ก่อนจะถึงนัดหมายวันพฤหัสบดีที่ 10 พ.ย.ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ระบุว่า จะมีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนถึงนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ถึงขั้นระบุว่าวันดังกล่าวรู้เรื่องทุกอย่าง โดยเฉพาะที่มาที่ไป-ไทม์ไลน์กฎกติกาที่ชัดเจน อีกทั้งยังบอกด้วยว่า ในส่วนของแอปพลิเคชันเป๋าตังจะมีส่วนร่วมในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกกับประชาชนในการใช้ดิจิทัลวอลเล็ต
ก็ปรากฏว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง หลักเกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่สำรวจระหว่าง 31 ต.ค.-2 พ.ย.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 1,310 หน่วยตัวอย่าง
นิด้าโพล ระบุว่า เกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 50.08 เห็นว่า ควร จ่ายทุกกลุ่มโดยไม่ต้องมีเกณฑ์เงินเดือน หรือเงินฝากในบัญชีมาเป็นข้อจำกัด
ที่ก็คือ เห็นด้วยที่จะต้องให้กับคนไทยทุกคนที่อายุเกิน 16 ปีขึ้นไป ได้กันหมดถ้วนหน้า ไม่ต้องมีเรื่องของว่าหากมีเงินเดือนเกิน 25,000 หรือเกิน 50,000 บาท-มีเงินฝากในธนาคารเกินห้าแสนบาทแล้วจะไม่ได้รับ
อันเป็นแนวนโยบายของเพื่อไทย ที่ชูธงในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่นโยบายช่วยเหลือทางการเงินหรือเศรษฐกิจ แต่เป็นนโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เศรษฐกิจประเทศทั้งประเทศกลับมาคึกคัก มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นผ่านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่รัฐบาลจะอัดเงินเข้าระบบภายใน 6 เดือน ถึง 560,000 ล้านบาท จนทำให้ ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers) หมุนในระบบเศรษฐกิจจากประชาชนไปถึงภาคการผลิตไม่น้อยกว่า 4-5 รอบ จนส่งผลทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตถึง 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสิ้นปี 2567 หากมีการใช้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2567
อย่างไรก็ตาม นิด้าโพลก็เผยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่าง รองลงมาร้อยละ 26.64 ระบุว่า ควรจ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 14.66 ระบุว่า ตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 5 แสนบาท ร้อยละ 8.01ระบุว่า ตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้/เงินเดือน เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 1 แสนบาท
นอกจากนี้ นิด้าโพลยังเผยผลสำรวจด้วยว่า ในส่วนของ เกณฑ์พื้นที่/รัศมีการใช้จ่ายเงิน 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 69.85 ระบุว่า ควรใช้จ่ายในร้านค้าใดก็ได้ในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่/รัศมีมากำหนด
ที่ก็คือกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า คนที่ได้ดิจิทัลวอลเล็ต ควรนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายได้ทุกที่ทั่วประเทศไทย เหมือนกับโครงการอื่นๆ ของรัฐบาลในอดีต เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่ประชาชนซึ่งได้สิทธิ์ดังกล่าวสามารถใช้ได้ทั่วประเทศ ไม่ใช่ใช้ได้แค่วงจำกัดภายในไม่เกินรัศมี 4 กิโลเมตรตามภูมิลำเนาตามบัตรประชาชน อย่างที่เพื่อไทยเคยวางกรอบไว้ ที่หลักคิดของเพื่อไทยคือเพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนทั่วประเทศ ไม่กระจุกตัวอยู่แค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครหรือเมืองท่องเที่ยวหลัก
แม้ต่อมาช่วงหลัง แนวคิดของคนในเพื่อไทยเริ่มเห็นด้วยที่จะขยายจากไม่เกิน 4 กิโลเมตร เป็นให้ใช้ได้ภายในอำเภอหรือเต็มที่ก็แค่ในจังหวัด แต่ก็ไม่ถึงกับให้ใช้ได้ทั่วประเทศ
โดยรองลงมาร้อยละ 14.50 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้าภายในจังหวัด (ตามทะเบียนบ้าน) ร้อยละ 13.59 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้าภายในอำเภอ (ตามทะเบียนบ้าน) และร้อยละ 2.06 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้ารัศมี 4 กิโลเมตร (ตามทะเบียนบ้าน)
อีกทั้งผลสำรวจของนิด้าโพลพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 62.60 เห็นว่ากรอบระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต เห็นด้วยที่ให้ใช้ภายใน 6 เดือนตามที่เพื่อไทยหาเสียงไว้ ขณะที่รองลงมาร้อยละ 37.09 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายเงินภายใน 1 ปี
ประมวลสรุปได้ว่า ผลสำรวจนิด้าโพลรอบนี้ก็คือ กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วย-สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นเสียงสะท้อนตอบรับในทางบวกต่อนโยบายดังกล่าวของเพื่อไทย
มาแบบได้จังหวะอย่างนี้ ย่อมทำให้เศรษฐา-เพื่อไทยใจฟู แถมเข้าทางตีน เอาไปอ้างได้ว่า ประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เหมือนที่คนเพื่อไทยบอกตลอดว่า ประชาชนส่วนใหญ่รอคอย อยากได้ดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนคนคัดค้านแค่เสียงส่วนน้อย
คราวนี้ก็อยู่ที่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายของเศรษฐา ในฐานะนายกฯ และ รมว.คลัง และในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ตั้งตามมติ ครม.
ซึ่งแม้มีกรรมการร่วม 28 คนที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ กระนั้นการตัดสินใจจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ก็อยู่ที่ตัวเศรษฐา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและ รมว.คลังเป็นหลัก
ท่ามกลางข้อสงสัยและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังมาตลอดถึงนโยบายดังกล่าว ที่จนป่านนี้ แกนนำเพื่อไทย โดยเฉพาะ จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง จากเพื่อไทย ที่เป็นหัวเรือใหญ่ของรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย ในการคุมทิศทางนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็ยังตอบไม่ได้ถึงเรื่อง
แหล่งที่มาของเงินงบประมาณ
หลายแสนล้านบาท ที่จะนำมาทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยเฉพาะหากจะให้คนไทยทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี ได้พร้อมกันหมด ที่ต้องใช้งบร่วม 560,000 ล้านบาท
ก็อดใจรอดูกันกับโปรแกรมทอง 10 พ.ย. ว่าทิศทางดิจิทัลวอลเล็ตจะออกมาแบบไหน กับการเปิดเผย-การแถลงจากเศรษฐา นายกฯ-รมว.คลัง ถ้าไม่เจอโรคเลื่อนไปก่อน
โดย 3 ประเด็นใหญ่ที่เศรษฐาต้องตอบให้ชัด ในวันที่ 10 พ.ย.ก็คือ
1.แหล่งที่มาของเงินงบประมาณที่ใช้ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
2.การโอนเงินจะโอนให้คนไทยทุกคน หรือให้เฉพาะบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน
3.จะสามารถโอนได้เมื่อใด และโอนครั้งเดียว หนึ่งหมื่นบาทหรือโอนหลายงวด
หากทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว ไม่ชัด มีความคลุมเครือ เศรษฐาตอบไม่ได้ เลี่ยงบาลี จะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการบริหารประเทศของเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย มีปัญหาตามมาอย่างหนัก เพราะขนาดนโยบายเรือธงอย่างดิจิทัลวอลเล็ตของเพื่อไทยยังอึมครึม-เข็นไปแบบยากเย็น การผลักดันนโยบายอื่นๆ ที่เคยหาเสียงไว้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง
เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์