดง่ายๆ ฝ่าย ทักษิณ-เพื่อไทย คงมองว่าม็อบกดดันนักโทษทักษิณยัง ปลุกไม่ขึ้น-จุดไม่ติด

ดังนั้นหลังจากนี้เชื่อว่าทักษิณจะยื้ออยู่ รพ.ตำรวจต่อไป จนครบกำหนดไปถึงช่วงประมาณวันที่ 22 ก.พ. ที่ทักษิณถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ การพักการลงโทษ เพราะถือว่าเข้ารับการรับโทษมาแล้ว 6 เดือน หลังมีการพระราชทานอภัยลดโทษให้เหลือจำคุก 1 ปี อันจะทำให้ทักษิณได้รับการพักการลงโทษ แต่ขณะนี้ก็จะยื้ออยู่ รพ.ตำรวจต่อไปเรื่อยๆ แม้ต่อให้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อะไรต่างๆ ก็ตาม ก็จะไม่สนใจ

ขณะเดียวกันต้องจับตาว่า ในช่วงระหว่างนี้ไปจนถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทักษิณและทีมทนายความอาจจะใช้อีกวิธีหนึ่ง คือใช้ช่องทางตาม ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือการคุมขังนอกเรือนจำ ที่ออกมาเมื่อ 6 ธ.ค.2566

โดยจะรอให้ คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง ที่ตั้งขึ้นมาตามระเบียบดังกล่าว ที่มีรองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยาเป็นประธาน มีการประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณาว่านักโทษคนใดที่จะได้รับการพิจารณาให้ออกจากเรือนจำไปถูกคุมขังนอกเรือนจำ

วิเคราะห์ไว้ว่า หากทักษิณเลือกไปเข้าช่องทางตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวตามระเบียบข้างต้น ก็อาจมีการประกาศให้ รพ.ตำรวจเป็นสถานที่คุมขังนอกเรือนจำ เพื่อควบคุมตัวทักษิณอย่างเป็นทางการ หรือจะประกาศให้บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นพื้นที่คุมขังนอกเรือนจำก็ได้ แต่แนวโน้มก็น่าจะเป็น รพ.ตำรวจมากกว่า

ซึ่งหากกระบวนการต่างๆ ออกมาตามนี้ ก็จะทำให้การอยู่ รพ.ตำรวจของทักษิณ จะปลดล็อกเรื่องต้องใช้หลักฐานทางการแพทย์ เช่น ความเห็นแพทย์ในการตรวจรักษา-ใบรับรองแพทย์ต่างๆ เพื่อหาเหตุผลให้ทักษิณได้อยู่ รพ.ตำรวจต่อ เรื่องทางการแพทย์ก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป

จากนั้นทักษิณก็อยู่ รพ.ตำรวจไปเรื่อยๆ จนถึง 22 ก.พ.2567 ที่ถึงตอนนั้นก็จะครบประมาณ 6 เดือน เพื่อไปเข้าหลักเกณฑ์การพักการลงโทษ ที่สุดท้ายก็ทำให้ทักษิณไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียวตามที่เคยประกาศไว้มาตลอด

โดยถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่า มีโอกาสที่จะได้เห็นทักษิณไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียวเกิดขึ้นจริง!!!

สำหรับท่าทีของ คปท.ที่เป็นหัวหอกหลักในการตรวจสอบและเคลื่อนไหวนอกสภาฯ เรื่อง ทักษิณจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อจากนี้

พิชิต-แกนนำ คปท. เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 16 ม.ค. จะเดินทางไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อขอพบกับเลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีที่ก่อนหน้านี้ คปท.ได้เคยไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการพานายทักษิณออกจากเรือนจำมาที่ รพ.ตำรวจ เช่น ผู้บริหารในกรมราชทัณฑ์-นายแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐอาจต้องกลายเป็นแพะรับบาป รับโทษมีคดี เพราะมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความเสียหายเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งจะมีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อประชาชน 20,000 ชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งต่อไปยังประธานศาลฎีกา ในกรณีที่หากการไปพบกับเลขาธิการ ป.ป.ช.แล้วพบว่าเรื่องที่ยื่นไปไม่มีความคืบหน้า โดยหากออกมาแบบนี้ คปท.ก็ต้องเคลื่อนไหวเพื่อให้ศาลฎีกามีการตั้งองค์คณะมาไต่สวนเอาผิด ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236

ส่วนเรื่องที่มีการมองกันว่า การเคลื่อนไหวของ คปท.กระแสสังคมยังไม่เอาด้วย หรือม็อบจุดไม่ติดนั้น  2 แกนนำ คปท.คือ  พิชิต และนัสเซอร์ ยีหมะ มีทัศนะต่อเรื่องนี้

โดย นัสเซอร์ มองว่า ช่วง 100 กว่าวันที่ คปท.เคลื่อนไหวและพูดเรื่องทักษิณ เหมือนกับการปลุกพื้นจิตใจ ปลุกฟื้นกระบวนการขึ้นมาใหม่ ให้คนที่เคยต่อสู้ได้เห็นว่า ภารกิจหน้าที่การงานในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของผู้บริหารบ้านเมืองมันยังไม่จบ ปรากฏการณ์ของนักโทษชายทักษิณ คือปรากฏการณ์ของการจัดการปัญหาเหล่านี้ของภาคประชาชนมันไม่สะเด็ดน้ำ ส่วนคำถามว่า ทำไมถึงปลุกไม่ขึ้น คิดว่าอย่าไปมองปรากฏการณ์ กปปส.แล้วมาอธิบายการพูดถึงนักโทษชายทักษิณ มันคนละปัจจัย เพราะรอบนี้ไม่ใช่การปลุกประชาชน แต่เป็นการออกมายืนหยัดในหลักของบ้านเมือง ปลุกกระบวนการยุติธรรม ความเป็นธรรม ที่ต้องใช้เวลา

“การชุมนุมไม่จำเป็นต้องเริ่มจากปริมาณ การชุมนุมที่สำคัญ มีน้ำหนักและแหลมคมที่สุดก็คือ เหตุและผล และประเด็นในการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นแล้ว สังคมไทยต้องเรียนรู้ใหม่กับการเคลื่อนไหวทางสังคมว่า ปริมาณไม่ใช่ตัวชี้วัด แต่อยู่ที่ประเด็นและเหตุผลต่างหาก หากคนที่เขาอยู่บ้าน แต่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว ก็สามารถแอกชันอยู่ที่บ้านก็ได้”

ขณะที่ พิชิต ไชยมงคล ให้มุมมองในประเด็นนี้ โดยแสดงความเชื่อมั่นว่า ถึงตอนนี้กรณีของทักษิณคิดว่าปลุกขึ้นแล้ว แต่รัฐบาลด้อยค่าพลังของพี่น้องประชาชนเกินไป ต้องบอกว่าการปลุกขึ้นหรือไม่ขึ้น ไม่ได้วัดจากจำนวนคนที่มาร่วมเคลื่อนไหวชุมนุม แต่อยู่ที่สังคมคิดแบบเดียวกันกับสิ่งที่เราพูดหรือไม่

“วันนี้คนในสังคม ผมคิดว่าเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คิดตรงกับพวกเรา คปท. แค่นี้ผมก็คิดว่ามันปลุกขึ้นแล้ว”

หลังจากนี้รอดูต่อไปว่า กรณีของนักโทษชายทักษิณ ภาคส่วนต่างๆ จะมีท่าทีและการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป

กระนั้นจับทิศทางกระแสสังคมได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนในสังคมมองว่า การที่ทักษิณได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่านักโทษคนอื่นๆ ทั่วประเทศ จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมถูกวิจารณ์ว่าอยู่ในยุคเสื่อมถอย

ผู้คนในหลายภาคส่วนจึงเริ่มคิดว่า อาจถึงเวลาที่สังคมต้องเรียกร้องให้มีการ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ คือ

ตำรวจและดีเอสไอ-อัยการ-ศาล-กรมราชทัณฑ์-กรมคุมประพฤติ

ก่อนที่ระบบงานยุติธรรมของประเทศไทยจะเสื่อมถอย ประชาชนสิ้นศรัทธาไปมากกว่านี้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จตุพร' ได้ยินมา 'ทักษิณ' ถูกล็อกเป้าจบในพ.ย.นี้ ส่วน'อุ๊งอิ๊ง' ไม่เกินตรุษจีน 68

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า หลังจากนายกฯ คุณหนูอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร นำ ครม

เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เวทีทวงคืนพรรคส้ม หลังพ่ายศึก อบจ.ราชบุรี

เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เปิดตัวเป็นผู้นำพรรคส้ม ลงสู้ศึกเลือกตั้งไม่สวยเท่าใดนัก หลังไม่สามารถนำทัพพรรคประชาชนปักธงเอาชนะใน ศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

'อนาคตไกล' ชี้เปรี้ยงพรรคส้มแพ้เลือกตั้งนายกอบจ.ราชบุรี สะท้อน 'ยิ่งยุบยิ่งไม่โต'

'ภาณุวัฒน์-อนาคตไกล' ชี้ผลการเลือกตั้งนายกอบจ.ราชบุรี พรรคประชาชน แพ้ยับ สะท้อนก้าวไกลแปลงร่างทรงใหม่ 'ยิ่งยุบ ยิ่งไม่โต'