กอ.รมน.-เรือดำน้ำ ลดแรงปะทะในสงครามข้อมูล

การรุกหนักของคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นประธาน และคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป ที่มี รังสิมันต์ โรม เป็นประธาน ตั้งโจทย์ปัญหาในประเด็นด้านการทหารและ ความมั่นคงเพื่อตรวจสอบอย่างเข้มข้น ภายใต้สภาพการณ์ที่รัฐบาลและกองทัพยังมีความสัมพันธ์ที่เอื้ออาทรและพึ่งพากัน นับแต่การเข้ามาเป็นนายกฯ ของ “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งประกาศว่าเป็นผู้ที่กำกับดูแลงานด้านความมั่นคงเอง ไม่จำเป็นต้องมีรองนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

จากการเปิดประเด็นของ รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 พ.ศ.....เพื่อยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายใน เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในให้อำนาจข้าราชการทหารมีอำนาจมาก ในการดำเนินงานเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ ผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มีลักษณะความสลับซับซ้อนภายในองค์กร และยังเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ทำให้สิ้นเปลืองกำลังคน งบประมาณ จึงไม่มีความเหมาะสมที่ให้มีหน่วยงานนี้ในบริบทสังคมปัจจุบันอีกต่อไป เห็นสมควรยุบ กอ.รมน.

โดยสภาฯ มีการเปิดให้แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว และมียอดคอมเมนต์จำนวนมาก โดย “รอมฎอน” ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าถือเป็นยุทธการที่มีกองทัพไซเบอร์เข้ามาร่วมแจมมากน้อยเพียงใดครับ และน่าจะเป็นร่างกฎหมายที่มียอดคนคอมเมนต์มากที่สุดในประวัติการณ์ 

นั่นเป็นประเด็นแรกที่พรรคก้าวไกลกำลังบอกสังคมว่า กำลังทำหน้าที่ “ตรวจสอบ” ความไม่ชอบมาพากลในพื้นที่ความมั่นคง ที่ถูกมองว่าเป็น แดนสนธยา ที่สังคมภายนอกเข้าไม่ถึง

อีกประเด็นคือ การออกมาตั้งคำถามเรื่องการเปลี่ยนโครงการเรือดำน้ำไปซื้อ เรือฟริเกต จากประเทศจีน ซึ่งต้องเพิ่มงบประมาณอีก 1,000 ล้าน เหมาะสมหรือไม่ แล้วกองทัพเรือไทยจะเสียเปรียบจีนอีกรอบหรือเปล่า 

ไม่เท่านั้นยังลงรายละเอียดเรื่องจุดอ่อนในการซื้อเรือฟริเกตจีนอีกหลายข้อ และตั้งคำถามว่า ควรจะยกเลิกโครงการไปเลยแล้วเอาเงินคืนมาตั้งโครงการประมูลใหม่จะดีกว่าหรือไม่ โดยคณะกรรมาธิการทหารฯ ได้ขอให้กองทัพเรือไปชี้แจงในเรื่องของขั้นตอน และความคุ้มค่าในการเลือกเปลี่ยนมาซื้อเรือฟริเกตของจีนให้ได้ แต่กองทัพเรือยังขอรวบรวมข้อมูลก่อน โดยเฉพาะสัญญา “จีทูจี” ที่มีการโจมตีมาตลอดว่าเป็น จีทูจีเก๊ ไม่ต่างจากโครงการรับจำนำข้าว

เมื่อหันมาดูการทำงานของ “พรรคก้าวไกล” ในสภาฯ เช่น การตั้งกระทู้สดถามนายกฯ ถูกนายกฯ ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง แต่กลับตอบกระทู้สด สส.ฝ่ายรัฐบาล ทำให้ก้าวไกลต้องใช้คณะกรรมาธิการเป็นด่านหน้าในการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลให้เป็นผล ขณะที่รัฐบาลก็ใช้ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม เป็น “หนังหน้าไฟ” คอยเป็นตัวกลางให้ 2 ฝ่ายสงบศึก

 อย่างน้อยจะได้พูดคุย บอกถึงเหตุผลของแต่ละฝ่าย ไม่ได้ตั้งป้อมที่จะประกาศสงครามกันไปเสียทุกเรื่อง จะเห็นได้จากกรณีที่ให้ “รังสิมันต์ โรม” ประธานกรรมาธิการความมั่นคง กับ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ  กรรมาธิการและคณะเข้าไปคุยกับตัวแทนเหล่าทัพ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ศรีสมาน 

โดยเฉพาะเรื่องใหญ่อย่าง กอ.รมน.ขณะที่บรรดาเพจที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามพรรคก้าวไกล ต่างออกมาติดแฮชแท็ก SAVE กอ.รมน.กันเป็นทิวแถว หลังจาก สส.ของพรรคออกมารณรงค์ในการแก้ไขกฎหมาย 

รวมไปถึงเรื่อง “ไอโอ” ก็ถูกนำมาตั้งคำถามอีกครั้ง โดยเฉพาะการที่ ผบ.ทร.เคยประกาศด้วยตนเองเมื่อครั้งแถลงนโยบายว่าจะกำกับดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งตัวแทนของ ทบ.ได้อธิบายในเรื่องความจำเป็นว่าควรยังมี กอ.รมน.อยู่ และ ทร.รับไปแก้ปัญหาเรื่อง “ไอโอ” โดยยืนยันว่าไม่ให้ไปด้อยค่าใคร และจะไม่ให้มี ไอโอ “สีเทา-สีดำ” ทำให้บรรยากาศที่ออกมาจึงมีแต่ภาพบวกเป็นฉากหน้าไปก่อน

ส่วนเรื่อง “เรือดำน้ำ” นั้น แน่นอนว่าพรรคก้าวไกลคงเกาะติดและกัดไม่ปล่อย เนื่องจากมี “ถังข้อมูล” ในการตรวจสอบจากกูรูคอยสนับสนุนอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ ทร.เองก็รู้ดีว่าต้องชี้แจงให้ชัดเจนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากที่ “ทางเลือก” ในการไม่ได้เครื่องยนต์จีน คือการเปลี่ยนเป็นเรือดำน้ำ ในหน้าสื่อยังมีอยู่แค่นั้น

ชุดข้อมูลของฝ่ายตรวจสอบที่หลั่งไหลออกมา จึงพุ่งเป้าไปที่การพิจารณาจุดอ่อนของการจัดหา “เรือฟริเกตจีน” เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกองทัพเรือเองก็ประกาศแล้วว่า พร้อมรับฟังทุกคอมเมนต์ และเป็นสิ่งที่สังคมต้องพิจารณาข้อดี-ข้อเสียร่วมกัน 

แต่ก็ใช่ว่าประตูในการแก้ไขปัญหาช่องทางอื่นจะปิดตาย เพราะก็มีรายงานว่า การเปิดประเด็นเรื่อง “ฟริเกตจีน” นั้นเป็นแค่แผนสำรองที่เตรียมไว้เท่านั้น เพราะความหวังในการที่จะได้เครื่องยนต์เยอรมันนั้นยังไม่เป็นศูนย์เสียทีเดียว รัฐบาลเองก็ได้ส่งสัญญาณไปยังกองทัพเรือว่า อย่าเพิ่งเดินทางไปเจรจากับจีน เพราะฝ่ายเราไม่ได้เป็นฝ่ายที่ผิดสัญญา และอาจจะมีข่าวดีที่โครงการเรือดำน้ำจีนอาจกลับมาฟื้นชีพขึ้นมาได้

อีกทั้งงานนิทรรศการอาวุธยุทโธกรณ์ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและพันธมิตรเครือข่ายจัดขึ้นภายใต้ชื่องานดีเฟนด์แอนด์เซ็คเคียวริตี้ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 พ.ย.นี้ จะมีตัวแทนบริษัทกึ่งรัฐวิสาหกิจ CSSC ซึ่งถือหุ้นเกินกว่าครึ่งของรัฐบาล และบริษัท CSOC ที่ต่อเรือดำน้ำ S26T ที่ต่อให้ไทย ก็ถูกควบรวมกิจการมาไว้แล้ว ก็จะมาเปิดบูทด้วยการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการจัดนิทรรศการในส่วนยุทโธปกรณ์ ทร. เช่นเดียวกับโนรินโก้ รัฐวิสาหกิจของจีนก็จะนำเสนอยุทโธปกรณ์ในส่วนของ ทบ.ด้วย โดยจะมีผู้ช่วยทูตทหารจีน ตัวแทนกองทัพ และปูลิตบูโรของจีนเดินทางมาด้วย ซึ่งคาดว่า "บิ๊กทิน" และ ผบ.ทร.ของไทยจะใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยกันในงานนี้

ซึ่งชุดข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทีมของกระทรวงกลาโหมรับทราบการดำเนินการมาทุกขั้นตอน แต่ในสถานะตอนนี้ที่รัฐบาลกลายเป็น “กันชน” ระหว่าง “กองทัพ” กับ “ก้าวไกล” จึงทำได้แค่ประสานให้พูดคุยถกแถลงกันด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง จะไปยืนอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ 

การเชิญ “ก้าวไกล” เข้ามาในพื้นที่ทหาร เพื่อให้เกิดภาพการพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร หวังลด “ดรามา” และการ “ปั่นกระแส” ในฐานมวลชนฝ่ายของตัวเอง ไม่ใช้อคติในการเอาชนะคะคานกัน ขณะเดียวกัน “ฝ่ายทหาร” เองก็ต้องปรับตัว และนำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 ปรับจูนไม่ให้เกิดการปะทะกันด้วยอารมณ์ และความรู้สึก จนถูกหยิบไปใช้เป็นเครื่องมือชักจูงมวลชนให้เผชิญหน้ากันจนเกิดเป็นความเกลียดชัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

'โรม' กล่อม 'ทักษิณ' เข้าแจง กมธ.ความมั่นคง ปมชั้น 14 เชื่อเป็นผลดีต่อรัฐบาล-นายกฯอิ๊งค์

นายรังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเชิญนายทักษิณ ชินวัตร

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า