เลือกตั้งซ่อม ส.ส.แทน ‘สิระ’ ศึกศักดิ์ศรี ‘พปชร.’ อ่านใจคนกรุง

กลายเป็นสนามเลือกตั้งซ่อมที่ได้รับความสนใจขึ้นมาทันที สำหรับเขต 9 หลักสี่ กทม. ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ นายสิระ เจนจาคะ พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. กรณีเคยต้องคำพิพากษาและถูกจำคุก

มีการมองว่า ผลการเลือกตั้งของสนามแห่งนี้อาจชี้วัดอะไรได้บางอย่าง โดยเฉพาะความนิยม ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของคนเมืองกรุงในขณะนี้ที่มีต่อพรรคการเมืองต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร

โดยในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคพลังประชารัฐคือพรรคที่กวาด ส.ส.เมืองกรุงเข้าสภาได้มากที่สุด 12 ที่นั่ง รองลงมาคือ พรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน 

ตอนนั้นหลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่า ชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐส่วนหนึ่งมาจากความนิยมในตัวของ “บิ๊กตู่”- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในขณะนั้น 

ขณะที่คะแนนของพรรคอนาคตใหม่ไหลมาจากพรรคไทยรักษาชาติ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก่อนวันเข้าคูหาไม่กี่วัน 

สำหรับสนามเลือกตั้งเขต 9 กทม. ในศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นั้น ถือว่าเข้มข้นไม่น้อยเหมือนกัน เชือดเฉือนกันไม่ขาดเท่าไหร่ โดย นายสิระ จากพรรคพลังประชารัฐ ได้ไป 34,907 คะแนน ชนะแชมป์เก่าหลายสมัยอย่าง นายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ นายเสนาะ เทียนทอง อดีตแกนนำวังน้ำเย็น ที่ได้ไป 32,115 คะแนน 

ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ ที่ส่ง นายกฤษณุชา สรรเสริญ แม้จะเป็นหน้าใหม่ แต่ได้ไปไม่น้อยถึง 25,735 คะแนน ส่วนคู่แข่งคนเก่าของ นายสุรชาติ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่ง พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ได้ไป 16,255 คะแนน 

ส่วนในครั้งนี้ หลายฝ่ายจับตาไปที่การห้ำหั่นกันระหว่าง พรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย โดยมีรายงานว่า พรรคพลังประชารัฐอาจส่ง “มาดามหลี”-นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยาของนายสิระ ที่ก่อนหน้านี้ตั้งใจจะไปลงสมัคร ส.ส.เขตดอนเมือง มาป้องกันแชมป์แทนสามี ขณะที่พรรคเพื่อไทย จะส่ง นายสุรชาติ มาล้างตา ทวงคืนศักดิ์ศรีแชมป์หลายสมัย 

มีการคาดการณ์กันว่า นายสุรชาติ มีโอกาสจะชำระแค้นได้สำเร็จ เพราะที่ผ่านมาลงพื้นที่ต่อเนื่อง ไม่เคยทิ้งพื้นที่เลยแม้จะพ่ายแพ้ในครั้งนั้น

ขณะเดียวกัน ในการเลือกตั้งครั้งก่อน นายสุรชาติเองไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้ต่อนายสิระแต่อย่างใด หากแต่อีกฝั่งมีตัวช่วยและอำนาจรัฐอยู่ในมือ หากสู้กันแฟร์ๆ ผลไม่มีทางออกมาเป็นอย่างนี้แน่ 

แต่จะมองข้ามพรรคก้าวไกล หรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เช่นกัน เพราะครั้งก่อนขนาดส่งผู้สมัคร ส.ส.โนเนม ยังโกยแต้มเข้าสภาได้เกือบ 3 หมื่นคะแนน 

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น วันนี้ไม่เหมือนเดิม เจ้าถิ่นเดิมที่เคยครองพื้นที่นี้ครึ่งหนึ่งคือ จตุจักร อย่าง “เอ๋”-อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ย้ายค่ายไปตั้งรกรากอยู่กับพรรคกล้าของนายกรณ์ จาติกวณิช แล้ว  

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 ครั้งนี้ สำคัญกับพรรคพลังประชารัฐไม่น้อย และอยู่ในสภาวะแพ้ไม่ได้เช่นกัน เพราะคะแนนที่ออกมาอาจบอกได้ว่า ความรู้สึกของคนกรุงที่มีต่อ บิ๊กตู่ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กับ วันนี้ ยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ 

นอกจากนี้ ยังพอจะทำให้เห็นสถานการณ์ของตัวเองในสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมีขึ้นในกลางปี 2565 ด้วยว่า คะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐและ บิ๊กตู่ เป็นอย่างไร

สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้น พวกเขาต้องการชนะเพื่อล้างตา แต่ไม่ได้ถึงขนาดกับต้องทุ่มหมดหน้าตัก เพื่อจะคว้าเก้าอี้ ส.ส.ให้ได้ เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นช่วงปลายเทอมรัฐบาลแล้ว อาจได้เข้าสภาไปเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ที่สำคัญ มันยังไม่มีนัยสำคัญต่อเสียงในสภา

ด้านพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมามั่นใจว่าตัวเองกุมหัวใจของคนรุ่นใหม่ และต้องการพิสูจน์ตัวเอง ลบคำปรามาสว่า คะแนนที่ได้ในเมืองหลวงเมื่อครั้งก่อนไม่ได้มาจากอานิสงส์ของการยุบพรรคไทยรักษาชาติ แต่เป็นคะแนนความนิยมของพรรคอนาคตใหม่เอง

รอบนี้จะทำให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลได้รับความนิยมสูงจริงหรือไม่

ซีกพรรคประชาธิปัตย์ พวกเขารู้ตัวดี แต่สนามนี้ต้องสู้ เพราะถือว่าทำให้พอมองเห็นอะไรเหมือนกัน โดยเฉพาะศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่หมายมั่นปั้นมือจะทวงคืนความยิ่งใหญ่ หลังส่ง “ดร.เอ้”-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีคนดัง เข้าชิงตำแหน่ง

คะแนนที่ได้ อาจเป็นนัยสำคัญกับปฏิกิริยาตอบรับที่มีต่อ “ดร.เอ้” ด้วยว่าเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม สนามนี้หากจะบอกว่าความพ่ายแพ้ของใครจะเสียหายที่สุด คงหนีไม่พ้นพรรคพลังประชารัฐ ลำพังเสียเก้าอี้ในสภา 1 เสียงยังพอทำเนา แต่มันจะสะท้อนไปถึงคะแนนนิยมในตัวผู้นำประเทศอย่าง “บิ๊กตู่” ที่พรรคสนับสนุนมาโดยตลอดด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี