ยุบ "กอ.รมน." เจอด่านสกัด เปิดลิสต์ร่างกม.เขย่ากองทัพ

ด้วยการที่สภาผู้แทนราษฎรประทับตราให้ ร่าง

พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือที่เรียกกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน. ของ สส.พรรคก้าวไกล ที่นำโดย รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าชื่อร่วมกันกับ สส.ภายในพรรคเสนอต่อสภาฯ เป็น ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน

 ทำให้ต้องไปเข้าองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 ที่บัญญัติว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อสภาฯ หากเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

ที่ก็คือ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องเซ็นชื่อรับรองให้ ทางสภาฯ ถึงจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาของสภาฯ ได้ โดยหากนายเศรษฐาไม่เซ็นรับรอง ก็ไม่สามารถส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้

ซึ่งท่าทีของเศรษฐา นายกฯ ที่เป็น ผอ.กอ.รมน.โดยตำแหน่ง  ประกาศหลังไปตรวจเยี่ยมที่ทำการตึก กอ.รมน.และร่วมประชุมใหญ่ กอ.รมน.ครั้งแรกเมื่อ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยยืนยัน จะไม่มีการยุบ กอ.รมน.และรัฐบาลไม่มีนโยบายยุบ กอ.รมน.

นั่นเท่ากับว่า ทำให้โอกาสที่ร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.ของก้าวไกล มีสิทธิ์ เป็นหมัน ไม่ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาฯ ได้ ถ้า เศรษฐาไม่เซ็นรับรอง และพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลไม่เอาด้วยกับแนวทางการยุบ กอ.รมน.ของพรรคก้าวไกล

มันจึงทำให้ก้าวไกลต้องเปิดเกมรุก ไม่ยอมตกอยู่ในที่ตั้ง จึงมีการโหมสร้างกระแสทางการเมือง ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของ เศรษฐา ที่ชิงประกาศไม่ให้มีการยุบ กอ.รมน. ทั้งที่สภาฯ ยังไม่ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

ว่าไปแล้ว ปฏิกิริยาการเมืองดังกล่าวของก้าวไกลไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.คืออีกหนึ่งร่างกฎหมายสำคัญของก้าวไกล ในการชูธงปฏิรูปกองทัพในช่วงหาเสียงที่ผ่านมา อีกทั้งก้าวไกลเชื่อว่าฐานเสียงของตัวเองน่าจะเอาด้วยกับการยุบ กอ.รมน. 

จับจังหวะการขยับตัวของก้าวไกล ที่ยังไม่ยอมแพ้ในการจะดันร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.เข้าสภาฯ ให้ได้ พบว่าก้าวไกลเน้นเคลื่อนตัว โดยตีไปที่ จุดอ่อน ของ กอ.รมน.

เช่นเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กอ.รมน.แต่ละปีที่ได้ปีละหลายพันล้านบาท บางปีก็ได้เกือบเก้าพันล้านบาท และมี งบลับ จำนวนมากที่เปิดช่องให้ กอ.รมน.นำไปใช้ทำภารกิจของกองทัพและฝ่ายการเมืองที่คุม กอ.รมน. เช่น การให้ข้อมูลว่าเอาแค่ 4 ปีที่ผ่านมา กอ.รมน.ได้งบร่วม 34,285,536,700 บาท ตั้งแต่หลังเลือกตั้งรอบที่แล้ว โดยงบ 4 ปีดังกล่าวคือ ในช่วงปี 2563-2566 ในยุคที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม และเป็น ผอ.กอ.รมน.

​แยกเป็นรายปีได้ดังนี้ งบปี 2563 ได้ 9,893,672,900​ บาท งบปี 2564 ​ได้​​ 8,854,707,900​​ บาท งบปี 2565 ได้​7,764,882,400 ​บาท และงบปี 2566 ได้​ ​7,772,273,500​ บาท เท่ากับปีละขั้นต่ำเจ็ดพันกว่าล้านบาท ที่สูงกว่าบางกระทรวง เช่น กระทรวงพลังงานที่ได้งบแค่ปีละสองพันล้านบาท ทั้งที่ กอ.รมน.มีสถานะเป็นหน่วยงานระดับกรมในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงการให้ข้อมูลว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา นับแต่มีการฟื้น กอ.รมน.ขึ้นมาอีกครั้งในปี 2551 กอ.รมน.ได้งบประมาณรายจ่ายรวมกันมากถึง 1.3 แสนล้านบาท  

​ส่วนท่าทีอย่างเป็นทางการของก้าวไกล เกิดขึ้นเมื่อช่วงสายวันที่ 1 พ.ย. ที่ก้าวไกลส่ง รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แกนนำในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้ยุบ กอ.รมน. ไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภา

รอมฏอน ย้ำว่า การยกเลิก กอ.รมน.เพื่อทำให้เรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องของประชาชน-พลเรือน ไม่ใช่ผูกขาดอยู่เพียงแค่บทบาทและหน้าที่ของกองทัพ แต่ต้องทำให้พลเรือนเป็นใหญ่ โดยที่ผ่านมา กอ.รมน.มีข้อกล่าวหามากในเรื่องใช้งบประมาณที่มากเกินจริง มีความไม่โปร่งใสในการบริหารกำลังพล จึงเป็นเหตุผลให้เสนอยกเลิก กอ.รมน.เพื่อปฏิรูปงานความมั่นคงทั้งหมด

โดย สส.ก้าวไกลผู้นี้ได้แสดงท่าทีชัดเจนในเชิง ดักคอ-กดดันการเมือง ไปถึงเศรษฐา ว่าควรลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.เพื่อให้สภาฯ ได้ใช้เวทีอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

“หากนายกฯ ไม่ให้คำรับรอง อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลพลเรือน ที่ควรจะมีอำนาจเหนือกว่ากองทัพมัวหมองไป”

 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ ที่จะกลับมาเปิดอีกครั้ง 12 ธ.ค.2566 ถึงกลางเดือนเมษายน ปี 2567

ทำให้ต้องรอดูว่า เมื่อสภาฯ เปิดและครบกำหนดการนำร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.ไปรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่ตอนนี้ทำอยู่ผ่านเว็บไซต์ของสภาฯ เมื่อสภาฯ เปิดก็ต้องรอวัดใจกันว่า เศรษฐาจะเซ็นรับรองให้เอาร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.เข้าสภาฯ หรือไม่?

และเมื่อเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของสภาฯ ในช่วงบ่ายของวันที่ 1 พ.ย.พบว่า ในช่องแบบสอบถามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.

มีการตั้งคำถาม เช่น ท่านเห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน.หรือไม่? โดยมีคำถามสำคัญคือคำถามสุดท้ายที่ว่า “ท่านเห็นสมควรให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านเป็นกฎหมายหรือไม่” โดยมีช่องให้กรอก 3 คำตอบคือ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย-งดออกเสียง ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปแสดงความเห็น จะต้องกรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักด้วย ความเห็นดังกล่าวจึงจะได้รับการบันทึกไว้

พบว่าข้อมูลจนถึงช่วงบ่ายวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้แสดงความคิดเห็น 46,541 คน

เห็นด้วย 27.92%

ไม่เห็นด้วย 71.51%

งดออกเสียง 0.57%

นี่คือเสียงสะท้อนจากประชาชน ที่แสดงความคิดเห็นต่อการเสนอร่างดังกล่าวของ สส.พรรคก้าวไกล ที่เป็นการให้ความเห็นแบบต้องมีตัวตนยืนยัน ปั่นยาก และน่าจะทำให้ก้าวไกลต้องกลับมาตั้งหลักเหมือนกันว่า จะขยับเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร

เพราะตอนนี้ก็ยังมีร่าง พ.ร.บ.สำคัญๆ ของก้าวไกล ที่จ่อจะพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ สมัยหน้า ที่หลายฉบับเป็นการ เขย่ากองทัพ อย่างเห็นได้ชัด เช่น ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ.....” ที่เสนอโดยเรืออากาศโทธนเดช เพ็งสุข ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกลและคณะ ที่ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนเช่นกัน

โดยมีเนื้อหาสำคัญ เช่น ให้นำระบบคุณธรรมมาใช้ในการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกองทัพ-การยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก-การปรับโครงสร้างสภากลาโหมหรือบอร์ดแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลใหม่ เช่น การให้มีสมาชิกสภากลาโหมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 5 คน ที่ รมว.กลาโหม ซึ่งมาจากฝ่ายการเมืองเป็นผู้แต่งตั้ง ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ก็คือ การทำให้ฝ่ายการเมืองคุมเสียงข้างมากในสภากลาโหม เพื่อจะได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการแต่งตั้งโผทหารประจำปีนั่นเอง

ปฏิบัติการเขย่าทัพ-ลดอำนาจท็อปบู๊ตของก้าวไกลผ่านการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกองทัพ   ในยุคที่ความสัมพันธ์ของผู้นำเหล่าทัพกับเศรษฐาและรัฐบาลเพื่อไทยยังหวานชื่น

ประเมินแล้วด้วยเสียง สส.ในสภาฯ ของพรรคก้าวไกล ที่น้อยกว่าฝ่ายรัฐบาลมาก ทำให้โอกาสจะเขย่าแบบแรงๆ รื้อทั้งโครงสร้าง น่าจะทำได้ยาก หากเพื่อไทยไม่รับลูกด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”

“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว

'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง

“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน

คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง

เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์