หลักฐานใหม่ในมือ"พิธา" ลุ้นพลิกชนะคดีหุ้นสื่อ20ธ.ค.

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความมั่นใจก่อนเดินเข้าห้องพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสู้คดี หุ้นสื่อไอทีวี ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนคำร้อง วันพุธที่ 20 ธ.ค.นี้

โดย พิธา กล่าวไว้เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เตรียมความพร้อมที่จะไปไต่สวนคดีไว้แล้ว ทั้งหลักฐานที่เป็นหลักฐานส่วนตัว ในส่วนของผู้จัดการมรดก และหลักฐานว่าไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะมองเรื่องของรายได้ เรื่องของสัญญาอนุญาตที่ต้องขอในการทำสื่อจากสำนักงาน กสทช. ซึ่งทาง กสทช.ตอบกลับมาชัดเจนว่า ไม่มีสัญญาอนุญาตทำสื่อของไอทีวี

"ดังนั้นตรงนี้ก็พร้อมที่จะขึ้นบัลลังก์ในการให้ปากคำในฝั่งของผม และมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่ผิด ทั้งนี้ แนวเรื่องของการเป็นผู้จัดการมรดกมีหลักฐานที่ไม่เคยเปิดที่ไหน ก็จะใช้ส่วนนี้จะอธิบายต่อสาธารณะ"

ทั้งนี้ วันพุธที่ 20 ธ.ค. ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดห้องพิจารณาไต่สวน พยานบุคคล ในคำร้องคดีหุ้นสื่อไอทีวี ที่ พิธา-อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล อยู่ในสถานะผู้ถูกร้อง โดยมี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร้อง โดยวันดังกล่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการไต่สวนซักถามพยานบุคคลที่มีความสำคัญต่อรูปคดี ที่ศาลเรียกมาให้ถ้อยคำ

ที่ไฮไลต์น่าจะอยู่ที่พยานบุคคลในฝ่ายของพิธา ที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นรายชื่อพยานบุคคลให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียกมาให้ถ้อยคำ ที่พบว่ายังมีการ ปิดลับ รายชื่ออยู่ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นผู้เกี่ยวข้อง-พยาน ที่มาให้ถ้อยคำแล้ว จะเป็นคุณ-ผลบวก ต่อการสู้คดีของพิธา เช่น บุคคลที่อาจจะมาให้ถ้อยคำในลักษณะที่ว่า ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการเป็นสื่อแล้ว แม้สถานะบริษัทยังเปิดดำเนินการ ยังไม่ได้ไปจดแจ้งยกเลิกกิจการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ก็เป็นเพราะต้องการเคลียร์เรื่องคดีความในชั้นศาลปกครองสูงสุดให้ยุติลงก่อน เป็นต้น

จุดพีกของเรื่องนี้ หากพิจารณาจากที่ พิธา ให้สัมภาษณ์ระบุไว้ข้างต้นจะพบว่า ฝ่ายพิธา-ทีมฝ่ายกฎหมายประจำตัวบอกว่าเตรียมพยานหลักฐาน-เอกสารสำคัญที่จะทำให้เขาชนะคดี แยกเป็น

1.หลักฐานส่วนตัว ในส่วนของผู้จัดการมรดก

 ที่เป็นหลักฐานที่ไม่เคยเปิดที่ไหนมาก่อน ก็จะนำมาแถลงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

2.หลักฐานเอกสารคำยืนยันจากสำนักงาน กสทช.

ซึ่งตามหลักกฎหมาย กสทช.มีบทบาทในการควบคุมกิจการสื่อโทรทัศน์ เช่น การออกใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ เป็นต้น

จึงน่าสนใจว่า หนังสือของ กสทช.ที่พิธากล่าวอ้าง จะมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน

ส่วนว่า ข้อต่อสู้-พยานหลักฐาน ในมือของพิธาครั้งนี้ จะเป็นข้อต่อสู้สำคัญจนทำให้ พลิกเกม จนศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสงสัยและยกคำร้อง ทำให้พิธาชนะคดีได้กลับมาทำหน้าที่ สส.ในสภาฯ อีกครั้งหรือไม่ ก็อยู่ที่พิธาแล้วว่าหลักฐานดังกล่าวเด็ดแค่ไหน รวมถึงต้องดูว่า ระหว่างให้ถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทางตุลาการจะมีประเด็นซักถามอะไรบ้าง และตัวพิธาตอบได้เคลียร์ทุกปมข้อสงสัยหรือไม่ และพยานบุคคลที่ศาลเรียกมาให้ถ้อยคำ จะเป็นตัวทีเด็ดที่จะพลิกเกมการตัดสินคดี มีใครบ้าง ต้องรอดูวันที่ 20 ธ.ค.นี้

คาดหมายว่าหลังเสร็จสิ้น การไต่สวนพยานบุคคลในช่วงเย็นวันที่ 20 ธ.ค. ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประกาศนัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อลงมติตัดสินคดี และอ่านคำวินิจฉัย ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ทันที โดยมีความเป็นไปได้ที่น่าจะนัดฟังคำวินิจฉัยคดีช่วงปลายเดือนมกราคม หรือไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567  

สำหรับคำร้องคดีหุ้นสื่อไอทีวีของพิธา หลักการวินิจฉัยคดีก็มีแค่ไม่กี่ประเด็นเท่านั้น

ลำดับแรก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาก่อนเลยว่า ไอทีวียังประกอบกิจการเป็นสื่อมวลอยู่หรือไม่ แม้ตอนนี้ยังยุติการแพร่ภาพออกอากาศมานานหลายปีแล้ว แต่เมื่อยังไม่ได้แจ้งยกเลิกการประกอบกิจการกับกรมทะเบียนการค้า จะถือว่ายังทำธุรกิจสื่ออยู่หรือไม่ โดยศาลก็จะพิจารณาจากรายละเอียดต่างๆ เช่น งบการเงินของไอทีวี ในช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น  

ที่หากเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการเป็นสื่อแล้ว ก็จบเลย ศาลก็จะยกคำร้อง ไม่ถือว่าพิธาเจตนาครอบครองหุ้นไอทีวีก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่ขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญและตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สส.

หากออกมาแบบนี้ พิธาก็ได้กลับมาทำหน้าที่ สส.เต็มตัวอีกครั้ง และจะกลับมาเป็นหัวหอกหลักของพรรคก้าวไกลในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน โดยมีภารกิจสำคัญรออยู่คือ การนำทัพ สส.ก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ช่วงต้นเดือนมกราคม 2567

แต่หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไอทีวียังประกอบกิจการเป็นสื่ออยู่

จากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะไปพิจารณาว่า พิธามีเจตนาครอบครองหุ้นไอทีวีดังกล่าวก่อนลงเลือกตั้ง ไม่ได้มีการโอนหรือจำหน่ายหุ้น อันเป็นการขัดรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.เลือกตั้ง สส.หรือไม่?

โดยหากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าพิธามีการครอบครองไว้จริง ถ้าเป็นแบบนี้พิธาอาจไม่รอด

ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะตัดสินว่าพิธาฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สส.ที่ห้ามผู้สมัคร สส.ถือหุ้นสื่อก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้ง

ซึ่งผลก็คือ จะทำให้พิธาต้องพ้นสภาพการเป็น สส.ทันที โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 แต่จะไม่ถูกตัดสิทธิ์การเมือง-การเลือกตั้งแต่อย่างใด เพียงแค่หลุดจาก สส.เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากพิธาไม่รอด ก็อาจมีเสียวอีก เพราะ กกต.อาจฟัน "ดาบสอง" ในคดีอาญา!

ตามมาตรา 151 พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สส.ที่บัญญัติว่า

“ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 20 ปี”

ที่แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวว่า “คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้งพิจารณาของ กกต.” มีความเห็นให้ยกคำร้อง ไม่เอาผิดพิธา เนื่องจากหลักการเอาผิดในคดีอาญา จะดูเรื่อง "เจตนา" เป็นสำคัญ โดยอนุกรรมการเห็นว่าพิธาไม่มีเจตนา

 แต่ต่อมาก็มีข่าวว่า กกต.-อนุกรรมการไต่สวนชะลอการพิจารณาเรื่องนี้ไว้ก่อน เพื่อรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน จากนั้นจึงค่อยกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งหาก รายละเอียดในคำวินิจฉัยกลางในคดีนี้ออกมาชี้ว่า พิธามีเจตนาถือหุ้นสื่อไอทีวี ก็อาจทำให้ กกต.ฟันคดีอาญาพิธาตามมาก็เป็นได้

คดีหุ้นสื่อไอทีวีจะทำให้พิธาต้องตกม้าตาย พ้นจากการเป็น สส.เป็นคนที่ 3 ของอนาคตใหม่-ก้าวไกล ตามรอย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรือไม่ บอกได้เลย

ศึกนี้ไม่มีต่อเวลา มีแต่นับถอยหลัง รอวันปิดเกม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม

หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ

ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?

การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ

"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย

คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย

ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’

สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’