ชักเริ่มจะไม่แน่เสียแล้ว สำหรับการเปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ภายหลังจากมีความเคลื่อนไหวในการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้ได้ 1 ใน 3 จาก สว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ 84 คน จากทั้งหมด 250 คน เพื่อให้เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ อาจจะไปไม่ถึงฝัน เนื่องจาก สว.ขณะนี้เกิดการแบ่งกลุ่มก้อนกันอย่างชัดเจน โดยกลุ่ม สว.กำลังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งนายวันชัย สอนศิริ สว.และในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ออกมายอมรับเองว่าเสียงของ สว.ต่อเรื่องนี้ค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร
แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 สว.ที่มีความพร้อมจะอภิปรายรัฐบาล กลุ่มที่ 2 สว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการขอเปิดอภิปรายอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมองเห็นว่ารัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ และ กลุ่มที่ 3 สว.ที่ยังคงสงวนท่าทีไม่สนับสนุนและไม่คัดค้าน
การแตกเหล่าแตกกอของ สว.ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ถือว่ามีนัยทางการเมืองพอสมควร และเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่การโหวตเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏว่ามี สว.ไม่เห็นชอบ 13 เสียง และ งดออกเสียง 68 เสียง โดยมี สว.ที่สนับสนุนนายเศรษฐาครั้งนั้น 152 คน และถ้ามองลึกลงไปในรายละเอียดก็จะพบว่า สว.ทั้ง 13 เสียงและ 68 เสียง ส่วนใหญ่เป็น สว.ที่อยู่ในกลุ่มเครือข่ายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และมีจุดยืนต่อต้านระบอบทักษิณมาโดยตลอด
สว.ในกลุ่มนี้เองที่เป็นตัวตั้งตัวตีที่จะขอเปิดอภิปรายรัฐบาล โดยพุ่งเป้าไปที่นายเศรษฐาโดยตรงเป็นหลัก ไม่ใช่การอภิปรายถล่มรัฐบาลในภาพรวม ซึ่งที่ผ่านมา สว.ในกลุ่มนี้มักจะแสดงออกถึงความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลหลายเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็น โครงการเงินดิจิทัล ที่เห็นว่าเป็นนโยบายประชานิยมซึ่งจะเข้ามาทำลายระบบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นหลักการที่ สว.หลายคนเมื่อครั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. วางรากฐานเอาไว้ผ่านการยกมือสนับสนุนพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 จึงไม่ยอมที่จะให้นโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยเข้ามาเขย่าหลักการดังกล่าว หรือจะเป็นท่าทีของรัฐบาลที่วางเฉยต่อการให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังได้สิทธิ์รักษาตัวนอกโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์เกิน 120 วัน โดยไม่ออกมาชี้แจงให้สาธารณะคลายความสงสัยว่าเหตุใดอดีตนายกฯ ทักษิณถึงมีสิทธิ์เหนือกว่านักโทษคนอื่น
ดังนั้นหากจะมองว่า สว.กลุ่มนี้ที่ออกมาพยายามรวบรวมรายชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายรัฐบาลนั้น คงต้องการหวังผลในทางการเมืองและดิสเครดิตนายเศรษฐาอยู่ไม่น้อย
ขณะที่ เมื่อมองไปยังความเคลื่อนไหวของกลุ่ม สว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปรายนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ต้องการสร้างศัตรูในทางการเมือง ต้องไม่ลืมว่า สว.ชุดปัจจุบันกำลังจะดำรงตำแหน่งครบ 5 ปีและหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคมนี้ ที่สำคัญรัฐธรรมนูญยังห้ามไม่ให้ สว.ชุดนี้กลับเข้ามาเป็น สว.อีก จึงต้องหันไปสู่สนามเลือกตั้ง สส.แทน
ด้วยเหตุนี้ สว.จำนวนไม่น้อยจึงต้องการแต่งตัวและเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมกับการเลือกตั้ง สส.ที่จะเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดในปี 2570 โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้สมัคร สส.ที่เคยเป็นอดีต สว.จะต้องพ้นจากตำแหน่ง สว.มาแล้วเกิน 2 ปี เท่ากับว่าถ้า สว.หมดวาระในปีนี้ เก็บเนื้อเก็บตัวอีก 2 ปีก็สามารถสวมเสื้อพรรคการเมืองไปสมัคร สส.ได้ เว้นเสียแต่จะมีเหตุอะไรที่ทำให้นายเศรษฐาต้องยุบสภาเสียก่อน
การสร้างศัตรูกับพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลย่อมไม่เป็นผลดีกับตัว สว.ที่ยังกระหายโอกาสในทางการเมือง ทางเลือกที่เหมาะสมในเวลานี้คือ การอยู่ให้เป็นและเล่นไปตามกระแส จึงเป็นที่มาว่าทำไมถึงไม่ลงชื่อเพื่อขอเปิดการอภิปรายรัฐบาล แม้ว่าจะไม่มีการลงมติก็ตาม
เมื่อมองในภาพรวมของช่วงท้ายปลายวาระการดำรงตำแหน่งของ สว.ชุดนี้แล้ว ต้องยอมรับว่าแทบจะไม่เหลือไว้ซึ่งความเป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิเลยแม้แต่น้อย เพราะทุกย่างก้าวของ สว.ไม่ว่าจะไปทางไหนก็ล้วนแล้วแต่เป็นการทำเพื่อหวังผลในทางการเมืองแทบทั้งสิ้น
เรียกได้ว่ามิอาจเป็นที่พึ่งได้อีกต่อไปแล้วก็คงไม่ผิดไปจากความจริงแต่อย่างใด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
อดีตสว.วันชัย สะใจ! โพสต์สมน้ำหน้า นักร้องถูกตบกระบาลหน้าคว่ำ หมอไม่รับเย็บ
นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า สมน้ำหน้า นักร้องถูกตบกระบาลหน้าคว่ำ หมอไม่รับเย็บ....
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย