เบื้องหลังกกต.แจก'ใบแดง'แรกช้า ต้องพ่วงคดีอาญา-ให้สิ้นกระแสความ

ในที่สุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยการนำของ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้ประเดิม ใบแดงแรก นับตั้งแต่ กกต. "ปล่อยผี" ประกาศรับรอง สส.ไปก่อน แล้วสอยทีหลัง

หวยมาออกที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคนที่โดนคือ “เกศกานดา อินช่วย" ผู้สมัคร สส.กรุงเทพฯ เขตคลองสามวา และผู้ช่วยหาเสียง “ดวงฤดี พันธุ์สมตน” ข้อหาแจกเงินซื้อเสียงประชาชน คนละ 500 บาท พร้อมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี หรือ เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง และดำเนินคดีอาญากับทั้ง 2 คน

โดยพฤติกรรมความผิด จากการไต่สวนของ กกต.รับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 17-19 เม.ย.66 ที่หมู่บ้านร่มทิพย์ ซ.หทัยราษฎร์ ถ.หทัยราษฎร์ แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กทม. “ดวงฤดี” ซึ่งเป็นประธานหมู่บ้านร่มทิพย์ และเป็นผู้ช่วยหาเสียงของ “เกศกานดา” ได้ไปพบปะและติดต่อผู้ร้องที่บ้านเพื่อหารายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยจะให้เงินคนละ 500 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ "เกศกานดา" โดยมีคลิปเสียงและคลิปวิดีโอเป็นหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม การแจกใบแดงของ กกต.เป็นใบแรกนับตั้งแต่ กกต.จัดการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ซึ่งในช่วงจัดการเลือกตั้งมีคำร้องที่ขอให้ กกต.วินิจฉัยเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง

และล่าสุด กกต.ได้เปิดเผยถึงการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้อง สำนวน การวินิจฉัย และการดำเนินคดีในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 โดยมีคำร้อง ความปรากฏ ข้อมูลเบาะแส นับถึงวันที่ 15 พ.ย.66 จำนวนทั้งสิ้น 360 เรื่อง ประกอบด้วย คำร้อง 280 เรื่อง, ความปรากฏ 39 เรื่อง และข้อมูลเบาะแส 41 เรื่อง

โดยสามารถดำเนินการแล้วเสร็จไปจำนวน 280 เรื่อง ประกอบด้วย การพิจารณาคำร้อง 239 เรื่อง โดยสั่งไม่รับ 158 เรื่อง และสั่งยุติเรื่อง 81 เรื่อง ส่วนการวินิจฉัยชี้ขาดจำนวน 41 สำนวน ให้ยกคำร้อง 37 สำนวน ให้ดำเนินคดีอาญา 3 สำนวน และให้ยื่นคำร้องต่อศาล 1 สำนวน ทั้งนี้ ยังเหลือเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีกจำนวน 80 เรื่อง

ซึ่งในระเบียบการสืบสวน ไต่สวน ของ กกต.ได้ระบุระยะเวลาการพิจารณาคำร้องว่า ต้องเสร็จสิ้นถึงขั้นทำคำวินิจฉัยภายใน 1 ปี

เรื่องนี้ทำให้ประชาชนและนักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา ถึงความล่าช้า และการแจกใบต่างๆ ที่ไม่สมเหตุสมผล

โดย "เทพไท เสนพงศ์" อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กกต.ว่า "คนไทยทั้งประเทศคาดหวังว่า กกต.จะแจกใบเหลือง, ใบแดง, ใบส้ม ให้กับผู้สมัคร สส.ที่ซื้อเสียงให้เห็นบ้าง ไม่มากก็น้อย แต่ในที่สุด กกต.กลับปล่อยผี ไม่มีการแจกใบแดง, ใบส้ม, ใบเหลืองให้กับผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.คนใดเลยแม้แต่คนเดียว โดยอ้างเหตุผลว่า รับรองไปก่อนค่อยสอยทีหลัง ซึ่งขัดกับหลักการของการมี กกต.เพื่อสกัดไม่ให้คนชื้อเสียงเข้าสู่สภาแม้แต่วันเดียว

ทำไม กกต.ไม่เรียงลำดับความสำคัญในการแจกใบแดง ทำไมไม่มุ่งไปที่ สส.ที่ได้รับการเลือกตั้งจากการซื้อเสียงก่อน ผู้สมัคร สส.สอบตก ซึ่งไม่ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรเลย ผมอยากให้ กกต.เร่งรัดการแจกใบแดงให้กับผู้ได้รับเลือกตั้ง สส.ก่อน ก่อนแจกใบแดงให้แก่ผู้สมัครสอบตก"

แหล่งข่าวจาก กกต.ได้ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ว่า คำร้องในการเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนใหญ่คือเรื่องนโยบาย ซึ่งคำร้องทุจริตการเลือกตั้งมีประมาณหนึ่ง โดยกฎหมายใหม่ไม่ว่าจะแจกใบเหลือง ส้ม แดง หรือดำ กับ สส. หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะต้องพ่วงด้วยการดำเนินคดีทางอาญาด้วย ดังนั้นการสอบสวนจึงต้องดำเนินการคล้ายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ "ทำให้สิ้นกระแสความ" ซึ่งแตกต่างกับในสมัยก่อนที่ไม่จำเป็นต้องเล่นคดีอาญา แค่ใช้นิยามที่ว่า "มีข้อสงสัยว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม"

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าด้วยเหตุใด กกต.จึงต้องใช้เวลาสอบสวนที่นาน และตีตกคำร้องไปพอสมควร เพราะการสืบสวนต้องสืบให้ละเอียดจนฝ่ายตรงข้ามโต้ไม่ได้

สำหรับความหมายของ “ใบแดง” นั้น จะใช้หลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีผู้สมัครหรือผู้ใด กระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้น

หากกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ศาลฎีกาจะสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัคร รับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลา 10 ปี และหากการที่ต้องสั่งเช่นนั้น ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ศาลจะต้องสั่งให้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้มีคำสั่งเช่นว่านั้นด้วย

ส่วน “ใบดำ” ใช้หลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้า กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือผู้ใดกระทำการทุจริตเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้นไม่มีกำหนด เสมือนกับโทษประหารชีวิตทางการเมือง

ถ้าผู้สมัครคนไหนได้ “ใบดำ” จะไม่มีสิทธิ์รับเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกเป็น สส., สว. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตลอดไป

จึงต้องจับตาลุ้นว่า ในอีก 80 คำร้อง และอีกระยะเวลาครึ่งปีที่เหลือที่ใบอื่นๆ ผุดขึ้นมาอีกหรือ หลังจากที่ได้เฉือดไก่ให้ลิงดูแล้วว่า กกต.นั้นเอาจริง เพียงแค่ต้องใช้เวลาสักพักในการรวบรวมพยานเพื่อเอาผิด!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

'ดิเรกฤทธิ์' พ้อ! ไร้องค์กรตรวจสอบ กกต. ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ 'เลือก สว.'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ประชาธิปไตยต้องไม่มีอำนาจใดไม่ถูกตรวจสอบ"

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ