ขบวนการฟอกขาว 'ทักษิณ' สำเร็จ 'นายใหญ่' รอด ลุ้น 'ลูกน้อง' ติดคุก

ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 6 ธ.ค.2566 ที่ให้ดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ออกตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 โดยมีสาระสำคัญคือ การพิจารณาให้คุมขังนักโทษนอกเรือนจำ อาทิ บ้าน หรือเรือนจำ กำลังเป็นที่ถกเถียงว่า ออกระเบียบเอื้อ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายใหญ่ ของพรรคเพื่อไทยหรือไม่

ล่าสุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า "นายทักษิณเข้าเกณฑ์ เพราะโทษไม่เกิน 4 ปี ไม่ได้เป็นบุคคลที่อยู่ในข่ายน่ากลัวของสังคม เช่น โทษฆ่าข่มขืน ซึ่งจำเป็นต้องถูกคุมขังในเรือนจำ หากเป็นโทษที่ไม่เป็นภัยต่อสังคม ในระบบสากลสามารถคุมขังนอกเรือนจำได้ รวมถึงเหลือโทษน้อย"

ส่วนการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจของทักษิณ ที่มีกำหนด 30 วัน, 60 วัน และ 120 วันนั้น เป็นเรื่องของแพทย์และอำนาจผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดีไปจนถึงรัฐมนตรี ทั้งนี้ หากดูจากตัวเลขในวันนี้มีนักโทษที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 30 วัน เกือบ 150 คน ไม่ได้มีคนเดียว และที่อยู่ใน 120 วันที่ผ่านมามีหลายคน แต่ไม่ได้เปิดเผย

เมื่อถามว่าจะแปลกหรือไม่ที่ขณะอยู่ต่างประเทศ อดีตนายกฯ ดูแข็งแรง แต่เมื่อมาถึงไทยกลับป่วยจนต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล นายสมศักดิ์ บอกว่า "ต้องลองถูกคุมขังสัก 2-3 วัน ชีวิตมันเครียดถ้าจะต้องเสียอิสรภาพ ลองเข้าไปซักคืนสองคืนจะนอนไม่หลับ คนอายุมาก มีความดัน ป่วย เป็นความเสี่ยงที่ผู้บัญชาการเรือนจำหรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์จะคุมขังไว้ ทุกคนต้องการความปลอดภัย ไม่ต้องรับผิดชอบมาก เมื่อเกิดขึ้น จึงมีเหตุผลที่จะนำตัวส่งโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ต้องขังมีความปลอดภัยมากที่สุด"

หรือแม้กระทั่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ยืนยันอาการป่วยของทักษิณว่า "ผมถามหมอตรงๆ ท่านยืนยันว่าป่วยจริง มีหลักฐานตามที่ปรากฏจริง และจากรายงานจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำ พบว่าผู้ป่วยเป็นหลายโรค กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง และเป็นความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ยืนยันว่าป่วยจริง"

ทั้งนี้ แม้ฝ่ายรัฐบาลจะชี้แจงอย่างไรก็เหมือนนำ "น้ำเปล่ามากวนในหม้อ" ความหมายคือไม่มีสาระสำคัญที่ประชาชนต้องการคือ 1.ทำไมถึงออกระเบียบในช่วงที่ทักษิณ ต้องโทษจำคุก 2.ความคืบหน้าอาการของทักษิณตลอดการพักรักษาตัว

จึงไม่แปลกที่ประชาชนจะมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลต่างทำเพื่อช่วยทักษิณทั้งสิ้น และอาจจะซ้ำรอยเหตุการณ์ในช่วงรัฐบาลทักษิณ หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ ที่สุดท้ายลูกน้องต่างยอมถวายตัวเพื่อ ตระกูลชินวัตร นำไปสู่จุดจบที่เรือนจำ ก็ต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุน โดยที่ "นายใหญ่" ไม่ไยดี อาทิ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ หรือ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำเสื้อแดง เป็นต้น

ส่วนใครบ้างที่มีแนวโน้มที่จะถูกเช็กบิลเอาผิดในอนาคต 1.อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นหน่วยงานที่พิจารณาให้ทักษิณรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งตลอด 120 วันของการรักษาตัว กรมราชทัณฑ์กลับไม่มีการชี้แจงถึงความคืบหน้าอาการป่วยของ ทักษิณแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งการใช้อำนาจพิจารณาอนุญาตให้รักษาตัวนอกเรือนจำตลอด 120 วัน อธิบดีราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม หรือแม้กระทั่ง รมว.ยุติธรรมได้พิจารณาตามอาการหรือไม่ว่าสมควรนอนรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจต่อ

นอกจากนี้ คณะทำงาน 9 คน ที่ในระเบียบเขียนไว้ ซึ่งเป็นรองอธิบดีคนใดคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทัณฑสถาน ผู้อำนวยการ 7 คน ผู้เชี่ยวชาญอีก 2 คน ซึ่งถ้า 9 อรหันต์เป็นคนชี้เป็นชี้ตายที่จะส่งเสนอเรื่องไปยังอธิบดีเพื่อเซ็นอนุมัติในขั้นสุดท้าย ก็อาจจะมีความผิดตามมาในอนาคต หากถูก ป.ป.ช.ชี้มูลกรณีอนุมัติให้ทักษิณกลับไปคุมตัวที่บ้าน

โดย นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แฉว่า ทักษิณ นักโทษหมายเลข 6650102668 ไม่ได้กรอกแบบประวัติ ร.ท.101 แบบประวัตินักโทษ จำนวน 4 หน้า ในฐานข้อมูลแม้แต่บรรทัดเดียว ไม่ลงรายละเอียดเหมือนนักโทษทั้ง 4 แสนราย

2.แพทย์ผู้ดูแลจาก รพ.ตำรวจ ผู้ซึ่งติดตามความคืบหน้าอาการของทักษิณ ได้พิจารณาตามอาการหรือไม่ หรือว่าแอบเอื้อประโยชน์ให้ทักษิณ เพราะว่าอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือแม้กระทั่งความดันสูง แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่อาการจะไม่ดีภายใน 2 เดือน และยิ่งไปกว่านั้นยังมีนักโทษที่มีอาการอยู่ในลักษณะเดียวกัน แต่กลับไม่ได้รับอภิสิทธิ์เหมือนทักษิณ

3.รัฐบาลเพื่อไทย แม้แต่นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดก็ไม่สนใจกับกรณีนี้ เพราะเนื่องจากอาจเป็นผู้มีส่วนได้เสียร่วมกัน ซึ่งถ้ามีความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ นายกฯ มีอำนาจสูงสุดมีสิทธิ์ที่จะเรียกให้ตรวจสอบ หรือทบทวนระเบียบที่ออกมา

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้ยื่นร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีนี้แทบทั่วทุกสารทิศ ทั้งจี้กรมราชทัณฑ์ให้เปิดเผยรายงานอาการป่วย, ร้องกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการสอบพิเศษขึ้นมาสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ, ร้องแพทยสภาสอบจริยธรรมหมอราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจ รักษาทักษิณ รวมถึงร้อง ป.ป.ช.ตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ว่า เป็นการช่วยเหลือทักษิณเป็นกรณีพิเศษหรือไม่

ส่วน นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิตย์ และ นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ก็จะเดินหน้ายื่นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางวินิจฉัยเอาผิดเช่นกัน

หากศาลวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีความผิด คงหนีไม่พ้น ป.อาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และความผิดในมาตราอื่นๆ ตามมา อาจนำไปสู่การเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐชุดใหญ่ รวมถึงรัฐมนตรีบางราย เพราะมีหลายคนเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้

จึงต้องลุ้นกันว่า จะซ้ำรอยกับรัฐบาลยุคก่อนๆ หรือไม่ ที่ "นายใหญ่" รอด แต่ลูกน้องติดคุก!

สุดท้ายการทำหน้าที่ของสภาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือน เม.ย.ปีหน้า คงหนีไม่พ้นประเด็นนักโทษเทวดา ซึ่งอาจนำไปสู่ "จุดจบของรัฐบาลเศรษฐา" ในอนาคตก็เป็นได้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พท.ผวา!ชนักติดหลัง‘ลุงชาญ’ เปิดทาง‘มีวันนี้เพราะพี่ให้’ผงาด

ชาวปทุมธานียังคงต้องรอกันต่อไปสำหรับตัวนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมธานี) หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเห็นชอบคำสั่งให้ใบเหลือง

'จตุพร' ได้ยินมา 'ทักษิณ' ถูกล็อกเป้าจบในพ.ย.นี้ ส่วน'อุ๊งอิ๊ง' ไม่เกินตรุษจีน 68

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า หลังจากนายกฯ คุณหนูอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร นำ ครม

เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เวทีทวงคืนพรรคส้ม หลังพ่ายศึก อบจ.ราชบุรี

เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เปิดตัวเป็นผู้นำพรรคส้ม ลงสู้ศึกเลือกตั้งไม่สวยเท่าใดนัก หลังไม่สามารถนำทัพพรรคประชาชนปักธงเอาชนะใน ศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

'อนาคตไกล' ชี้เปรี้ยงพรรคส้มแพ้เลือกตั้งนายกอบจ.ราชบุรี สะท้อน 'ยิ่งยุบยิ่งไม่โต'

'ภาณุวัฒน์-อนาคตไกล' ชี้ผลการเลือกตั้งนายกอบจ.ราชบุรี พรรคประชาชน แพ้ยับ สะท้อนก้าวไกลแปลงร่างทรงใหม่ 'ยิ่งยุบ ยิ่งไม่โต'