ภูมิทัศน์การเมือง ปี 67 'อนุรักษนิยม'เพลี่ยงพล้ำ 'ระบอบทักษิณ' คืนชีพวิกฤตซ้ำรอย!

"หากซื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ โดยที่่นายทักษิณได้กลับไปอยู่บ้านแบบเท่ๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กลับมาอีก ตอกย้ำระบบอภิสิทธิ์ สองมาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำ สร้างความคับแค้นใจให้กับประชาชนและกลุ่มคนเสื้อเหลืองหนักกว่าเดิม กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว และระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ กระทบเสถียรภาพรัฐบาล เกิดวิกฤตการเมืองซ้ำรอยเดิมอีก".

ปี 2566 มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญและน่าสนใจคือ การเลือกตั้ง สส. และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ “ดีลลับ” นำ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หนีคุก 8 ปีในคดีทุจริตกลับประเทศไทย จนกลายเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ และจะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองในปี 2567

ทั้งนี้ ก่อนการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ฝ่ายอนุรักษนิยม ประเมินว่าพรรคการเมืองฝั่งตัวเองไม่สามารถเอาชนะ พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล ได้ จึงเกิด “ดีลลับลังกาวี” กับ นายทักษิณ ภายใต้เงื่อนไขพิเศษนำนายทักษิณกลับ และร่วมต้าน พรรคก้าวไกล ที่มองว่ามีแนวคิดเป็น ปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลได้ตั้งฉายารัฐบาล แกง​ส้ม ​"ผลัก" รวม สะท้อนกระแสสังคมมองพรรคก้าวไกลถูกกลั่นแกล้ง MOU ถูกฉีก และถูกผลักออกจากการร่วมรัฐบาล ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย และข้ออ้างทางการเมือง ส้มจึงหล่นใส่พรรคอันดับรอง กลืนน้ำลายจัดตั้งรัฐบาล "มีลุง" ก็ไม่เป็นไร ทำเอาแฟนคลับผู้รักประชาธิปไตยถึงกับหัวใจสลาย ก่อเกิดวาทกรรม "ตระบัดสัตย์" ดังนั้น แกง​ส้ม ​"ผลัก" รวม จึงใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองของการจัดตั้งรัฐบาลที่ว่า "ชนะเลือกตั้ง แต่แพ้จัดตั้ง" ได้เป็นอย่างดี

ส่วน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ฉายา เซลส์แมนสแตนด์ "ชิน" ในทางการเมืองยังถูกมองว่าไม่ใช่นายกฯ ตัวจริง เงาของคนในตระกูล "ชินวัตร" ยังปกคลุม เปรียบเสมือนตัวแสดงแทน หรือสแตนด์อิน เพราะเคยหลุดปากขณะออกงานพร้อม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวสุดที่รักของนายใหญ่ หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยเช่นกัน ว่า “นายกฯ คนไหน มีนายกฯ 2 คน” อีกทั้ง หลายนโยบายก็ถูกวิจารณ์ว่าต่อยอดมาจากนโยบายเดิมของรัฐบาลนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายเศรษฐา เข้ามาบริหารประเทศ 3 เดือนกว่า ยังไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม มีแต่การคุยโวซึ่งต้องรอผลสัมฤทธิ์ในปี 67 ส่วนการบริหารราชการแผ่นดินและการตัดสินใจในนโยบายสำคัญ เป็นที่รับรู้กันภายในรัฐบาลว่า ยังต้องขอคำปรึกษาและการชี้นำจาก นายทักษิณ ที่อยู่บนชั้น 14 รพ.ตำรวจ

ภายหลังกรมราชทันฑ์ โดย นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกประกาศ เรื่อง ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ลงวันที่ 6 ธ.ค.2566 เปิดช่องให้ คุมขังนักโทษนอกเรือนจำ ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับไปอยู่ บ้านจันทร์ส่องหล้า ก่อนปีใหม่

แม้รัฐบาลจะอ้างว่าระเบียบดังกล่าวออกตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ปี 2560 แต่เพิ่งมาประกาศใช้วันที่ 6 ธ.ค.2566 หลัง วันพ่อ 5 ธันวา เพียง 1 วัน โดยก่อนหน้านั้น นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะรักษาการนายกฯ จะนำ พ.ร.ฎ.อภัยโทษทั่วไป เนื่องในวันที่ 5 ธันวา เข้าที่ประชุม ครม. โดยนายทักษิณจะได้รับอภัยโทษด้วย แต่สุดท้ายได้ถอนออกไป

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการทำเป็นกระบวนการหรือไม่ ถ้าไม่มี น.ช.ทักษิณ จะมาประกาศวันที่ 6 ธ.ค. หรือนักโทษ 2.7 แสนคนมีใครได้อภิสิทธิ์แบบ น.ช.ทักษิณบ้าง? และจะต้องการประกาศตั้ง "คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง" จำนวน 9 คน แต่จนป่านนี้ยังไม่มีใครกล้าเป็นกรรมการ เพราะไม่อยากเสี่ยงติดคุก เนื่องจากระเบียบดังกล่าวยังมีการหมกเม็ดซ่อนเร้น และไม่เชื่อว่า น.ช.ทักษิณป่วยหนักจริง?

ภาคประชาชน นำโดย เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย นายพิชิต ไชยมงคล นายนัสเซอร์ ยีหมะ ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้อภิสิทธิ์ชน อยู่เหนือนักโทษและประชาชนทั่วไป ทำลายกระบวนการยุติธรรมไทยที่ล้าหลังอยู่แล้วให้จมดิ่งลงไปอีก

หลายองค์กรได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง แพทยสภา ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ทางด้านคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ก็เตรียมไปตรวจสอบที่ชั้น 14 ในวันที่ 12 ม.ค.นี้

ขณะเดียวกัน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา (ด้วยเสียงข้างมาก) ยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. โดยไร้ความผิดทางอาญา และให้ถอนหมายจับ ส่วนคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ผูกพันแค่เรื่องพ้นเก้าอี้เป็นคำสั่งมิชอบเท่านั้น

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น "ออปชันเสริม" จาก ดีลลับลังกาวี ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เหลือโทษอาญาในคดีจำนำข้าว จำคุก 5 ปี น้อยกว่าทักษิณที่โทษจำคุก 8 ปี และได้พระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี จนเกิดกระแสข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะใช้ โมเดลทักษิณ กลับบ้านในช่วงต้นปี 67 นี้

ทางด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ 6 ปัจจัยที่ทำให้ระบอบทักษิณคืนชีพ และหาก ระบอบทักษิณ ฟื้นคืนชีพจริง จะมีประชาชนเตรียมรองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ เหมือนในยุคคนเสื้อเหลืองนับล้านคนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือไม่?

เพราะภายหลัง น.ช.ทักษิณ กลับประเทศไทยโดยไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว ไปอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ผ่านมากว่า 120 วันแล้ว ยังจะอยู่ต่อไปโดยไม่ยอมกลับเรือนจำตามคำพิพากษา ขณะที่ แกนนำคนเสื้อเหลือง ที่ต่อสู้กับ ระบอบทักษิณ ต้องโทษคดีทางการเมือง เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดนลงโทษจำคุกกันทั่วหน้า

โดยเฉพาะ แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 11 คน ถูกศาลล้มละลายสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ละคนโดนอายัดทรัพย์สิน เดือดร้อนกันอย่างหนัก

การเรียกร้องให้ นิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... เข้าสภาแล้ว แต่รัฐบาลไม่เอา เนื่องจากมีการพ่วงนิรโทษคดี ม.112 ด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องนิรโทษกรรม อ้างว่าเกรงจะเกิดความแตกแยก ต้องมีฉันทามติจากประชาชนก่อน

จึงต้องจับตาว่า ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาจะได้รับการผลักดันจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเต็มที่หรือไม่

แต่หากซื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ โดยที่่ นายทักษิณ ได้กลับไปอยู่บ้านแบบเท่ๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กลับมาอีก ตอกย้ำระบบอภิสิทธิ์ สองมาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำ สร้างความคับแค้นใจให้กับประชาชนและกลุ่มคนเสื้อเหลืองหนักกว่าเดิม กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว และระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ กระทบเสถียรภาพรัฐบาล เกิดวิกฤตการเมืองซ้ำรอยเดิมอีก

ส่วนความนิยมของรัฐบาล “นิด้าโพล” ได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาสปี 2566” ระหว่างวันที่ 13-18 ธ.ค.2566 เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 39.40 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 2 ร้อยละ 22.35 ระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ร้อยละ 18.60 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 4 ร้อยละ 5.75 น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย)

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 44.05 ระบุว่า พรรคก้าวไกล, อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 พรรคเพื่อไทย, อันดับ 3 ร้อยละ 16.10 ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 4 ร้อยละ 3.60 พรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 5 ร้อยละ 3.20 พรรครวมไทยสร้างชาติ, อันดับ 6 ร้อยละ 1.75 พรรคภูมิใจไทย, อันดับ 7 ร้อยละ 1.45 พรรคพลังประชารัฐ

นั่นแสดงว่า พรรคก้าวไกล ยังได้รับความนิยมอันดับหนึ่งเหมือนเดิม แม้จะเผชิญศึกทั้งภายในและภายนอกรอบด้าน โดนยุบพรรค ตัดสิทธิ์เลือกตั้งแกนนำพรรค แต่ประชาชนพร้อมจะเทคะแนนให้ก้าวไกล เพราะมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศที่เหลื่อมล้ำ ผูกขาดทางเศรษฐกิจ เบื่อหน่ายระบบอุปถัมถ์นิยม คนเป็นข้าราชการต้องวิ่งเต้นโยกย้ายเลียเจ้านายถึงจะเติบโต รัฐราชการเต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อฉล ไร้ความโปร่งใส ฯลฯ

ที่น่าสนใจ นายชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และอดีตผู้สมัคร สส.เชียงใหม่ เขต 1 รทสช. ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค โพสต์ข้อความว่า  “ฝ่ายอนุรักษ์หลายคนยังไม่เข้าใจ ประชาชนไม่ต้องการ “คนดียยย์” เขาต้องการคนที่ทำงานเเละกล้าชนเพื่อพวกเค้า เพราะฉะนั้น ประโยค “ผมเป็นคนดี ไม่เคยโกงประเทศ ไม่มีคดี สะอาด รักสถาบัน” มันขายไม่ได้เเล้ว ...ฝ่ายอนุรักษ์ (สลิ่ม) ไม่เคยพิจารณาตัวเองเลยว่าเเพ้เลือกตั้งกันมาตลอดเพราะอะไร ไม่เคยคิดที่จะปรับตัวเองให้ทันสมัย หา voters กลุ่มใหม่...”

ความจริงแล้ว 9 ปีในการครองอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรค รทสช.ของนายชินภัสร์นั่นแหละ ไม่ได้ปรับตัวอย่างที่ว่า หรือที่ คนเสื้อเหลือง บ่นกันว่า "เสียของ" ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายฝ่ายอนุรักษนิยม เทคะแนนให้พรรคก้าวไกลอย่างถล่มทลาย

แต่เกมการเมืองยังมี ลับลวงพราง หลายชั้น พรรคเพื่อไทยที่ยอมทิ้งก้าวไกล มาจับมือกับฝ่ายอนุรักษนิยม มองกันว่าเป็นเพียงการ หมอบชั่วคราว นายทักษิณ แสร้งทำว่ายอมศิโรราบให้ฝ่ายอนุรักษยอม เพื่อให้ได้กลับบ้านและพ้นโทษก่อน

ช่วงจัดตั้งรัฐบาล นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้พบ นายทักษิณ ที่ฮ่องกง และได้ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคเพื่อไทยคือพันธมิตรทางการเมือง ล่าสุดมีรายงานว่า นายทักษิณ พร้อมจะดึงพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลด้วย

จึงต้องจับตา หลังวันที่่ 11 พ.ค.2567 ที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะหมดอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หากเพื่อไทยดึงก้าวไกลร่วมรัฐบาลจะกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ที่ทรงพลัง สั่นสะเทือน ฝ่ายอนุรักษนิยม ยิ่งกว่าเดิมอย่างแน่นอน!

ทั้งนี้แม้ น.ช.ทักษิณไม่ได้กลับไปอยู่บ้านตามระเบียบราชทัณฑ์ แต่หลัง 22 ก.พ.2567 ก็สามารถอ้างว่าได้รับการจำคุกไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถพักการลงโทษตามกฎกระทรวงปี 2562 ปล่อยตัวกลับไปอยู่บ้านได้ ทักษิณ จะกลายเป็น เพลย์เมกเกอร์ สำคัญทางการเมือง อยู่ที่ ทักษิณ จะตัดสินใจเดินเกมอย่างไร จะหักหลังเอาคืน กลุ่มอนุรักษนิยม ร่วมมือกับ พรรคก้าวไกล หรือไม่ ขึ้นกับเงื่อนไขทางการเมืองในปี 67 ที่จะเป็นจุดเปลี่ยน ภูมิทัศน์การเมืองไทย ในปีมังกรทอง!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อบงการ ลูกตามสั่ง

“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.

สส.ปชน. ถามมาตรการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ข้องใจ 'ทักษิณ' บอกจะช่วยจัดการ

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามทั่วไป ของนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส. กทม. พรรคประชาชน

จับอาการเสือกทุกเรื่องของ 'ทักษิณ' อำนาจนอกรัฐจะเป็นตัวทำลายรัฐบาลอิ๊งค์

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พังเพราะ ทักษิณ

ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’

“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน