ดูบรรยากาศต่างๆ แล้วสำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แจก 1 หมื่นบาท เรือธงหลักของพรรคเพื่อไทยถูกคลื่นซัดทั่วสารทิศ และไม่มีใครคาดเดาว่าจะอับปางเมื่อใด
หลัง "เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง แถลงปรับหลักเกณฑ์เรื่องการหาแหล่งเงิน จากเดิมใช้วิธีบริหารจัดการงบประมาณ และย้ำไม่มีการกู้เงิน ผ่านการเสนอแหล่งที่มาของเงินต่อ กกต.ในช่วงการหาเสียง
แต่กลับยอมกลืนน้ำลายตัวเอง เปลี่ยนเป็นการออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ให้แก่ประชาชนที่มีเงินเดือนไม่ถึง 7 หมื่นบาท และมีบัญชีเงินฝากในธนาคารไม่ถึง 5 แสนบาท
นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า “นโยบายไม่ตรงปก” จากนักวิชการ นักการเมืองฝ่ายค้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องวินัยการเงินการคลังของประเทศ และ กฎหมายต่างๆ ที่ถามหาความเหมาะสม เพราะมองว่าประเทศไม่อยู่ในสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ สวนทางกับรัฐบาลที่พยายามสร้างกระแสว่าอยู่ในสภาวะวิกฤต และยังส่อขัดกฎหมาย ไล่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินอีกหลายฉบับ
ไม่นับด่านสกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านแท้งก่อนคลอด ไล่ตั้งแต่คณะกรรมการกฤษฎีกา ครม. สภาฯ วุฒิสภา และศาลรัฐธรรมนูญ หากมีผู้ร้องให้ยื่นตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่
นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสระ อาทิ ป.ป.ช. สตง. ตั้งทีมขึ้นมอนิเตอร์โครงการนี้ อย่างเช่นโครงการรับจำนำข้าว ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่สุดท้ายผู้เกี่ยวข้องไม่ฟังเสียงคัดค้าน ล้วนมีความผิดทางแพ่งและอาญา มีคนติดคุก และหนีคดีไปต่างประเทศ และปัจจุบันยังเหลือหนี้อีก 2 แสนล้านบาท ตามล้างตามเช็ดอยู่
โดยองค์กรเหล่านี้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 โดยให้อำนาจ สตง. ป.ป.ช. และ กกต. หากเห็นว่านโยบายดิจิทัล แจก 1 หมื่นบาท ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
ให้ 3 องค์กรอิสระดังกล่าว ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้น และมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย
หากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่กล่าวมา ทำให้ร่าง พ.ร.บ. เงินกู้ 5 แสนล้านบาทสะดุด และนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นถึงทางตัน
ผู้ที่หนีไม่พ้นความรับผิดชอบทางการเมือง ก็คือ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกฯ และ รมว.คลัง ระหว่างลาออก หรือยุบสภา
แต่หากต้องการดื้อแพ่งต่อก็จำเป็นต้องมีแผนรองรับก็คือ เสียงสนับสนุนจากประชาชน และผลงาน เป็นเกราะป้องกันให้ฝ่ากระแสไปได้ เนื่องจากความรับผิดชอบดังกล่าวไม่มีกฎหมายระบุความผิดไว้
ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อถึงสถานการณ์ตอนนั้น นายใหญ่ ชั้น 14 ก็ยังไม่เสร็จนาฆ่าโคทึก เพราะยังอยากให้ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสริมเขี้ยวเล็บทางการเมือง และโชว์ผลงานซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเรียกคะแนนจากคนรุ่นใหม่ ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทพลัส โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวรักษาได้ทุกที่ เพื่อดึงแต้มจากประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย หวังเป็นนายกฯ ในสมัยหน้า ต่อสู้กับพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า
สอดรับกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า กรณี น.ส.แพทองธารจะเป็นนายกรัฐมตรี ไม่ใช่วันนี้ ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งพอสมควร เพราะวันนี้เรามีนายเศรษฐาทำงานดีอยู่แล้ว และต้องทำงานต่อไปอีกยาวๆ ไม่ใช่แค่วันนี้หรือพรุ่งนี้
จึงจำเป็นที่พรรคเพื่อไทยต้องเตรียมแผนรองรับแรงสะเทือนที่เกิดขึ้น หากนโยบายแจก 1 หมื่นไม่ผ่าน ด้วยการเตรียมดันเรือธงใหม่ คือการแก้หนี้ทั้งระบบ จำนวน 25 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชาชนไทยทั้งประเทศ ได้แก่ หนี้นอกระบบ จะมีการแถลงข่าวใหญ่ในวันที่ 28 พ.ย. และหนี้ในระบบในที่ 12 ธ.ค.
หลังก่อนหน้านี้รัฐบาลเพื่อไทยเริ่มขยับเรื่องการแก้หนี้ต่างๆ มาแล้ว อาทิ การแก้หนี้ กยส.ด้วยการลดดอกเบี้ยปรับเหลือ 0.5% จากเดิม 18% และผู้ค้ำประกันเดิมจะหลุดพ้นจากภาระค้ำประกัน, พักหนี้เกษตรกรที่มีหนี้เกิน 3 แสนบาท แก้หนี้เอสเอ็มอีในช่วงโควิด และหนี้สินครูและข้าราชการ ฯลฯ โดยมีเสียงของประชาชนเริ่มขานรับ
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลก็รับลูกทันที โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้สั่งการให้ฝ่ายปกครอง นำโดยนายอำเภอ และประสานผู้กำกับการแต่ละโรงพัก ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้นอกระบบกับเจ้าหนี้ หวังแก้ปัญหาดอกเบี้ย และตามทวงหนี้โหดต่างๆ ให้หมดไป
สาเหตุที่พรรคภูมิใจไทย พรรคอันดับ 2 ของรัฐบาลเด้งรับเรื่องนี้ ด้านหนึ่งต้องการทำผลงานให้ประชาชน อีกด้านหนึ่งก็ต้องการประคองเก้าอี้ให้ "เศรษฐา" อยู่ในอำนาจ เพราะหากมีอันเป็นไป ก็จะกระทบต่อเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเลือดน้ำเงินที่พอใจกับโควตา 4 กระทรวงที่ได้รับมา ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา ที่ต้องการสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องให้ครบวาระ 4 ปี ไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายและความขัดแย้ง แย่งชิงตำแหน่งทางการเมืองใหม่
ฉะนั้นหากนโยบายแก้หนี้ทั้งระบบประสบความสำเร็จ อาจเป็นเรือธงใหม่ไว้อุ้ม "เศรษฐา" ในเก้าอี้นายกฯ ต่อไป กรณีเรือธงดิจิทัลวอลเล็ตไปไม่ถึงฝั่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง
ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน