หลัง สส.คนดัง ตัวตึงของสภาฯ ไอซ์-รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพมหานคร ยังได้ไปต่อ ไม่ต้องหลุดจาก สส. เพราะศาลอาญาให้ประกันตัวในคดี 112 ที่ถูกศาลอาญาสั่งจำคุก 6 ปี
สิ่งที่ต้องติดตามคือ เส้นทางการเมืองของไอซ์-รักชนกต่อจากนี้
โดยหากวิเคราะห์รูปคดี ก็มีโอกาสสูงที่ไอซ์-รักชนก ชื่อน้ำแข็ง แต่ร้อนเป็นไฟอัคคี
อาจได้อยู่เป็น สส.อย่างน้อยๆ ก็ 3 ปี หรืออาจครบเทอม เพราะกว่าคดี 112 ที่ทำเอาเงาหัวเกือบขาด กว่าคดีจะถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกา ตามปกติก็ใช้เวลานานพอสมควร น่าจะร่วมๆ 3-4 ปี
เว้นแต่เกิดเหตุแทรกซ้อน เช่น หากในชั้นศาลอุทธรณ์ที่คาดว่าน่าจะไม่เกิน 2 ปี ถ้าผลคำตัดสิน หากไอซ์-รักชนกไม่รอด ยังโดนตัดสินจำคุกแบบศาลชั้นต้น แล้วศาลไม่ให้ประกันตัววันตัดสินคดี หากเป็นแบบนี้ อาจหลุดจาก สส.ได้
ขณะเดียวกัน ไอซ์-รักชนกยังมีชนักในเรื่องที่เคยมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า ถูกร้องเรียนไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คาดว่าหลังเข้าสู่ปีใหม่ 2567 สำนวนคดีคั่งค้างของพวก สส.หลายสิบคนที่ถูกร้องไปที่ กกต. ที่เรื่องอยู่ในแฟ้มลับการพิจารณาของ กกต.ในปีหน้า กกต.จะเร่งสะสางให้จบโดยเร็ว จึงต้องรอดูกันว่าไอซ์จะฝ่าด่าน กกต.ไปได้หรือไม่ หรือจะโดนสอยจนต้องมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้น
ชะตาชีวิตการเมืองของไอซ์จึงยังมีฉากลุ้นระทึก ที่นอกเหนือจากคดี 112
แต่ผลพวงจากคดีไอซ์-รักชนก ที่โดนตัดสินจำคุก 6 ปี ย่อมทำให้คนของก้าวไกลหนาวสะท้านกันทั้งพรรค
ทั้งพวกที่โดนคดี 112 ในก้าวไกล และเครือข่าย อาทิ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด สส.ปทุมธานี, โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. อดีตหัวหน้าการ์ดม็อบสามนิ้ว โดยทั้ง 2 คนโดนคดี 112 เช่นเดียวกับไอซ์-รัชนก
รวมถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ในคดี วัคซีนพระราชทาน ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนสืบพยานในชั้นศาลอาญา รวมถึง ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็มีคดีที่ถูกแจ้งความเรื่อง 112 เช่นกัน ที่คดีอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ เป็นต้น
ขณะที่คนในพรรคก้าวไกลที่ยังไม่โดนคดี 112 แต่คิดจะแตะ 112 ในทางใดทางหนึ่ง คงคิดหนักและระวังตัวมากขึ้น เพราะอย่างตอนนี้ก้าวไกลก็ต้องลุ้นในการสู้คดี ที่พรรคถูกยื่นคำร้องเรื่อง มีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ จากกรณี สส.ของพรรคเข้าชื่อกันยื่นเสนอแก้ไขมาตรา 112 ในสภาฯ สมัยที่แล้ว รวมถึงกรณีพรรคก้าวไกลนำนโยบายแก้มาตรา 112 ไปหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา
ซึ่งคำร้องคดีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนัดหมายสำคัญคือ จะมีการเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้องคดีดังกล่าวในวันคริสต์มาส 25 ธ.ค.นี้
ที่คาดว่าพอศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนฝ่ายผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง และพยานที่เรียกมาในวันดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ศาลจะประกาศนัดวันลงมติและอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะไม่เกิน เดือนมกราคม 2567
โดยคำร้องคดีนี้ไม่ใช่คำร้องเพื่อให้มีการยุบพรรคก้าวไกล-ตัดสิทธิ์การเมืองกรรมการบริหารพรรค-สส.พรรคก้าวไกลแต่อย่างใด
แต่เป็นคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการเคลื่อนไหวเรื่อง 112 โดยเด็ดขาด โดยหากศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง เรื่องก็จบ แต่ถ้าศาลสั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการเคลื่อนไหวทุกอย่างในเรื่องมาตรา 112 มันจะเป็น หัวเชื้อ ที่จะทำให้ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามก้าวไกล นำผลคำวินิจฉัยดังกล่าวไปต่อยอดเป็นดาบสอง ยื่นยุบพรรคก้าวไกลต่อไป ผ่านช่องทางไปยื่นเรื่องต่อ กกต.เพื่อให้ กกต.ใช้อำนาจตามมาตรา 92 (2) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ที่บัญญัติว่า
“หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้ กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค”
เรื่อง 112 จึงยังเป็นฉากระทึกการเมืองของคนพรรคส้ม-ก้าวไกลอย่างแท้จริง
แต่ฉากเฉพาะหน้าเห็นได้ชัด คดีของไอซ์-รักชนกจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้พรรคก้าวไกลต้องใส่เกียร์ 5 เหยียบมิด เพื่อเร่งให้สภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ สส.ก้าวไกลเสนอเข้าสภาฯ ไปแล้ว ที่มีเนื้อหาเปิดกว้างให้นิรโทษกรรมคนทำผิดคดี 112 ได้ โดยอ้างว่าทำผิดเพราะ “มูลเหตุจูงใจทางการเมือง” ตามที่เขียนเปิดช่องไว้
ทิศทางที่ปรากฏหยั่งเชิงได้ว่า ก้าวไกลจะเร่งให้สภาฯ เอาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาพิจารณาให้เร็วที่สุด ที่ตามคิวคือมกราคมปีหน้า
ทว่าด้วยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของก้าวไกลมีจุดอ่อนสำคัญคือ พ่วงให้ล้างผิดคนโดน 112
ทำให้ก้าวไกลไม่มีแนวร่วม มีแต่แนวต้าน ขนาดฝ่ายค้านด้วยกันเองอย่างประชาธิปัตย์ ก็ถีบหัวส่ง ไม่เล่นด้วย
ดังนั้นโอกาสยากมากที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของก้าวไกลจะฝ่าด่านสภาฯ ได้ เอาแค่สภาฯ พิจารณาวาระแรก เชื่อได้ว่าโดนคว่ำกลบฝังมิด ไม่ต้องถึงขั้นส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณา เพราะ สส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านจะจับมือกันฝังกลบ ถีบร่วงร่างของก้าวไกลตั้งแต่วาระแรก
ยิ่งเมื่อเห็นท่าทีของพรรคแกนนำรัฐบาลคือ เพื่อไทย ก็ยิ่งเห็นชัดว่า ไม่อยากลงมาเล่นกับเผือกร้อน เรื่อง กฎหมายนิรโทษกรรม แม้จะเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาฯ ในนามรัฐบาล แต่เพื่อไทยไม่รับลูก และวางแผนซื้อเวลา โดยจะใช้วิธีใช้เสียงข้างมากในสภาฯ ชะลอพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไว้ก่อน แล้วใช้วิธีตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่จะใช้เวลาเร็วสุดอย่างน้อยก็ 6 เดือน ถึง 1 ปี
ทำให้ที่พรรคก้าวไกลต้องการเร่งให้สภาฯ พิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมจะโดนเตะสกัด เพราะมันคือแผนเพื่อไทยที่จะยื้อเรื่องนิรโทษกรรมออกไปให้นานที่สุด เพราะมีบทเรียนมาแล้ว ตอนเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้เพื่อไทยต้องวางหมากรัดกุม
แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่คนในพรรคมีอดีต กปปส.ที่มีชนักติดหลังเรื่องคดีความกันหลายคน เช่น เอกนัฏ พร้อมพันธุ์, ชุมพล จุลใส, วิทยา แก้วภราดัย, ถาวร เสนเนียม ก็กดดันเพื่อไทยอีกทางด้วยการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสร็จแล้ว มีการให้ สส.ของพรรคลงชื่อครบเรียบร้อยเกิน 20 คน โดยตามคิวรวมไทยสร้างชาติจะยื่นร่างดังกล่าวต่อสภาฯ สัปดาห์หน้า ใช้ชื่อ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ที่มีเนื้อหาหลักๆ คือ นิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด ทั้งแพ่งและอาญา แต่ไม่ล้างผิดคดี 112, คดีทุจริต, คดีอาญาร้ายแรง
รวมถึงพวก สส.พรรคเล็กอย่าง ปรีดา บุญเพลิง จากพรรคครูไทยเพื่อประชาชน แม้จะมี สส.แค่คนเดียวในพรรค แต่ข่าวว่า ตั้งแต่สัปดาห์หน้าก็จะล่ารายชื่อ สส.ให้ครบ 20 คน เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ไม่นิรโทษคดี 112 ประกบเข้าไปอีก 1 ร่างฯ โดยเนื้อหาจะเหมือนกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเดิมของ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ยื่นต่อสภาฯ สมัยที่แล้ว แต่พิจารณาไม่ทัน เพราะยุบสภาฯ เสียก่อน
เรียกได้ว่า ถนนทุกสายในสภาฯ ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ขยับเอาแน่กับการทำให้สภาฯ ต้องเอาเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมมาคุยกันให้จบในการประชุมสภาฯ สมัยนี้
ปีหน้า มังกรทอง 2567 เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมจึงอยู่ในลิสต์วาระร้อนการเมืองไทยมาแต่ไกล.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’
“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน
ศาลรธน. มีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง ปมจำกัดสิทธิสมัคร สว.
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัจฉัย กรณีที่ นายเสฐียร ศรีเมือง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ดังนี้ 1.การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง
ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2