คำถามมัดมือชก-กม.ประชามติ 2ปม"ตกม้าตาย"แก้รัฐธรรมนูญ

ภายหลังที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบไปด้วย 34 อรหันต์ โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์เป็นประธาน ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเศษ 

แต่กลับได้แนวทางไม่ชัดเจน กับความคาดหวังของประชาชน เพราะได้ข้อสรุปคือ ได้คำถามประชามติเพียง 1 คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” 

และทำประชามติ 3 ครั้ง มีการประเมินว่า ครั้งละประมาณ 3,500 ล้านบาท หรือรวมเป็นจำนวน 10,500 ล้านบาท ยังไม่นับหากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งไม่เคยมีมาในประเทศไทยหรือไม่ คาดว่าต้องใช้เงิน 5,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินเดือน ส.ส.ร.อีก 200 ล้านบาท เบ็ดเสร็จแล้วต้องใช้เงินประมาณ 15,700 ล้านบาท 

ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่สังคมอยากทราบ โยนให้ ครม.พิจารณาในต้นเดือน ม.ค. ปี 67 เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติหรือไม่, วันประชามติครั้งแรก โดยระบุว่าหาก ครม.เห็นชอบก็จะส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา ดำเนินการทำประชามติ ในกรอบเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน 

ขณะที่มาและสเป็กของ ส.ส.ร.ก็ให้ สส.และ สว.เป็นผู้กำหนดในช่วงมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 หลังประชามติครั้งแรกผ่าน

เมื่อข้อสรุปออกมาเช่นนี้ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองว่า คำถามหลักในประชามติควรเป็นคำถามที่ถามถึงทิศทางภาพรวมและเปิดกว้างที่สุด เพื่อทำให้ประชาชนที่แม้เห็นต่างกันในรายละเอียด แต่เห็นตรงกันว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถเห็นร่วมกันได้มากที่สุด

แต่คำถามที่คณะกรรมการเคาะมา กลับเป็นคำถามที่ไม่เปิดกว้าง แต่ไป “ยัดไส้” เงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อย ที่ทำให้ประชาชนบางคนอาจเห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม ซึ่งเสี่ยงจะนำไปสู่การกีดกันแนวร่วมบางส่วนออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เช่น หากประชาชนเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการล็อกเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ประชาชนที่มีความคิดดังกล่าวจะมีความลำบากใจในการตัดสินใจว่าจะลงคะแนนว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” 

ถ้าลงว่า “ไม่เห็นชอบ” ก็เท่ากับว่าคะแนนของเขาจะถูกรวมกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่ประชามติจะ “ไม่ผ่าน” และนำไปสู่การปิดประตูสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าลงว่า “เห็นชอบ” ก็เท่ากับว่าเขาถูก “มัดมือชก” ไปกับเงื่อนไขเรื่องการล็อกเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ที่ตัวเขาเองไม่ได้เห็นด้วย 

เช่นเดียวกับ รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาการที่ “ภูมิธรรม” พูดว่าจะเกิดความขัดแย้งเรื่องหมวด 1 และ 2 นั้นจะเกิดจากใคร และไม่เคยลงรายละเอียดว่าใครบ้างที่จะไม่เห็นด้วยหรือต้องการล็อกทั้ง 2 หมวดนี้ไว้ไม่ให้แก้ไขได้ นอกจาก สว.ที่แสดงท่าทีชัดเจน 

"ตัวแทนไอลอว์" อธิบายเพิ่มว่า เรื่องหมวด 1 หมวด 2 นี้สุดท้ายคนที่อยากแก้และคนที่ไม่อยากแก้ก็ไปหาเสียงกันในฐานะ ส.ส.ร.แล้วก็ให้คนไปโหวตเลือก ส.ส.ร.ที่อยากได้ ไปวัดกันในสนามเลือกตั้ง แต่อย่ามาล็อกไว้ก่อนหรือสร้างเงื่อนไขไว้ก่อนที่สุดท้ายจะกลายเป็นเงื่อนไขของคนที่ออกไปโหวต ซึ่งจะไม่เป็นผลดีอยู่แล้วกับทั้งประชาชนและก็รัฐบาล 

ทางด้าน คณะกรรมการ ยอมรับสาเหตุที่ได้ข้อสรุปออกเช่นนี้ เพราะให้ความสำคัญกับคำถามแรกมากที่สุด และจำเป็นต้องผ่านการทำประชามติเพื่อให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้า เพราะหากไม่ผ่านก็เท่ากับอวสานไปทันที   

ส่วนความเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย คณะกรรมการได้รวบรวมเพื่อจัดส่งให้ ครม.และ องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นำไปประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป 

ขณะที่โต้โผอย่าง ภูมิธรรม  ชี้แจงเสียงต้าน โดยเฉพาะปมที่ถูกกล่าวหาว่ามัดมือชกว่า สส. สว. ประชาชน และกลุ่มทางสังคมต่างๆ เสียงส่วนใหญ่คือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหมวด 1 และ 2 แต่เราเอาเสียงส่วนใหญ่ โดยที่เอาข้อความเห็นต่างนำเสนอสู่ ครม.

  "แม้แต่พรรคก้าวไกลที่ไม่ร่วมในคณะกรรมการ เราก็รับฟังความเห็น โดยนิกร จำนง ประธานคณะอนุฯ รับฟังความเห็นได้ไปคุย และทำแบบสอบถามร่วมกัน ดังนั้นเมื่อผลออกมาแบบนี้เราเอาเสียงส่วนใหญ่ และไม่ทอดทิ้งเสียงที่เห็นต่าง เราต้องการทำให้เป็นประชาธิปไตย ทำให้ผ่าน และทำให้เสร็จ เสียงที่ดังในโซเชียลคือนักเคลื่อนไหว แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น ต้องถาม มัดมือชก หรือขัดหลักการประชาธิปไตยตรงไหน ซึ่งเราทำตามกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด” ประธานภูมิธรรมกล่าว

นอกจากประเด็นตั้งคำถามประชามติ ที่ถูกมองว่าอาจจะไม่ผ่านประชามติครั้งที่แล้ว ยังมีอีกเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตกม้าตาย เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 กำหนดให้ต้องใช้ “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” 

ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น นิกร จำนง และ ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการ ออกมาแสดงความหนักใจในทำนองว่า ภายในคณะอนุกรรมการได้หารือกันว่าการทำประชามตินั้นมีปัญหาที่จะทำให้ผ่านไม่ได้ เพราะต้องมีเสียงข้างมาก 2 ระดับ คือ ข้อ 1 ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทําประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด คือประมาณ 26 ล้านคน ข้อ 2 ใน 26 ล้านคนนี้ จะต้องเห็นด้วยว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 13 ล้านกว่าคน ซึ่งคิดว่าทําได้ยากมาก 

เนื่องจากมองว่าเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนเรื่องไกลตัว น่าจะทำประชาสัมพันธ์กันไม่ทัน อีกทั้งความเห็นต่างก็ไม่เยอะ คนที่ไม่เห็นด้วยมีไม่มากนัก แรงส่งที่จะทําให้มีคนออกมาใช้สิทธิ์น่าจะน้อย จึงเห็นว่าอาจมีปัญหา และถ้าหากประชามติไม่ผ่านขึ้นมา ก็จะกลายเป็นว่าคนไทยไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ...แต่สุดท้ายคณะกรรมการก็ไม่ฟันธงว่าจะแก้หรือไม่ และโยนให้ ครม.ไปพิจารณา

นี่คือโจทย์ที่จะพิสูจน์ความจริงใจที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจในเดือน ม.ค.2567 ว่าเคาะตามแนวทางของคณะกรรมการชุดภูมิธรรมหรือตีกลับไปพิจารณาใหม่ ท่ามกลางข้อครหาซื้อเวลาหรือไม่. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

'ไอติม-กมธ.การเมือง' รุดขอความชัดเจนศาลธรน. หวังได้คำตอบปมทำประชามติ 2 ครั้ง

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการการเมืองการมีส่วนร่วม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่าการ

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567