เข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2566 เพื่อเตรียมนับถอยหลัง อำลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ “2567 ปีมังกรทอง”
สำหรับการเมืองไทยปีหน้า 2567 หากดูจากปฏิทินการเมืองจากช่วงตอนนี้ ทำให้พอมองเห็นได้ว่า มีหลายปมร้อนการเมืองที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย
1.การวินิจฉัย 3 คดีสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญและการชิงเก้าอี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่
โดยช่วงต้นปีหน้า ศาลรัฐธรรมนูญมีคิวตัดสินคดีสำคัญทางการเมือง 3 คดีติดๆ กัน
ไล่ตั้งแต่ คดีการถือครองหุ้นของศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม ที่ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่จะอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 17 ม.ค.2567 ตามด้วยคดีหุ้นสื่อไอทีวีของพิธา ที่นัดอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 24 ม.ค.
และคดีสุดท้าย คือคดีล้มล้างการปกครองฯ ที่พรรคก้าวไกลตกเป็นผู้ถูกร้อง จากกรณีเสนอแก้ไขมาตรา 112 และนำเรื่องแก้ 112 ไปหาเสียงเลือกตั้ง ที่ศาลเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดีจันทร์ที่ 25 ธ.ค. และคาดว่าหลังเสร็จการไต่สวน ศาลจะประกาศนัดอ่านคำวินิจฉัยทันที ซึ่งก็อาจเป็นช่วงสิ้นเดือน ม.ค.หรือสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.ปีหน้า
นอกจากนี้ ยังต้องจับตา ศึกชิงเก้าอี้ประมุขศาลรัฐธรรมนูญ หลัง วรวิทย์ กังศศิเทียม พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตอนนี้ได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้วคือ สุเมธ รอยกุลเจริญ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด ทำให้ต้องมีการเลือก ประธานศาลรัฐธรรมนูญ คนใหม่ ที่ข่าวว่าเข้มข้นพอสมควร โดยอาจมีการนัดประชุมตุลาการเพื่อเลือกประธานศาล รธน.ในช่วงต้นปีหน้า
2.การเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ออกกฎหมายกู้เงินห้าแสนล้านบาทมาแจกประชาชน
อ่านทิศทางลมการเมืองแล้ว ต้นปีหน้าเรื่องนี้จะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังเรื่องเงียบไปพักใหญ่ เพราะกระทรวงการคลังและรัฐบาลกำลังรอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังส่งหนังสือไปสอบถามความเห็นข้อกฎหมายในการจะออกกฎหมายกู้เงินมาทำดิจิทัลวอลเล็ต
โดยหากกรรมการกฤษฎีกาส่งสัญญาณเตือนมาว่าทำได้ แต่อาจมีความสุ่มเสี่ยง ไม่แน่เศรษฐา-เพื่อไทย อาจถอยฉาก แต่ถ้าไม่กฤษฎีกา ไม่ขวาง แล้วรัฐบาลเดินหน้า ออกกฎหมายกู้เงิน ไคลแมกซ์ของเรื่องนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจะมีคนไปร้องต่อศาลเพื่อล้มกระดานการออกกฎหมายดังกล่าว
3.สถานภาพทักษิณ ชินวัตร นักโทษวีไอพี สั่นคลอนหลักนิติธรรมรัฐบาลเพื่อไทย
ถึงตอนนี้ประเมินแล้ว ทักษิณคงไม่สามารถไปรับโทษจำคุกนอกเรือนจำ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อรอเคาต์ดาวน์ปีใหม่วันที่ 31 ธ.ค.นี้ได้ทัน ผ่านช่องทางพิเศษตาม "ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566" ที่ประกาศเมื่อ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา อย่างที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้
กระนั้นเชื่อได้ว่า ทักษิณที่ตอนนี้อยู่ รพ.ตำรวจเกิน 120 มาแล้ว สุดท้ายจะเป็นนักโทษที่ไม่เคยนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว เพราะถึงช่วง ก.พ.ปีหน้าก็ได้รับการพักโทษ ได้กลับไปอยู่บ้าน ไม่ต้องอยู่ รพ.ตำรวจ เผลอๆ ไม่แน่ อาจได้ออกจาก รพ.ตำรวจก่อนเดือน ก.พ.ก็เป็นได้ หากคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขังของกรมราชทัณฑ์ ใส่ชื่อทักษิณให้ได้คุมขังในสถานที่คุมขัง ถ้าทักษิณรอถึงเดือน ก.พ.ไม่ไหว
ปีหน้าเคสของทักษิณจะยังเป็นเรื่องที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจ และเป็นเรื่องติดลบสำหรับเศรษฐา-รัฐบาลเพื่อไทย แบบตอนนี้ไปเรื่อยๆ
4.การออกเสียงประชามติ ครั้งที่ 3 ในประเทศไทย
ถึงตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะมีการทำประชามติเป็นครั้งที่ 3
หลังก่อนหน้านี้เคยมีการทำประชามติมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือตอนโหวตร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ครั้งที่ 2 ตอนโหวตร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งทั้ง 2 ครั้งดังกล่าวเป็นการโหวตประชามติ
"รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ"
ที่ก็ผ่านทั้ง 2 รอบ แต่สำหรับ ประชามติครั้งที่ 3 หากรัฐบาลเพื่อไทยไม่ถอยเสียก่อน ก็คาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงกลางปีหน้า หรือเร็วสุดเมษายน 2567 ที่จะเป็นการทำประชามติ ถามประชาชนว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่กับการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ-การให้มีการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ โดยสมาชิกสภาร่าง รธน. (ส.ส.ร.) ซึ่งหากผลออกมาว่าเห็นด้วย ก็จะทำให้ไปสู่ขั้นตอนการแก้ไข รธน.เพื่อนำไปสู่การมีสภาร่าง รธน.-การยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ต่อไป แต่หากประชามติครั้งแรกไม่ผ่าน ก็จะทำให้ความพยายามจะให้มีการร่าง รธน.ฉบับใหม่จะถูกล้มกระดานไป และยังส่งผลให้ไม่มีการทำประชามติครั้งต่อๆ ไป ที่ทำประชามติแต่ละครั้งใช้งบขั้นต่ำ 3,200 ล้านบาท
5.การปรับคณะรัฐมนตรี เศรษฐา 2 ช่วงกลางปี
มีการคาดหมายกันว่า รัฐบาลเศรษฐาน่าจะมีการปรับ ครม.ครั้งแรกช่วง พ.ค.-มิ.ย.ปีหน้า เพราะบุคลิกการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจทั้งหมดของรัฐบาล จะนิยมปรับ ครม.ภายในช่วง 6-8 เดือน ซึ่งรัฐบาลเศรษฐา เมื่อไปถึงช่วง พ.ค.2567 ก็ถือว่าครบ 8 เดือนแล้ว ทำให้มีโอกาสสูงที่จะมีการปรับ ครม.
เพราะตอนนี้รัฐบาลก็ยังมีเก้าอี้รัฐมนตรีว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง ในโควตาเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ ขณะเดียวกัน หลายคนในเพื่อไทยที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีตอนตั้งรัฐบาล ก็ลุ้นจ่อคิวกันจำนวนมาก ทำให้ไม่เกินกลางปีหน้าจะได้เห็นโฉมหน้า ครม.เศรษฐา 2 แน่นอน
ส่วนจะถึงขั้นเปลี่ยนตัวนายกฯ มาเป็นอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร อย่างที่มีข่าวลือเลยหรือไม่ เรื่องนี้น่าจะเร็วเกินไป แต่อาจจะมีการดันอุ๊งอิ๊งเข้ามาเป็นรัฐมนตรีก่อนในการปรับ ครม.ก็เป็นได้
6.การเมืองในสภาฯ อภิปรายงบ 67 และศึกซักฟอกไม่ไว้วางใจ
สำหรับการเมืองร้อนๆ ในสภาฯ เปิดมาต้นปี ก็เริ่มด้วยศึกอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะเกิดขึ้นช่วง 3-5 ม.ค. ที่หลายคนรอติดตามกันว่า ฝ่ายค้านที่นำโดย “ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์” จะแสดงบทบาทตรวจสอบงบรัฐบาลได้เข้มข้นขนาดไหน ขณะเดียวกันก็จะเป็นปีที่ฝ่ายค้านจะมีการยื่นซักฟอกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพียงแต่จะยื่นในสมัยประชุมนี้เลยหรือจะไว้สมัยหน้า แต่ก็ยังอยู่ในช่วงปี 2567 ที่น่าจะรับประกันความเข้มข้นได้ระดับหนึ่ง
7.การเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ แทน สว.ชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระ 11 พ.ค.2567
โดยจะเป็นการคัดเลือก สว.ครั้งแรกตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 เพราะ สว.ชุดปัจจุบัน 250 คน เข้ามาโดยบทเฉพาะกาล ที่มาจากการคัดเลือกและเสนอชื่อโดย คสช.-พลเอกประยุทธ์ แต่ สว.ชุดใหม่จะมีเพียงแค่ 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลจากแต่ละกลุ่มอาชีพในสังคม รวม 20 กลุ่ม ที่จะผ่านกระบวนการคัดเลือกทั้งระดับอําเภอ-จังหวัด และระดับประเทศ
มีการประเมินว่า เนื่องจากเป็นระบบใหม่ที่จะใช้กันครั้งแรก ทำให้การคัดเลือก สว.ทางอ้อม ดังกล่าวอาจจะมีความชุลมุนวุ่นวายพอสมควร
และนอกจาก 7 เรื่องร้อนการเมืองปี 2567 ข้างต้น เชื่อได้ว่าจะยังมีอีกหลายเรื่องที่จะเกิดขึ้น ตามบริบทการเมืองแต่ละช่วงเวลา
การเมืองไทยปีมังกรทอง 2567 เหลียวหลังแลหน้า ประเมินสถานการณ์รอบทิศแล้ว ชี้ชัดๆ ได้ว่าร้อนแรง เป็นมังกรทองพ่นไฟให้ได้เห็นกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่