ส่องงานหินรัฐบาล‘เศรษฐา’ปี67 ‘เงินดิจิทัล-แลนด์บริดจ์’ยังต้องลุ้น

เริ่มต้นบริหารประเทศมาเกือบ 4 เดือนแล้ว สำหรับรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ขณะนี้จุดพลุเดินหน้าไปหลายนโยบายแล้ว ซึ่งทั้งหมดแค่เริ่มต้น ยังต้องรอผลิดอกออกผลชัดเจนกันในปี 2567 ทั้งนี้หากวิเคราะห์การทำงานในหมวดที่เป็นงานหินของรัฐบาลจากนี้

เริ่มที่ โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ขณะนี้หนังสือสอบถามเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท อยู่ในมือคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียดข้อมูลอย่างรอบคอบ ว่าจะให้ออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่ หรือจะสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งคาดว่ากฤษฎีกาจะตอบกลับเรื่องดังกล่าวมาภายในเดือนมกราคม 2567

อย่างไรก็ตาม หากผ่านด่านของกฤษฎีกาและผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ยังต้องด่านการพิจารณาของสภา ที่ต้องจับตาเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งนายเศรษฐามั่นใจว่าเสียงพรรคร่วมจะให้การสนับสนุนจนผ่านไปได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้แม้จะผ่านสภาแล้ว แต่ยังต้องระวังอีกด่านสำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีมีการยื่นตีความว่าจะมีความผิดมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังหรือไม่ และยังหวั่นซ้ำรอยกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ จึงนับว่าเป็นงานหินชิ้นสำคัญของรัฐบาลที่จะต้องเข็นกันต่อไปให้สุดทางในปี 2567 ที่ขณะนี้นายกฯ ยังคงยืนยันไทม์ไลน์เดิม

ต่อด้วยการจุดพลุ แก้ปัญหาหนี้สิน มาเฟียดอกโหด เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐานำทีมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบยกเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการประเมินตัวเลขประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบกว่า 5 หมื่นล้านบาท พร้อมกำหนดกรอบในการแก้ไขปัญหา ดูแลลูกหนี้และกวาดล้างมาเฟีย พร้อมได้เคยกำชับฝ่ายความมั่นคงให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยลูกหนี้ แม้แต่เล็บข่วนก็อย่าให้เกิด และวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ได้นำแถลงอีกครั้งในการแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ ที่ถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกัน

โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระหนี้คืน กลุ่มที่ 3 คือผู้มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และกลุ่มที่ 4 กลุ่มที่เป็นหนี้คงค้างเป็นระยะเวลานาน ซึ่งทุกกลุ่มรัฐบาลมีแนวทางในการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน โดยจะเน้นการให้ความเป็นธรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ขณะที่ล่าสุด ครม.ยังเห็นชอบ​ 3 มาตรการ​ งบ 4,900​ ล้านบาท แก้หนี้ทั้งระบบ​

โดยให้​สถาบันการเงินเฉพาะกิจสำรองเงิน ก่อนตั้งงบประมาณชำระคืน​ โดย 3 มาตรการ ได้แก่ การช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ​ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบให้ประชาชนไม่ใช่เริ่มต้นที่รัฐบาลนี้ แต่มีการประกาศแก้ไขปัญหามาหลายรัฐบาลแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม อย่างในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาทิ มีการช่วยเรื่องปลอดดอกเบี้ย หรือช่วยในรูปบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะที่ในรัฐบาลปัจจุบันก็ถือว่าจุดพลุได้ฮือฮาเหมือนกันว่าจะเอาจริงเอาจัง ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ ตอนนี้แค่เพียงเริ่มต้น ยังไม่เห็นผล ต้องประลองฝีมือนายกฯ นักธุรกิจกันต่อไปว่าจะทำสำเร็จหรือไม่

และอีกงานใหญ่สำคัญที่ยังไม่เกิด และกำลังรอรัฐบาลในการพลิกโฉมการค้าของโลก ในเมกะโปรเจกต์ แลนด์บริดจ์ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน โดยคาดว่าหากโครงการนี้สำเร็จจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ทั้งนี้ ครม.ได้มีอนุมัติหลักการโครงการแลนด์บริดจ์แล้ว

ขณะที่นายเศรษฐา ระหว่างเดินสายไปเปิดตลาดการค้า ดึงนักลงทุนนานาประเทศมาไทย ก็ได้ไปชูโครงการแลนด์บริดจ์ในทุกเวที ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมขนส่งทางเรือเส้นใหม่ของโลก แก้ไขปัญหาการจราจรผ่านช่องแคบมะละกา ที่เร็วกว่า ประหยัดกว่า ลดเวลาการเดินทางรวม 4 วัน และลดต้นทุนโดยเฉลี่ยได้ถึง 15%

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. คาดว่าประมาณกลางปี 2567 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ระหว่างที่โครงการยังไม่เริ่มก็มีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่โครงการ จ.ชุมพร และระนอง ที่เรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้ถามชาวบ้านก่อนจะเดินหน้าโครงการดังกล่าว เพราะมองว่ากระทบต่อวิถีชีวิตและเสี่ยงกระทบวงจรนิเวศทางทะเลอีกด้วย

ทั้งนี้ คาดว่านายเศรษฐาจะได้ใช้โอกาสในการประชุม ครม.สัญจร ปลายเดือนมกราคม 2567 ที่จังหวัดระนอง ลงไปพบปะรับฟังปัญหาจากชาวบ้านด้วย

และนี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของงานหินในปี 2567 ที่รัฐบาลต้องทำต่อหลังจุดพลุไปแล้ว ส่วนจะทำได้สำเร็จ ทำให้ประชาชนสมหวังหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อบงการ ลูกตามสั่ง

“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.

นายกฯ อิ๊งค์บอกตำรวจอยากดูแล ปท.แบบคนรุ่นใหม่มีอะไรคุยกันได้

นายกฯ มอบนโยบายตำรวจ ขอดูแลปชช.ช่วงปีใหม่ เชื่อ ตร.ภายใต้การนำ ”บิ๊กต่าย“ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข-ปลอดภัย บอกอยากดูแลประเทศแบบคนรุ่นใหม่ มีอะไรคุยกันได้

'เท้งเต้ง' เซ็ง 'แพทองโพย' เบี้ยวกระทู้สดชงสภาแก้ข้อบังคับการประชุม

'หัวหน้าเท้ง' หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม หลัง 'นายกฯ' เลี่ยงตอบแล้ว 3 หน ปมค่าไฟแพง เหน็บเมื่อวานนักข่าวถามจะไปสภาหรือไม่ 'อิ๊งค์' กลับตอบ 'เมอร์รี่คริสต์มาส'

ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’

“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน