แจกดิจิทัล 1 หมื่น ทำทรุด “อุ๊งอิ๊ง” กู้ศรัทธาไหวไหม?

ทนเสียงทักท้วงจนรัฐบาลเพื่อไทยไม่สามารถฝ่ากระแส ลุยไฟ ไปไหว หลังคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อน โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ต้องยอมถอยจากการแจกเงินถ้วนหน้า ตั้งแต่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป

ด้วยการปรับ 3 หลักเกณฑ์ใหม่ 3 ข้อคือ 1.ตัดกลุ่มที่มีเงินเดือนเกิน 2.5 หมื่นบาท และหรือผู้มีบัญชีเกิน 1 แสนบาท 2.ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 5 หมื่นบาท และหรือมีเงินในบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออกไป และ 3.ให้สิทธิ์เฉพาะผู้มีบัตรคนจนจำนวน 15-16 คน เพื่อประหยัดงบประมาณลง   

นอกจากนี้ยังเลื่อนจ่ายเงินจาก 1 ก.พ.2567 ออกไปก่อน เพื่อรอให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย.-พ.ค.67 และโครงการนี้จะใช้งบประมาณเป็นหลัก หลีกเลี่ยงการกู้เงิน ซึ่งจะเป็นทางออกท้ายๆ โดยข้อเสนอดังกล่าวเตรียมชงให้คณะกรรมการชุดใหญ่ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน เป็นผู้เคาะในขั้นตอนสุดท้าย

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วิเคราะห์สาเหตุรัฐบาลเพื่อไทยต้องเปลี่ยนท่าที กรณีแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

1.จะใช้งบประมาณแผ่นดินปี 2567 กว่า พ.ร.บ.งบประมาณปีนี้จะผ่าน ก็ 17 เมษายน 2567 ใช้ก่อนไม่ได้ ผิดกฎหมาย

2.จะใช้มาตรการกึ่งการคลัง ยืมเงินออมสิน ออมสินบอกช่วยได้บางส่วน แต่พอถามกฤษฎีกา กฤษฎีกาตอบว่า ขัดกับ พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน ไม่สามารถทำได้

3.จะกู้เงิน ก็เกรงโดนด่าทั้งประเทศว่า กู้มาแจก สร้างหนี้ให้ลูกหลาน จะออก พ.ร.ก.เงินกู้ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา ก็ไม่มีเหตุผลฉุกเฉินจำเป็น และอาจขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ  

4.ทางออกที่เหมาะสมแล้วคือ ใช้งบประมาณแผ่นดินจากการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ลดขอบเขตการแจก และการขยับวันแจกเป็นปลายเมษายน หรือต้นพฤษภาคม หลัง พ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภา 

"บทเรียนสำหรับพรรคการเมืองในเรื่องนี้คือ การเสนอนโยบายต้องมองความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่พูดตัวเลขประชานิยมใหญ่โต แล้วเป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ถึงเวลาก็มีข้อจำกัดมากมาย ไม่สามารถทำได้จริง ทำให้ต้องเสียหน้า เสียความน่าเชื่อถือ และหากจะดึงดันต่อ ก็อาจสูญเสียมากกว่านั้น" นายสมชัยกล่าว

ทั้งนี้ การยอมถอยจากเงื่อนไขเดิมที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงลง ด้านหนึ่งอาจเป็นผลดี เพราะรับฟังเสียงคัดค้านจาก อาทิ แบงก์ชาติ รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์และองค์กรอิสระดังกล่าว ที่ออกมาให้คำนึงขั้นตอนทางกฎหมายและวิธีทางงบประมาณ ที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย  

หากไม่ฟังอาจทำให้คนในรัฐบาลเพื่อไทยมีชะตากรรมซ้ำรอยใน โครงการรับจำนำข้าว ที่สังเวยด้วยการติดคุก และ อดีตนายกฯ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องหนีคดีอยู่ต่างประเทศ โดยยังมีหนี้อีกประมาณ 2 แสนล้านบาท ที่ยังไม่หมด และคนไทยต้องตามเช็ดตามล้าง  

แต่ในทางการเมืองถือเป็นความพ่ายแพ้ เนื่องจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นเรือธงของพรรคเพื่อไทย ที่หวังจะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง และหวังกอบกู้ภาพลักษณ์ทางการเมือง หลังผสมพันธุ์ข้ามขั้วกับ พรรค 2 ลุง จนเกิดล้มละลายทางวิกฤตศรัทธา หรือหมดสภาพความน่าเชื่อถือ ซึ่งสุดท้ายก็ทำไม่ได้ 

ไม่นับคำถามที่ตามมาอีกมากมาย เช่น นิยามของคนที่รวยหรือคนจนเป็นเช่นใด เอามาตรฐานตรงไหนเป็นผู้กำหนด รวมทั้งคนที่ไม่ได้เงินส่วนใหญ่ก็เป็นผู้จ่ายภาษี แต่สุดท้ายก็รับกรรมตกเป็นหนี้อย่างถ้วนหน้า ฯลฯ  

รวมถึงข้อพิรุธเรื่องผู้จัดทำซูเปอร์แอปในโครงการนี้ แทนที่จะใช้ แอปเป๋าตัง เดิม โดยมีผู้ตั้งข้อสังเกตใช้งบประมาณสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท และจะรั่วไหลไปอยู่ในมือใครหรือไม่  

จนขณะนี้โลกโซเชียลได้ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ "เพื่อไทยตระบัดสัตย์" อีกครั้ง พร้อมพยายามโยงเรื่องอื่นๆ ขุดขึ้นมาโจมตี 

อย่างเช่น พรรคร่วมรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย โหวตคว่ำญัตติการขอให้สภาฯ พิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้ ครม.ดำเนินการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นผู้เสนอ โดยมีสาระสำคัญให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง 100% รวมถึงเปิดทางให้แก้ไขหมวด 1 และ 2

ทั้งที่ช่วงหาเสียง คนพรรคเพื่อไทย แม้แต่ นายกฯ เศรษฐา ประกาศเอาไว้ว่าจะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่การประชุม ครม.นัดแรก โดยให้ทำประชามติโดยกระบวนการ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็ว 

แต่ถึงเวลาเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยเลือกซื้อเวลาตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ที่ใช้เวลาแก้ไขประมาณ 4 ปี หวังพยุงรัฐบาลให้บริหารประทศครบวาระ ก่อนเลือกตั้งด้วยกติกาและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่สนใจว่าจะใช้งบประมาณทำประชามติกี่ครั้ง จะสิ้นเงินไปกี่หมื่นล้านบาทก็ตาม   

ยิ่งล่าสุดพรรคเพื่อไทยจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการชุดใหม่ ในวันที่ 27 ต.ค. โดยมีชื่อ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค หวังนำทัพต่อสู้กับพรรคก้าวไกล ด้วยการดึงคะแนนคนรุ่นใหม่ให้กลับคืนมา  

แต่คำถามคือ "อุ๊งอิ๊ง" จะทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะวิกฤตศรัทธาที่พรรคสีแดงยังไม่สามารถกอบกู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับพรรคสองลุง ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ดูแล้วไม่ตรงปกอย่างที่คุยโวเอาไว้

สำคัญสุด “ผู้นำพรรคคนใหม่” ยังไม่สามารถพิสูจน์ผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าประสบความสำเร็จอะไรมาบ้าง นอกจากเป็นคน ตระกูลชินวัตร รวมถึงความเป็นอิสระ ว่าจะสลัดร่างทรงของคนชั้น 14 ได้หรือไม่. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพิกถอนที่ดิน “อัลไพน์” ระวังซ้ำรอยค่าโง่พันล้าน

ขณะที่พรรคเพื่อไทย โดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม กำกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จากพรรคเพื่อไทย กำลังรุกไล่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย ในคดี ที่ดินเขากระโดง โดยกดดันต่อสังคมว่า กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ไม่ยอมเพิกถอนที่ดินประมาณ 5,000 กว่าไร่ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครอง

นายกฯอิ๊งค์ เผยประทับใจลงพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งแรก

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์บนเครื่องบิน ระหว่างเดินทางกลับกรุงเทพฯ ภายหลังลงพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ประทับใจมาก เมื่อไปโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ น้องๆต้อนรับดีมากและที่จังหวัดนราธิวาส อสม.ก็ต้อนรับอย่างอบอุ่น

นายกฯ ประชุมติดตามคืบหน้าโครงการพัฒนาชายแดนใต้ ฝากส่วนราชการอย่าห่างเหินประชาชน

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเร่งรัดติดตามความก้าวหน้างานด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และติดตามโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก

'อิ๊งค์' ถึงนราธิวาส สวมเสื้อสูทลายผ้าประจำจังหวัด เปิดมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงท่าอากาศยานนราธิวาส ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส โดยนายกฯสวมเสื้อสูทสีชมพูบานเย็น หวานฉ่ำ ลายผ้านรารวมใจ เป็นผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนราธิวาส