เปิดแผล-จี้จุดอ่อน วิบากกรรม 'ก้าวไกล'

“อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เสียคะแนนมากที่สุด แม้จะเป็นเกมจี้จุดอ่อนเพื่อดิสเครดิตจากฝ่ายตรงข้ามพรรคก้าวไกล ซึ่งดาหน้าออกมาขยับกันเป็นเครือข่าย และเปิดแนวรบเป็นระลอก"

ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า เคราะห์ซ้ำกรรมซัด หรือ สนิมเกิดแต่เนื้อในตน สำหรับพรรคก้าวไกล ที่ต้องเจอกับความยากลำบากสุดแสนสาหัสในการก้าวเข้าไปมีอำนาจในฝ่ายบริหาร หลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แถมยังกลายสภาพเป็นฝ่ายค้านที่โดดเดี่ยว มีปัญหาภายในพรรครุมเร้า อันเกิดจากปัญหาส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนฝ่ายตรงข้ามหยิบจับไปดิสเครดิตด้วยวิธีย้อนแนวคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย สร้างบรรทัดฐานคุณค่าความดีงาม รังสรรค์มาตรวัดที่เหนือกว่าคนในอาชีพนักการเมืองด้วยกัน กลายเป็น หลุมดำ ที่เป็นกับดักให้ตัวเอง

จากแนวคิดของพรรคที่เปิดกว้างให้คนทุกสาขาอาชีพได้เข้ามาเสนอตัวเพื่อเป็นผู้สมัคร สส.หน้าใหม่ให้กับประชาชนได้ลองเลือกใช้ในช่วง “เบื่อลุง” ประกอบกับกระแสพรรค “ติดลมบน” จากการทำตลาดในโซเชียลมีเดีย ทำให้นักการเมืองจากพรรคก้าวไกลเดินเข้าสภาเป็นจำนวนมาก กลายเป็นผู้ทรงเกียรติที่มีสถานะทางสังคมมากกว่าเมื่อก่อน แต่ก็ไม่มีผู้บริหารหรือคนในพรรคเข้าถึงพฤติกรรมส่วนตัวของแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง

หลายครั้งที่พรรคพยายามอธิบายเรื่องกระบวนการกลั่นกรองคน คู่ขนานไปกับหลักคิดเรื่องบรรทัดฐาน ความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ เพศสภาพ ตามทฤษฎีตะวันตก ควบคู่ไปกับการต่อสู้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของภาคประชาชน แต่มันก็มีความย้อนแย้งในเรื่องของปฏิบัติที่คนในพรรคใช้บรรทัดฐานอธิบายต่างกัน

ไม่เท่านั้น ความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ในค่านิยมทางการเมือง ที่พรรคเรียกร้องมาตลอดว่าผู้มีอำนาจ หรือนักการเมือง ต้องตระหนักและต้องกล้าแสดงออกในสิ่งเหล่านี้ เช่นเดียวกับนักการเมืองในประเทศที่มีการพัฒนาการเมือง อย่าไปอยู่ในวังวนของการเมืองแบบเก่าที่เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ ผลประโยชน์ และความล้าหลัง

แต่ดูเหมือนว่า “หลักการ” เหล่านั้นถูกฝ่ายตรงข้ามนำกลับมาทิ่มแทงอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งการแยกตัวไปของหัวขบวนทางความคิดของ “คณะก้าวหน้า” ที่ต้องหมอบให้กับปฏิบัติการ “สมรู้ร่วมคิด” ของผู้มีอำนาจพรรคตัวจริง

นโยบาย จุดยืนที่เคยประกาศกร้าว ปักธงในการหาเสียง ถูกงัดออกมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณี 2 สส.ที่ถูกร้องเรียน คุกคามทางเพศ จากเพจไอโอ กับการเมืองฝ่ายมีอำนาจ “รุมกินโต๊ะ” พรรคก้าวไกลจากทุกทิศทุกทาง

ที่สำคัญคือ ข้อหาต่างๆ ที่หยิบยกขึ้นมาตั้งโจทย์คำถามนั้น เริ่มต้นจาก “ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์” อันเกิดจากจุดอ่อนของคนในพรรคเองที่ไม่สามารถบ่มเพาะพฤติกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่พรรคประกาศไว้ และการแก้ไขปัญหาที่ออกมาก็ไม่ได้รับการตอบรับจากกระแสสังคม หรือแฟนคลับของพรรคก้าวไกลที่เคยประทับใจในช่วงการเลือกตั้งเท่าที่ควร

อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ “เสียคะแนน” มากที่สุด แม้จะเป็นเกม "จี้จุดอ่อน” เพื่อดิสเครดิตจากฝ่ายตรงข้ามพรรคก้าวไกล ซึ่งดาหน้าออกมาขยับกันเป็นเครือข่าย และเปิดแนวรบเป็นระลอก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริง

แนวทางเดียวที่พรรคจะดำรง หลักการ เอาไว้ได้คือ การใช้กลไกของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ จัดการยุติปัญหาอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าใช้มติพรรคแก้ปัญหา และรอ “สปิริต” จากคนในข่าว ก็จะถูกอีกฝ่ายจี้ไปที่อุดมการณ์ของพรรคอย่างไม่จบสิ้น

จึงไม่แปลกที่ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค จะโพสต์เฟซบุุ๊กในวันรุ่งขึ้นหลังสมาชิกพรรคที่ไม่ได้รับการโหวตให้พ้นจากพรรคยังคงเดินหน้าตอบโต้ข้อมูลของอีกฝ่าย แถมใช้วิธีการ “โค้งคำนับ” ในช่วงของการแถลงข่าว จนกลายเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาพูดอย่างขบขัน

ผมได้ฟังการแถลงของคุณไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ แล้ว และมีความเห็นส่วนตัวว่า แม้คุณไชยามพวานจะแถลงว่าน้อมรับมติของพรรคและขอโทษ หากเห็นว่าการกระทำของตนเองถือเป็นการคุกคามทางเพศ แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญในการแถลงแล้วจะเห็นได้ว่า คุณไชยามพวานไม่ได้สำนึกหรือยอมรับว่าพฤติการณ์ของตนนั้นเข้าข่ายเป็นการคุกคามทางเพศแม้แต่น้อย และไม่ได้ขอโทษต่อผู้เสียหายอย่างจริงใจ

โดยจะเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคอีกครั้งว่า การกระทำจากการแถลงข่าวครั้งนี้เป็นไปตามมติพรรคหรือไม่ และถ้าขัดมติก็จะเข้าสู่กระบวนการทางวินัย หากผิดจริงก็ต้องให้พ้นจากสมาชิกพรรคต่อไป

ก็จะเหมือนกับกรณีของ วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี ที่พรรคมีมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิก และต้องไปหาพรรคใหม่อยู่ภายใน 90 วันตามรัฐธรรมนูญ

แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะมีพรรคไหนกล้ารับ 2 สส.เข้าไปเป็นสมาชิกพรรค เพราะกรณีที่เกิดขึ้นจะต่างจากกรณีของ “ศรีนวล บุญลือ” อดีต สส.เชียงใหม่ ที่เคยอยู่พรรคอนาคตใหม่ และย้ายไปพรรคภูมิใจไทย หรือแม้กระทั่ง "กลุ่มสามมิตร” ที่ย้ายจากพลังประชารัฐไปซบพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเรื่องการหาที่ยืนทางการเมือง              

นั่นเป็นเพียงการ จั่วหัว ในเกมเปิดแผลพรรคส้มที่หลายฝ่ายพร้อมจะ “ยำใหญ่” ไปด้วยกัน เพราะทุกพรรคตกชั้นลงมาในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คงไม่อยากให้ก้าวไกลแข็งแกร่งไปกว่านี้

นอกจากเป็นคู่แข่งของนักการเมืองด้วยกัน ก้าวไกลยังเป็น “ศัตรู” ของฝ่ายจารีตที่มุ่งหวังไม่ให้พรรคขาดเอกภาพ ลดความน่าเชื่อถือ โดยใช้วิธีเปิดโปงเนื้อในที่ไม่ได้เป็น “ของจริง”  

จึงไม่แปลกที่ตอนนี้จะมี “พันธมิตร” ออกมาเคลื่อนไหวอย่างพร้อมเพรียงในการตรวจสอบอย่างแข็งขัน ทั้งเสื้อเหลือง-เสือแดง เพจเครือข่ายที่รับลูกกันเป็นระบบ

ที่น่าสนใจคือปฏิกิริยา “รุกรบ” ของ สส.พรรคส้ม ก็ไม่ได้แข็งกร้าวใช้สไตล์ถือไมค์ไฮด์ปาร์กเรียกมวลชนเหมือนเมื่อก่อน แต่ใช้กลไกสภาในการทำหน้าที่กรรมาธิการฯ ตรวจสอบตามระบบ พัฒนาการทำงานไปตามวัยวุฒิและคุณวุฒิ โดยมีคดีความในชั้นศาลกำลังไล่ล่า ตามติด หายใจรดต้นคออยู่หลายคน

ยิ่งเมื่อเจอมาตรการ “ไม้นวม” จากรัฐบาลในการใช้ภาษาดอกไม้พูดคุยทำความเข้าใจ เชื้อเชิญมาพบปะกับหน่วยงานที่เป็นปัญหา ลดระดับความเข้มข้นในการเกาะติดประเด็นต่างๆ ลง ภาพที่ออกมาจึงไม่ได้ดั่งใจแฟนคลับพรรคก้าวไกลเท่าใดนัก

แต่ก็ต้องยอมรับว่า “ก้าวไกล” เองก็มีข้อจำกัดในเรื่องของข้อมูลเชิงลึก และมีแหล่งข้อมูลอย่างจำกัด การตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่างๆ “ยังเป็นรอง” นักการเมืองชั้นอ๋องอย่างพรรคประชาธิปัตย์

การเลือกประเด็นตรวจสอบกองทัพตามยุทธวิธี “ชนกับทหาร” ก่อน “ชนเพดาน” ตั้งแต่เรือดำน้ำ ไอโอกองทัพ หรือการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้นยังเป็นข้อมูลชั้นต้น ทำให้ฝ่ายรัฐกล้อมแกล้มพอชี้แจงได้

โดยเฉพาะเรื่องการยื่นยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ตามการเสนอของ “รอมฎอน ปันจอร์" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าชื่อร่วมกันกับ สส.ภายในพรรคเสนอต่อสภานั้น เมื่อจัดจำแนกแล้วก็ถือว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน ที่คงไปไม่ถึงสุดทาง

เนื่องจากเข้าองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 ที่บัญญัติว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อสภา หากเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

นั่นก็คือ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องเซ็นชื่อรับรองให้ ทางสภาถึงจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาของสภาได้ โดยหากนายเศรษฐาไม่เซ็นรับรอง ก็ไม่สามารถส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ ซึ่งล่าสุดประกาศชัดว่า “ไม่ยุบ กอ.รมน.”

พร้อมย้ำว่า ไม่อยู่ในนโยบาย “เพื่อไทย” การเปลี่ยนแปลงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่วิธีหักโค่นทำลายกันและกัน แต่ก็ปรารถนาจะทำกองทัพให้ทันสมัย สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย และจะทำให้ กอ.รมน.เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงทางประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และในยามวิกฤตพร้อมช่วยเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชน

ส่วนเรื่อง “เรือดำน้ำ” นั้นมีมิติที่เกี่ยวพันกับยุทธศาสตร์ความมั่นคง และความขัดแย้งของมหาอำนาจ ซึ่งรัฐบาลต้องลงไปล้วงเอง นอกเหนือไปจากเรื่อง “เครื่องยนต์” ที่มีเรื่องซับซ้อนเกี่ยวกับ “ใบอนุญาต” การผลิตที่ต้องตีความว่าเป็นเยอรมนีหรือของจีน ซึ่งรัฐบาลกับกองทัพมีการตั้งคณะทำงานหารือเรื่องนี้กันให้จบในเดือน ธ.ค. โดยมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม เป็นแกนกลาง

จึงไม่แปลกที่กองทัพเรือทำหนังสือเลื่อนการชี้แจงกรรมาธิการฯ ทหาร ที่มี “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เป็นประธานออกไปก่อน และรอเวลาก่อนทุกอย่างจะคลี่คลาย 

ส่วนทัพ 2 ซึ่งมี “รังสิมันต์ โรม” พร้อมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ไปพบ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ที่กระทรวงกลาโหม ศรีสมาน เพื่อตั้งโจทย์ถามในหลายเรื่อง “บิ๊กทิน” ก็เชิญผู้แทนเหล่าทัพมาชี้แจงข้อมูลทั้งหมด ภาพที่ออกมาก็ชื่นมื่น

นับจากนี้การทำงานของ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้าน ตรวจสอบรัฐบาล คงไม่ราบรื่นนัก เพราะเจอกับปฏิบัติการ “ตัดกำลัง” ด้วยการเปิดแผลที่มีอยู่เต็มไปหมด ยังไม่นับคดีความของแกนนำ และความเสี่ยงที่ถูกยุบพรรคยังดำรงอยู่เป็นระเบิดเวลาที่พร้อมทำงานอยู่เสมอ

เลยไปถึงกลยุทธ์ในการสร้างมิตรในศัตรู การแบ่งกลุ่มพวก เพื่อลดทอนความเข้มแข็งของพรรคก้าวไกล ในการปักธงที่เป็นอันตรายต่อสังคม

แต่ก็ต้องเจอ “วิบากกรรม” อีกหลายเรื่อง ที่เข้าคิวถูกขุดคุ้ยมาตีแผ่ เปิดโปง อย่างไม่หยุดหย่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' แถลงนโยบายรัฐบาล การเมือง-ทุนปึ้ก-ประชาชนอยู่ไหน?

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา เสมือนเป็นภาพชัยชนะของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ นับตั้งแต่บินกลับมารับโทษในไทยเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 22 ส.ค. 2566

รู้แล้วบอกต่อ 'ทักษิณ' อ้างเหตุนี้ ทำเพื่อไทยแพ้เลือกตั้งก้าวไกล

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้วย ซึ่งเป็นงานแรกที่นายทักษิณขึ้นพูดหลังจากเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ

ชัยชนะยกแรก“ทักษิณ” บ้านป่าฯแตก-ผู้เฒ่ากระอัก

พลิกสถานการณ์กลับมาชนะสำหรับ “นายใหญ่เพื่อไทย”-ทักษิณ ชินวัตร หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ ถูกสอยปมตกเก้าอี้ จากการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ในเรื่องความซื่อสัตย์และจริยธรรม

‘ประชาธิปัตย์’เจ็บ-ไม่จบ ฝันค้าง(ยัง)ไร้เทียบเชิญ

ซูฮกพรรคเพื่อไทย!!! โยนโจทย์ให้แต่ละพรรคร่วมรัฐบาลเคาะชื่อกันเอง และมีคำสั่งพิเศษไม่เอา “วงษ์สุวรรณ” ร่วมรัฐบาล เล่นเอาพรรคการเมืองอื่นวุ่นวาย โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์โดนหางเลขไปกับเขาด้วย ที่เห็นเป็นเอกภาพสุด คือพรรคภูมิใจไทยไร้รอยต่อเป็นหนึ่งเดียวกัน

'อ.เจษฎา' เผยจุดยืน เคยเลือก 'ก้าวไกล' แต่เคยโดน 'ด้อมส้ม' ทัวร์ลงเวลาพูดว่าเป็นรอยัลลิสต์ด้วย

ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

‘ธรรมนัส’ สิ้นสุดทาง ‘ลุง’ พปชร.ไม่มีอะไรเหมือนเดิม

‘พรรคพลังประชารัฐ’ จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว แทบจะเป็นครั้งแรกที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ใช้คำพูดเชือดเฉือนใส่ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หลังรู้ว่าตัวเองหลุดจากรายชื่อคณะรัฐมนตรี