หลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท โดยใช้แหล่งงบประมาณจากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาทนั้น
ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงแหล่งที่มาของเงินที่ "กู้มาแจก" ว่าอาจขัดต่อหลักวินัยการเงินการคลัง ขัดกฎหมายอื่นๆ และยังถูกยกเปรียบเทียบว่าอาจซ้ำรอยเดิมกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ
ทำให้การแจกเงินดิจิทัลฯ ในครั้งนี้ไม่ราบรื่นตั้งแต่เริ่ม โดยขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ต้องลุ้นกันว่าจะให้ออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่ หรือจะสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีการรักษาวินัยการเงินการคลังและดำเนินนโยบายด้านการคลังตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้
แต่ก็กำหนดหลักการให้รัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้ โดยการตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน”
ขณะที่วรรคสองบัญญัติว่า “กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้” และวรรคสาม บัญญัติว่า “เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
ซึ่งจากข้างต้นนี้ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้นายเศรษฐามั่นใจว่าจะไม่ขัดต่อวินัยการเงินการคลัง เพราะมองว่า “เราอยู่ในวิกฤตที่ต้องการการกระตุ้น" เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีของประเทศแค่ 1.9% ต่อปี เราไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศอื่นโตกว่าเรา 2 เท่า พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลทำถูกต้องทั้งหมด และทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคงจะให้ข้อคิดเห็นในเชิงที่เป็นบวก และจะสามารถทำโครงการนี้ได้
อย่างไรก็ตาม หากผ่านด่านของกฤษฎีกาและผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีด่านการพิจารณาของสภาที่ต้องจับตาเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งนายเศรษฐามั่นใจว่า 320 เสียงพรรคร่วมจะให้การสนับสนุนจนผ่านไปได้เช่นกัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมด้วยว่า แม้จะผ่านสภาแล้ว แต่ยังต้องระวังอีกด่านสำคัญคือ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ในกรณีมีการยื่นตีความว่าจะมีความผิดมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังหรือไม่ ซึ่งล่าสุดแม้ยังไปไม่ถึงในขั้นตอนนั้น แต่ก็มีนักร้องออกมาเคลื่อนไหวแล้ว อย่าง นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งศาลวินิจฉัยว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 หรือไม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากหลายฝ่ายที่โถมเข้ามาทุกวัน โดยเฉพาะจากพรรคก้าวไกล ที่ไล่บี้นายเศรษฐาแจงว่ามีวิกฤตที่จำเป็นถึงขั้นต้องกู้เงินมาแจกคืออะไร พร้อมให้เปิดความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงมีเสียงติงที่น่าสนใจจาก นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มองว่าการกู้มาแจกนั้นขัดต่อวินัยการเงินการคลังอย่างให้อภัยไม่ได้
โดยนายกรณ์ยังยกกรณีรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยคิดจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน ในช่วงที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบ ส่งผลให้รายรับรัฐบาลต่ำกว่าประมาณการสูง จึงจำเป็นต้องกู้นอกงบประมาณมาเติมเต็มอย่างเร่งด่วน แต่ตอนนั้นได้มีการเสนอให้ออกเป็น พ.ร.ก.เร่งด่วนแทน จำนวน 4 แสนล้านบาท และอีก 4 แสนล้านบาท จะออกเป็น พ.ร.บ. แต่หลังจากได้ใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.แล้ว ปรากฏเศรษฐกิจดีขึ้นมาก รายได้รัฐบาลฟื้นตัว สุดท้ายก็ไม่ต้องออก พ.ร.บ.กู้เงิน และทั้งหมดเพราะ พ.ร.ก.มีไว้ในกรณีฉุกเฉินจำเป็น แต่การกู้จาก พ.ร.บ.นั้นไม่ควรทำ เพราะอาจขัดต่อหนี้สาธารณะได้
ทั้งนี้ แม้จะมีกระแสรอบด้านในเส้นทางของดิจิทัลวอลเล็ต แต่ “รัฐบาลเศรษฐา” ต้องเดินต่อ ดันนโยบายนี้ที่เคยหาเสียงไว้ให้สุดทาง แม้ปลายทางอาจต้องเจอทางตันก็ตาม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี