ศาลรัฐธรรมนูญ-ม.53 ด่านสกัด'แจกเงินหมื่น'

ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 มีนายพนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิจารณาข้อกฎหมายในการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงินหมื่น ทำได้หรือไม่ ตามที่ขอหารือไปเมื่อปลายปีที่แล้ว 

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ส่งเรื่องมาที่รัฐบาล จากนั้น เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง รวมถึง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง พยายามให้ข่าวตีกินทำนองว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา “ไฟเขียว” และจะจ่ายให้ประชาชนตามกำหนดเดิมในเดือน พ.ค.นี้

กระทั่งความจริงมาปรากฏเมื่อ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่า ไม่มีคำว่า ไฟเขียว พร้อมอธิบายว่า ประเด็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเป็นข้อกฎหมายอย่างเดียว 

โดยเสนอให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 แม้ก่อนหน้า รมช.จุลพันธ์จะอ้างมีมาตรา 57 ด้วย   

"เลขาฯ ปกรณ์" บอกว่า การให้ความเห็นครั้งนี้ยึดตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ตอบอย่างนั้นเป๊ะ ถ้าทำตามผม ปลอดภัยแน่นอนครับ และถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. 

 ส่วนจะบอกว่าเศรษฐกิจเข้าวิกฤตหรือไม่... "คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีข้อเสนอแนะใด ผมเป็นนักกฎหมาย ผมชี้ไม่ได้ว่ารัฐบาลควรทำอย่างไร เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยตัวเลขข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์" เลขาฯ กฤษฎีกากล่าว

สำหรับที่ปรึกษาของรัฐบาลให้น้ำหนักมากที่สุดก็คือมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561  

โดยมีสาระสำคัญว่า "การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่จำเป็นต้องดำเนินการโดย 'เร่งด่วน' และ 'ต่อเนื่อง' เพื่อ 'แก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ' โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน"

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเงื่อนไขของมาตรา 53 พบว่ามี 4  ด่านสกัด ที่รัฐบาลจะต้องปรับบทสถานการณ์ให้เข้ากับข้อกฎหมายเพื่อเข็นผ่านให้ได้ 

ประกอบด้วย ข้อ 1 เร่งด่วน คำถามคือ ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริง ทำไมไม่ตราเป็นพระราชกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันที การตราเป็นพระราชบัญญัติต้องผ่าน 2 สภา สภาละ 3 วาระ และอาจมีขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดอาจต้องใช้เวลานาน

ข้อ 2 ต่อเนื่อง คำถามคือ โครงการนี้ไม่ได้ต้องการใช้เงินต่อเนื่อง แต่ใช้ครั้งเดียวทั้ง 5 แสนล้านบาท แจกเข้าบัญชีประชาชน 50 ล้านคน ตามนโยบายที่หาเสียงของพรรคเพื่อไทย และนายกฯ ก็ยืนยันว่าจะไม่ทยอยจ่ายเงิน 

ข้อ 3 แก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ คำถามคือ วันนี้ประเทศไม่ได้ประสบปัญหาวิกฤตหรือไม่ มีเพียงแต่รัฐบาลเท่านั้นที่ยืนยันเรื่องตรงนี้ สวนทางกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติ หรือนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่เห็นด้วยตรงจุดนี้ หากเทียบกับช่วงยุคโควิด-19

ข้อ 4 ไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน คำถามคือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 พึ่งเข้าสภาไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค. และรับหลักการในวันที่ 5 ม.ค. แต่กลับไม่ยอมบรรจุงบประมาณโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้ และยังถือว่าย้อนแย้งกับตอนที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ไว้กับ กกต. เมื่อปลายเดือนเมษายน 2566 ว่าจะใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี และยืนยันตอนหาเสียงว่าจะไม่มีการกู้เงินมาแจกอย่างแน่นอน 

เมื่อดูเงื่อนไข 4 ประการของมาตรา 53 ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะมีด่านสกัดอีกมาก มิพักต้องพิจารณาเงื่อนไขในมาตราอื่นๆ มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 57 ที่อาจทำให้ตกม้าตายได้ทุกเมื่อ 

สำหรับขั้นตอนต่อไป รัฐบาลเตรียมนำข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ในเร็วๆ นี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานต่างๆ อาทิ แบงก์ชาติ และสภาพัฒน์ จากนั้นก็ให้กระทรวงการคลังไปยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำเข้า ครม.ต่อไป  

ซึ่งต้องจับตาว่าจะมี ครม.พรรคร่วมรัฐบาลไม่เข้าประชุม หรืองดออกเสียงหรือไม่ แม้ทุกพรรคจะยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนนโยบายบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่มีสงวนความเห็นไว้ว่าต้องถูกต้องตามกฎหมาย 

สมมุติว่า ครม.เห็นชอบก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูข้อกฎหมายอีกครั้ง ก็ต้องดูว่ามีอะไรท้วงติงอีกหรือไม่ ก่อนนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อออกกฎหมายต่อไป 

ในขั้นของสภา รัฐบาลมี 314 เสียง จาก 500 เสียง ก็จะพยายามเข็นผ่านไปได้ แต่ในขั้นตอนของวุฒิสภาเป็นสิ่งที่น่าห่วงอยู่ไม่น้อย เพราะมี สว.ตัวตึงหลายคนออกมาส่งเสียงเตือนไว้ล่วงหน้า และบางคนต้องการทิ้งทวนก่อนอำลาตำแหน่งในเดือน พ.ค.นี้

โดยเตือนว่าหากยังดันทุรังก็เสี่ยงคุกทั้ง ครม. หรือถึงขั้นต้องเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศ เพื่อสังเวยโครงการเรือธงของพรรคเพื่อไทย 

อย่างไรก็ตาม แม้ สว.จะปัดตกกฎหมายไม่ได้ แต่ก็มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม หรือยับยั้งร่างกฎหมายได้ ในทางการเมือง หากมีการยับยั้งกฎหมายโดยสภาสูง ก็เรียกว่ารัฐบาลเสียงรังวัดเป็นอย่างมาก และถือเป็นเผือกร้อนที่โยนกลับให้สภาล่างจะกล้ายืนยันร่างกฎหมายหรือไม่ 

หากสุดท้ายสภายืนยันร่างเดิมตามแนวทางของพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะมาถึงด่านสำคัญสุดคือศาลรัฐธรรมนูญ ที่เปิดโอกาสให้ สส.และ สว.ยื่นตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยก่อนหน้านี้มีบทเรียนมาแล้วในสมัยพรรคเพื่อไทยยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็เคยดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และสุดท้ายถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากบทสรุปเป็นเช่นนั้น อาจมีการเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบโดยนายกฯ ลาออกหรือยุบสภา  

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง มองแง่บวกถือเป็นทางลงของพรรคเพื่อไทย พร้อมอ้างกับประชาชนว่าได้พยายามผลักดันเต็มที่แล้ว แต่ถูกสกัดโดยศาลรัฐธรรมนูญ และไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับไว้ อีกทั้งก็ไม่ได้ถูกคว่ำกฎหมายตั้งแต่วาระแรกของสภา. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เวทีทวงคืนพรรคส้ม หลังพ่ายศึก อบจ.ราชบุรี

เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เปิดตัวเป็นผู้นำพรรคส้ม ลงสู้ศึกเลือกตั้งไม่สวยเท่าใดนัก หลังไม่สามารถนำทัพพรรคประชาชนปักธงเอาชนะใน ศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

สืบสันดาน'ระบอบทักษิณ' การเมืองวิปริต รอวันวิบัติ

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มี อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ทรยศหักหลัง สางแค้นคู่ปรับทางการเมือง โดยไม่สนใจมารยาทและจริยธรรมทางการเมืองแต่อย่างใด

“โผทหาร”ทบ.ร้อนระอุ ทิ้งไพ่ชิงขุมกำลังปฏิวัติ

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เหล่าทัพได้ส่ง “โผทหาร” ไปที่สำนักงานปลัดกกระทรวงกลาโหมเกือบครบหมดแล้ว เพราะเวลาที่บีบรัดเข้ามา จากกรอบเวลาที่ควรจะทำโผให้เสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือน ก.ย. เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทาง รมว.กลาโหม รักษาการ ในฐานะของประธานคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล จึงเรียกประชุมบอร์ดโยกย้ายในวัน 3 ก.ย.นี้

ปิดป่าฯ-สลาย“ปชป.” กฐินร้อนจ่อสอย“อิ๊งค์”

เป็นไปตามคาด เมื่อ “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค พท. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า สส.ไม่สบายใจที่จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะพฤติกรรมแทงข้างหลังและไม่ยอมรับนายกฯ คนที่ 31 ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค