วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายนนี้ คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน จะประชุมกัน
มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ เรื่องการแก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ที่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่มี นายนิกร จำนง เป็นประธาน ไปรับฟังมาจากหลายภาคส่วน และเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เพราะนอกจากความไม่ชัดเจนว่า จะต้องทำประชามติกี่ครั้งแล้ว ยังมีเรื่องเกณฑ์การทำประชามติยังอยู่ในระดับที่นักการเมืองมองว่า ‘หิน’ มาก หรือแทบจะไม่มีโอกาส ‘ผ่าน’ ได้เลย
โดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ในมาตรา 13 บัญญัติเอาไว้ว่า “การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”
มาตรานี้บัญญัติเอาไว้ 2 ขยัก ขยักแรกคือ จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ซึ่งหมายความว่า หากมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง มันจะล่มทันที
หรือหากผ่านขยักแรกไปได้ ต้องมาดูขยักที่สองคือ ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงหรือไม่ ซึ่งหากไม่ถึงก็ล่มเหมือนกัน
ซึ่งการทำประชามติแตกต่างจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่อง ‘แรงจูงใจ’ ของประชาชน และการมาเจอเกณฑ์ระดับที่ยาก ย่อมสุ่มเสี่ยงจะสูญเสียงบประมาณไปเปล่าๆ
ยิ่งหากมีการรณรงค์ให้นอนอยู่บ้าน ไม่ต้องออกไปใช้สิทธิ์เพื่อต้องการคว่ำประชามติ มันยิ่งเสี่ยงยิ่งกว่าเดิมขึ้นไปอีก
เหตุนี้มันจึงทำให้มีแนวคิดเรื่องการทำลายอุปสรรคด้วยการเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ก่อน เพื่อเพิ่มโอกาสให้การแก้ไขมีโอกาสสำเร็จ
โดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เสนอทางเลือกในการแก้ไข 2 ประเด็นคือ ยกเลิกเกณฑ์ชั้นที่ 1 ไม่ต้องกำหนดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่ง และอีกหนึ่งทางคือ ให้เขียนว่า คนออกมาใช้สิทธิ์และลงคะแนนเห็นชอบ เกิน 25% หรือ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด เพื่อป้องกันยุทธศาสตร์การนอนอยู่บ้านเพื่อคว่ำประชามติได้
แต่มันมีเสียงคัดค้านแนวคิดนี้ออกมาเหมือนกัน เพราะจุดประสงค์ของผู้ร่างต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญยากขึ้น ไม่ใช่ใครอยากจะแก้ก็แก้ได้เลย จึงวางกลไกเอาไว้แน่นหนา และต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ
ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็น ‘กฎหมายปฏิรูปประเทศ’ จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาคือ สส.และ สว. อาจจะแก้ไขไม่ง่ายขึ้น โดยก่อนหน้านี้มี สว.บางคนออกมาแสดงความเห็นคัดค้านแล้ว
โดย นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ออกมาคัดค้านว่า ไม่เห็นเหตุของความจำเป็นของการแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว อีกทั้งในการพิจารณาประเด็นดังกล่าวนั้นได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะหากมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ หรือออกเสียง เพียง 20%-30% อาจจะถือว่าการทำประชามตินั้นไม่ชอบได้
“หลักเกณฑ์เรื่องการมาใช้สิทธิ์ออกเสียงที่กำหนดไว้ในกฎหมายประชามติที่เพิ่งบังคับใช้นั้น เพื่อให้เกิดความชอบธรรมต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากจะลดหลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจจะทำให้ไม่เกิดประโยชน์และอาจจะกระทบต่อผลของการออกเสียงประชามติที่ลดลงได้” อดีตกรรมาธิการที่ร่วมยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ระบุ
อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ไม่ได้ถูกร่างมาเฉพาะให้ทำเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ยังต้องใช้กับอีกในหลายๆ ประเด็น การแก้ไขด้วยการลดเกณฑ์ลงมา เพียงเพราะให้ ‘ผ่าน’ ง่ายขึ้น อาจจะไปกระทบต่อเรื่องอื่นๆ ในภายภาคหน้าได้
เพราะการทำประชามติมุ่งเน้นที่ ‘เสียงส่วนใหญ่’ หากปรับให้เหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จะยังสามารถเรียกว่า การทำประชามติได้อยู่หรือไม่
เรื่องนี้ดูแล้วไม่ง่าย เพราะยังมีประชาชนอีกบางส่วนในสังคมที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ การที่รัฐบาลขยับจะแก้กฎหมายประชามติเพื่อเอื้อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จอาจจะถูกคัดค้านอย่างหนัก อาจจะมีการร้องเรียนกันเกิดขึ้นได้อีก
ยังไม่ต้องถึงขั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่แค่ ‘ประชามติ’ รัฐบาลก็เหนื่อยแล้ว
ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายมองว่า พรรคเพื่อไทย ตลอดจนพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้คิด หรือวางแผนเรื่องนี้มาเหมือนกัน จึงจะใช้วิธีแก้ปัญหาแบบนี้
ฉะนั้น จึงต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการชุดที่มี นายภูมิธรรม เป็นประธานในวันศุกร์นี้ให้ดีว่า จะออกมาหน้าไหน?.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ม็อบเสื้อเหลืองคืนชีพ ‘สนธิ’นัดบุกทำเนียบฯ2ธค. ‘อ้วน’หวั่นซํ้ารอยปิดเมือง
"ภูมิธรรม" ไม่กังวล "สนธิ" ปลุกม็อบลงถนน เป็นสิทธิตาม รธน.
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย