หลังที่ประชุมวุฒิสภาโหวตเห็นชอบรายชื่อ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จำนวน 5 รายชื่อ และไม่ผ่านความเห็นชอบ 2 รายชื่อ ไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ขั้นตอนต่อไป ว่าที่ กสทช.ทั้ง 5 คน ต้องนัดประชุมนอกรอบ เพื่อเลือก ประธาน กสทช.คนใหม่ ให้ได้ก่อน จากนั้นพอได้รายชื่อประธาน กสทช.แล้ว พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาก็นำรายชื่อทั้งหมดส่งให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
ถึงตอนนี้หากดูจากกระบวนการสรรหา-เห็นชอบรายชื่อ กสทช.ชุดใหม่ คงไม่มีปัญหาให้นำไปสู่การยื่นฟ้องร้องเพื่อล้มกระดานเหมือนในอดีต ดังนั้นนับจากนี้ก็นับถอยหลังการทำงานของ กสทช.ชุดปัจจุบันที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่มายาวนานนับสิบปี เพราะเข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2554 หลังจากนี้อีกไม่นานจะเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนถ่ายอำนาจการกำกับดูแล-ควบคุม กิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในอาณาจักร กสทช.ซอยสายลม เข้าสู่ยุค กสทช.ชุดใหม่ ที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี คุมผลประโยชน์หลายแสนล้านบาท
เพราะ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน บัญญัติให้ หากมี กสทช.อยู่ไม่น้อยกว่า 5 คนก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ต้องรอให้ครบ 7 คน ดังนั้นว่าที่ กสทช.ทั้ง 5 ชื่อที่วุฒิสภาโหวตเห็นชอบ ก็จะเริ่มเดินหน้าเตรียมเข้าไปทำงาน ไม่รอ กสทช.ใหม่อีก 2 คนที่จะต้องไปเปิดรับสมัครและคัดเลือกอีกหลายเดือน จึงคาดหมายกันว่า ว่าที่ กสทช.ทั้ง 5 คนที่เข้ารอบสุดท้าย คงมีการประสานกันภายในเพื่อนัดประชุมเลือกประธาน กสทช.คนใหม่ในเร็ววันนี้
ซึ่งเมื่อสแกนรายชื่อว่าที่ กสทช.ทั้ง 5 คน จะพบว่าแต่ละคนโปรไฟล์ไม่ธรรมดา อันประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค - "ดร.พิรงรอง รามสูต" อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation - "นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์" อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล - "ต่อพงศ์ เสลานนท์" ที่ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช., อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือ สปท.ในยุค คสช.และนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย - "ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย" ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
เริ่มเห็นสัญญาณการวิเคราะห์ออกมาแล้วกับความเคลื่อนไหวเรื่อง แคนดิเดตประธาน กสทช.คนใหม่ โดยเฉพาะหากดูจากทั้งรายชื่อว่าที่ กสทช.ทั้ง 5 คนข้างต้น ถ้าเอาแบบชนิดที่เรียกว่าเข้ามาแล้วสตาร์ททำงานได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเรียนรู้งานใน กสทช.กันใหม่ อีกทั้งเป็นคนที่มีความคุ้นเคยกับระบบการทำงานของ กสทช.เป็นอย่างดี
คุณสมบัติดังกล่าว เต็ง 1 คงไม่พ้น พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. เพราะเข้ามาทำงานในตึก กสทช.ตั้งแต่ปี 2556 หลังโอนย้ายมาจากข้าราชการกองทัพในตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการกองแผนและวิศวกรรม กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม เรียกได้ว่าโอนย้ายมาอยู่ กสทช.เพื่อรอจะมาสมัครเป็น กสทช.โดยเฉพาะตั้งแต่หลายปีที่แล้ว อีกทั้งการศึกษาก็ถือว่าอยู่ในสายงานตรงกับงานของ กสทช.โดยตรงคือ จบปริญญาตรีและโทสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งกองทัพแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ นครมิวนิก ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในทวีปยุโรป และปริญญาเอกสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากจุฬาฯ บวกกับมีข่าวว่าได้เสียงเชียร์จากคนในตึก กสทช.ค่อนข้างมาก เลยทำให้มีชื่อลุ้นเป็นเต็งหนึ่งประธาน กสทช.มาตั้งแต่ชื่อเข้ารอบสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ก็มีกระแสข่าวแนววิเคราะห์ว่า อาจมีบางรายชื่อรอเบียดชิงก็ได้ เช่นชื่อของ นพ.สรณ-ว่าที่กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ในแวดวงการเมืองรู้จักกันดีว่าเป็นคนกว้างขวาง คอนเน็กชั่นกว้างไกลทุกวงการ เป็นคนมีพวกมาก อย่างปัจจุบัน ก็มีตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระ, บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) บริษัท ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของประเทศไทย ที่ผู้บริหารบริษัทส่งลูกชายลงเลือกตั้งซ่อมที่สงขลาในนามพรรคพลังประชารัฐ-กรรมการอิสระ ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน, บมจ.โรงพยาบาลพระราม 9 ที่ตระกูล ชินวัตร มีหุ้นใหญ่ เป็นต้น
ที่น่าสนใจมีกระแสข่าวทางการเมืองว่า หมอสรณมีสายสัมพันธ์อันดีกับ กลุ่ม 3 ป. โดยเฉพาะบิ๊กในมูลนิธิป่ารอยต่อ โดยร่ำลือกันว่าเวลาบิ๊กคนดังกล่าวต้องการปรึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพก็มักจะต่อสายขอคำแนะนำกับหมอสรณอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสายสัมพันธ์ดังกล่าวเห็นได้จากในยุค คสช. หมอสรณก็มีตำแหน่งเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และยังเคยมีชื่อจะเข้าไปเป็น รมว.สาธารณสุข ตอนพลเอกประยุทธ์ ปรับ ครม.ในยุครัฐบาล คสช.ด้วย แต่สุดท้ายพลเอกประยุทธ์ก็เลือก ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็น รมว.สาธารณสุข จากความกว้างขวางดังกล่าว ทำให้พอมีชื่อ นพ.สรณเข้ามาเป็น กสทช. ก็เดาได้ไม่ยากว่าชื่อนี้จะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาแน่นอน เพราะ ส.ว.ชุดปัจจุบันจำนวนไม่น้อยก็ล้วนเป็นเพื่อนร่วมรุ่น สนช.กับหมอสรณทั้งสิ้น ส่วนชื่อนี้จะไปไกลถึงขั้นได้เป็นประธาน กสทช.หรือไม่ ถือว่าน่าจะมีลุ้น
ส่วนจะมีชื่อคนอื่นเข้ามารอชิงเป็นแคนดิเดตประธาน กสทช.คนใหม่นอกเหนือจาก 2 ชื่อนี้หรือไม่ ต้องรอจับกระแสในช่วงใกล้ๆ นัดประชุมเลือกกันอีกทีว่าจะมีสัญญาณอะไรหรือไม่
สำหรับภารกิจสำคัญที่รอให้ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการตัดสินใจพบว่ามีอยู่หลายเรื่อง เช่น การเข้ามาจัดการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด หรือการประมูลดาวเทียมไทยคมสัญญาใหม่ หลังก่อนหน้านี้ กสทช.ล้มการประมูลไปเมื่อเดือน ส.ค.2564 จากสาเหตุที่มีผู้ยื่นประมูลเข้ามาเพียงรายเดียว คือ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM การเข้าไปดูเรื่อง การปรับโครงสร้างทางธุรกิจและการควบรวมกิจการ ของทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ DTAC “ที่บางฝ่ายยังกังวลเรื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้ใช้บริการ, โครงการประมูลคลื่น 3500 MHz, การตัดสินใจเรื่องใบอนุญาตวิทยุชุมชนกว่า 5,000 สถานี หลังที่ผ่านมาผู้ประกอบการถือใบอนุญาตชั่วคราวมากว่า 10 ปี และการเลือกเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ เป็นต้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อบงการ ลูกตามสั่ง
“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.
ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’
“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน
“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง
ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2