4เดือนรัฐบาล‘นายกฯนิด’ ติดสปีดผลงานแก้ปากท้อง

หลังรัฐบาล “นายกฯ นิด” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำทัพคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากหลายพรรคร่วมรัฐบาล เข้าบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2566 ที่มีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่ และจะครบ 4 เดือนในการเข้ามาบริหารประเทศในต้นเดือนมกราคม 2567

จากคำมั่นของนายเศรษฐาที่ว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชน มีความตั้งใจจริง และจะทำงานอย่างลืมความเหน็ดเหนื่อย ทุกวัน ทุกนาที จะเอาความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง และปัญหาปากท้องถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ที่จะต้องเร่งทำนโยบายออกมาที่เป็นประโยชน์กับประชาชนทุกคน

ทั้งนี้ตั้งแต่รัฐบาลเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ก็ติดสปีดทำงานทันที ในห้วงเวลา 4 เดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีการขยับขององคาพยพต่างๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่การประเดิมเดินสายทัวร์ต่างประเทศของนายเศรษฐา ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ซาอุดีอาระเบีย ลาว ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่เจ้าตัวรับบทเป็น “เซลส์แมน” เจรจาการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ ใช้ท่วงทำนองความเป็นนักธุรกิจดึงดูดนักลงทุนจากหลากหลายสาขาเข้าไทย พร้อมโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ของไทยบนเวทีโลก

ซึ่งหลังจากการเดินสายเยือนหลายประเทศ ต้องยอมรับว่ามีภาคธุรกิจและเอกชนจากนานาประเทศให้ความสนใจไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น และส่งผลถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีด้วย

ถัดมาอีกผลงานที่รัฐบาลทำทันทีคือ “ลดค่าไฟฟ้า” ซึ่งตั้งแต่ช่วงแรกที่รัฐบาลเข้ามาก็มีมติ ครม. ลดค่าไฟทันทีจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย และวันที่ 18 กันยายน ลดเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย เริ่มตั้งแต่งวดบิลเดือนกันยายน 2566 ทันที มีผลถึงรอบบิลธันวาคม 2566 โดยการปรับลดนี้ยังเป็นไปตามกฎระเบียบ ไม่ฝ่าฝืนวินัยการเงินการคลัง และเป็นไปตามแนวทางที่นายกฯ ต้องการให้ค่าไฟต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย

ขณะเดียวกันยังมีการ “ลดราคาค่าน้ำมัน” ในช่วงนั้นทันที โดย ครม.มีมติปรับลดภาษีน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดลง 1 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 7 พฤศจิกายน 2566

นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ทุกคนรอคอยอย่าง “เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่นายเศรษฐาแถลงชัดเจน เงื่อนไขผู้มีสิทธิ์ได้รับคือ คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท โดยให้สิทธิ์ใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือนหลังจากโครงการเริ่ม และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ ส่วนผู้ที่ไม่เข้าสิทธิ์ได้รับ รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund

ให้สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้ใบกำกับภาษีมาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ เรียกว่าเป็นนโยบายที่เปิดออกมาแล้วตื่นตาตื่นใจคนไทย แต่สุดท้ายอาจต้องเผื่อใจ เพราะยังอยู่ระหว่างตีความการออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการจะสามารถทำได้หรือไม่

 และอีกการแก้ไขปัญหาครั้งสำคัญคือ “การแก้หนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ” ที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมแถลงใหญ่อย่างเป็นทางการ ยืนยันให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ทั้งการจัดการกวาดล้างหนี้นอกระบบ และการดูแลลูกหนี้ในระบบให้ได้รับสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยปัญหาหนี้นอกระบบได้บูรณาการหลายภาคส่วน โดยจะรับบทเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ทั้งเรื่องดอกเบี้ยที่แพงเกิน การทวงหนี้ที่รุนแรง ส่วนหนี้ในระบบมีการแบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาออกเป็น 4 กลุ่ม

ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19  กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน โดยทั้ง 4 กลุ่มนี้ได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้แล้วตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด พร้อมตั้งเป้าจะจัดการให้จบในรัฐบาลนี้

นอกจากนี้ยังมีในเรื่อง “การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ที่เกิดดรามาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา หลังคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำมีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2-16 บาท ที่หลายคนมองว่าค่าแรงที่ปรับขึ้นนั้น ซื้อไข่ไก่ไม่ได้สักฟอง ในบางพื้นที่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้ขึ้นต่ำสุดแค่ 2 บาท ซึ่งหลังจากมีมติดังกล่าว นายเศรษฐาถึงกับยอมรับไม่ได้ ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตีกลับให้กระทรวงแรงงานและผู้ที่เกี่ยวข้องนำกลับไปพิจารณาตัวเลขมาใหม่เพื่อให้ทันประกาศบังคับใช้ในปี 2567

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าหลายนโยบายที่รัฐบาลเร่งผลักดันออกมาในห้วงเวลา 4 เดือนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่สำคัญและเป็นที่คาดหวังของประชาชน ซึ่งบางนโยบายเดินหน้าไปได้แล้ว แต่บางนโยบายยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ส่วนจะสำเร็จตามที่ขายฝันไว้ได้หรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เวทีทวงคืนพรรคส้ม หลังพ่ายศึก อบจ.ราชบุรี

เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เปิดตัวเป็นผู้นำพรรคส้ม ลงสู้ศึกเลือกตั้งไม่สวยเท่าใดนัก หลังไม่สามารถนำทัพพรรคประชาชนปักธงเอาชนะใน ศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

สืบสันดาน'ระบอบทักษิณ' การเมืองวิปริต รอวันวิบัติ

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มี อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ทรยศหักหลัง สางแค้นคู่ปรับทางการเมือง โดยไม่สนใจมารยาทและจริยธรรมทางการเมืองแต่อย่างใด

“โผทหาร”ทบ.ร้อนระอุ ทิ้งไพ่ชิงขุมกำลังปฏิวัติ

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เหล่าทัพได้ส่ง “โผทหาร” ไปที่สำนักงานปลัดกกระทรวงกลาโหมเกือบครบหมดแล้ว เพราะเวลาที่บีบรัดเข้ามา จากกรอบเวลาที่ควรจะทำโผให้เสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือน ก.ย. เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทาง รมว.กลาโหม รักษาการ ในฐานะของประธานคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล จึงเรียกประชุมบอร์ดโยกย้ายในวัน 3 ก.ย.นี้

ปิดป่าฯ-สลาย“ปชป.” กฐินร้อนจ่อสอย“อิ๊งค์”

เป็นไปตามคาด เมื่อ “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค พท. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า สส.ไม่สบายใจที่จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะพฤติกรรมแทงข้างหลังและไม่ยอมรับนายกฯ คนที่ 31 ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค

ทักษิณ-พท.ตั้งการ์ดรับมือ ร้องยุบพรรค-ตัดสิทธิเลือกตั้ง พลิกแฟ้มคดี ถูกร้องอื้อแต่เงียบ

ทักษิณ ชินวัตร เดินจังหวะการเมืองรัดกุมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ส.ค. ทั้งก่อนและหลังเดินขึ้นตึกชินวัตร 3 ที่ปัจจุบันคือ ที่ทำการพรรคเพื่อไทยชั่วคราว และยังเป็นสถานที่วางแผนจัดตั้งรัฐบาล-ฟอร์ม ครม. รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร