“ชั่วโมงนี้แกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย เดินหน้าโครงการนี้อย่างเต็มพิกัด ชนิดพร้อมชน และพร้อมสร้างแพะ หากไปไม่ถึงฝัน เนื่องจากหาเสียงไว้และถอยไม่ได้”
จับความเคลื่อนไหวรัฐบาล ในเรื่องโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ชัดเจนว่าวันนี้ยังไม่ถอย แม้อุปสรรคขวากหนาม ตลอดจน ‘กับระเบิด’ จะรออยู่ปลายทางเต็มไปหมด
โดยเฉพาะความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่ตั้งตารอ แต่ปรากฏว่า ออกมา ‘ไม่เป็นคุณ’ กับรัฐบาลเลย
คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ขวาง หรือไม่ได้ไฟเขียว แต่บอกเงื่อนไขใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 53 มาตรา 6, 7 และ 9 ที่รัฐบาลจะต้องปฏิบัติให้ครบเพื่อความปลอดภัย
ด่านสำคัญในเงื่อนไขใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้มา คือ ‘วิกฤต-เร่งด่วน-คุ้มค่า’ ที่รัฐบาลจะต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์ และเชิงวิทยาศาสตร์
มองดูแล้วแค่ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รัฐบาลก็จะปลอดภัย ซึ่งมันดูเหมือนจะง่าย แต่กลับไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะประเด็น ‘วิกฤต’ หรือ ‘ไม่วิกฤต’
ในมุมมองของรัฐบาล แน่นอนว่ามันต้องวิกฤตแล้ว เพื่อให้เข้าเงื่อนไขใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แต่ปัญหาคือ มีบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถคอนโทรล หรือโน้มน้าวให้เห็นเหมือนกันได้
หน่วยงานนั้นคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
แค่เพียงนิยามคำว่า วิกฤตของรัฐบาล กับวิกฤตของ ธปท. ไม่เท่ากัน บางทีโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท อาจจะ ‘แท้ง’ ได้เลย
ซึ่งคงต้องรอติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน ว่าจะถกกันในเรื่องนี้อย่างไร หลังนายเศรษฐาเปิดเผยว่า ไม่ได้คุยกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. เรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในระหว่างการหารือกันที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ม.ค. เพราะไม่ต้องการคุยในที่มืด แต่ต้องการคุยให้เป็นที่ประจักษ์ในคณะกรรมการชุดใหญ่
การประชุมวันนั้น ซึ่งยังไม่ได้มีการกำหนดวันน่าจะเข้มข้น โดยเฉพาะประเด็น ‘วิกฤตหรือไม่’ ในมุมมองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งรัฐบาลนายเศรษฐาเอง ตอนนี้อยู่ในโหมด ‘พุ่งชน’ กับทุกคนที่ตั้งแท่นจะขวาง
สัญญาณมันชัดมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากตัวนายเศรษฐา และองคาพยพ เปิดฉากใส่ผู้ว่าฯ ธปท.ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ย
คนจุดประเด็นคนแรกคือ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ นักเขียนชื่อดัง ที่ออกมาวิพากษ์กำไรของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจในประเทศ ตามด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กุนซือเศรษฐกิจข้างกายนายเศรษฐา ที่กระแทกกระทั้นใส่ผู้ว่าฯ ธปท. ไม่เว้นแม้แต่ตัวนายกฯ เอง ที่โพสต์เฟซบุ๊กในวันเดียวกัน และเรื่องเดียวกัน
จุดมุ่งหมายของทั้ง ‘เศรษฐา-กิตติรัตน์’ คือ ต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีผู้ว่าฯ ธปท.เป็นประธาน ลดอัตราดอกเบี้ย โดยอ้างถึงความเดือดร้อนของประชาชน
นอกจากระนาบฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติในส่วนของพรรคเพื่อไทยเองต่างก็ใช้กลไกคณะกรรมาธิการเรียกผู้แทน ธปท.ไปชี้แจงเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ และฉวยจังหวะใช้เวทีนี้รุมขยี้ผู้ว่าฯ ธปท.ทางอ้อม
องคาพยพของพรรคเพื่อไทยทั้งหมดตอนนี้ ใช้วิธีรบโดยไม่ทำให้ตัวเองผิดกฎหมาย ไม่ให้ดูเป็นการเข้าไปแทรกแซง ธปท. ด้วยการหยิบยกความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง มาร่ายว่า เกิดจากผู้ว่าฯ ธปท.ในฐานะประธาน กนง.ที่ไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะเดียวกัน บรรดาธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต่างร่ำรวย อยู่สุขสบาย
เป็นการเล่นสงครามจิตวิทยา พยายามจะสื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดๆ ว่า ผู้ว่าฯ ธปท.คือ ‘ผู้ร้าย’
ซึ่งตอนนี้จะเริ่มเห็นประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลหลายคนต่างพร้อมใจกันออกมาสร้างกระแสโกรธเคือง และเรียกร้องให้มีการปลดผู้ว่าฯ ธปท.
แต่การปลดผู้ว่าฯ ธปท.ไม่ง่าย และดูจะยากกว่าการเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีในยุคนี้ด้วยซ้ำ เพราะต้องเข้าเกณฑ์ตามกรอบ พ.ร.บ.ธปท. ที่ระบุไว้นอกเหนือจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว ผู้ว่าฯ ธปท.จะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 1.ตาย 2.ลาออก
3.ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใด ตามมาตรา 28/17 4.คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ และ 5.คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง
และเว้นเสียแต่ว่า ผู้ว่าฯ ธปท. จะลาออกด้วยตัวเอง!
ดังนั้นรัฐบาลจึงเลือกใช้วิธีการทำสงครามจิตวิทยาด้วยการใช้มาตรการและกระแสสังคมกดดัน ดังที่ปรากฏตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ซึ่งรัฐบาลเองไม่ได้พอใจผู้ว่าฯ ธปท.เฉพาะเรื่องการไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงท่าทีก่อนหน้านี้เรื่องโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทด้วย
มีการมองกันว่า สาเหตุที่รัฐบาลรุกหนักใส่ผู้ว่าฯ ธปท.ในฐานะประธาน กนง. เพื่อเป็นการกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้เอื้อต่อการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน โดยเฉพาะผู้กู้ธนาคาร อย่างเช่น กู้บ้าน ผ่อนบ้าน ที่ต้องแบกดอกเบี้ยสูง ซึ่งเป็นการสร้างผลงานกับประชาชน
โดย กนง.จะมีการประชุมกันเพื่อพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นการเร่งเครื่องกดดัน
อีกกระแสข่าวที่ปรากฏในสัปดาห์เดียวกันคือ การเปลี่ยนแปลงตัว ‘เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา’ จาก นายปกรณ์ นิลประพันธ์ ไปเป็นคนอื่น
ท่าทีที่น่าสนใจคือ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคาร ซึ่งมีประเด็นร้อนอย่างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกฯ ได้ให้นโยบายเกี่ยวกับการต่ออายุราชการว่า “หลังจากนี้ต่อไป ในรัฐบาลชุดนี้จะไม่มีการต่ออายุเกษียณอายุราชการ เกษียณแล้วเกษียณเลย”
ซึ่งวันดังกล่าวไม่ได้มีเรื่องการต่ออายุราชการของใครเลย ทำให้หลายฝ่ายตีความว่า เป็นตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่พอใจการทำงานของอดีตเลขาธิการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รายนี้มาแล้วสักพัก
หนำซ้ำ เรื่องความเห็นของทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา และการให้สัมภาษณ์ของนายปกรณ์ เกี่ยวกับการกู้เงินไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ก็ดูจะไม่ถูกใจฝ่ายบริหารเท่าใดนัก
โดยนายปกรณ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อเดือนตุลาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 และวุฒิสภาให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ซึ่งนายปกรณ์ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในต้นปี 2563
ต้นปีนี้นายปกรณ์จะดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ซึ่งหาก ครม.ไม่ได้ขยายระยะเวลาดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 ปี เมื่อครบวาระแล้วสามารถเปลี่ยนตัวเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องรอฤดูกาลโยกย้ายเหมือนกับหัวหน้าส่วนข้าราชการอื่นๆ
ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในสเปกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยตั้งแต่อดีตคือ คนที่พร้อมจะให้ความเห็นทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาล ต่างจากนายปกรณ์ ที่แม้จะไม่ได้ขวางชัดแจ้ง แต่ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะสนับสนุน
ดังนั้นจึงเป็นตำแหน่งที่อาจโดนพุ่งชน เซ่นโครงการดิจิทัลวอเล็ต 1 หมื่นบาท ในภายภาคหน้าได้
ยังไม่นับรวมตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานที่ต้องให้ข้อมูลเชิงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เกี่ยวโยงกันไปกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ จะครบวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปีในปีนี้ ที่ยังต้องลุ้นเหมือนกันว่า จะได้ต่อวาระดำรงตำแหน่งหรือไม่ หลังนายเศรษฐาให้นโยบายในที่ประชุม ครม.เมื่อวันอังคารว่า ต่อไปนี้เลิกต่ออายุราชการ
ชั่วโมงนี้แกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยเดินหน้าโครงการนี้อย่างเต็มพิกัด ชนิดพร้อมชน และพร้อมสร้าง ‘แพะ’ หากไปไม่ถึงฝัน เนื่องจากหาเสียงไว้และถอยไม่ได้
ไม่แปลกที่จะเปิดศึกกับทุกฝ่ายที่ตัวเองเห็นว่าเป็นจระเข้ขวางคลองอยู่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
'นิพนธ์' ซัดรัฐบาลแจกเงินหมื่น เฟส 2 หวังผลการเมือง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน
ป้า 67 ป่วยหลายโรค หาบเร่ขายของเลี้ยงชีพ หวังได้เงินหมื่น เฟส 2 หวั่นตกหล่น บัตรคนจนก็ไม่มี
บุรีรัมย์ ป้า 67 ป่วยความดัน มีก้อนเนื้อที่คอ แต่ต้องหาบเร่ขายของเลี้ยงชีพและลูกพิการ หวังได้เงินหมื่น เฟสสอง มาแบ่งเบา
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
'ชูศักดิ์' บอกรู้ตั้งแต่เห็นคำร้อง 'ธีรยุทธ' ไปไม่ได้ เหตุไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างปกครอง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณา
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567