เรือดำน้ำฝึก-อาวุธเรือฟริเกต รื้อสัญญา 'จีทูจี' ก่อนเจรจาจีน

การแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่จีนไม่สามารถนำเครื่องยนต์เยอรมันมาติดตั้งได้ตามสัญญา กลายเป็นเรื่องที่ “คาราคาซัง” มาเป็นปี จนวาระสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือของ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ จึงได้ตัดสินใจนำเสนอแนวทางไปให้รัฐบาลว่า เครื่องยนต์จีนมีสมรรถนะ “เทียบเท่า” และไม่สูญเสียคุณค่าทางยุทธการหากนำมาใช้ทดแทนเครื่องยนต์เยอรมัน แต่ก็ต้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและเห็นชอบในการแก้ไขสัญญาก่อน

แต่ดูเหมือนว่าแนวทางดังกล่าว “เสี่ยงเกินไป” เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดในอนาคตจะกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ที่ถูกหยิบฉวยเป็นประเด็นมาฟัองร้องรัฐบาลย้อนหลังได้ และจะว่าไปเครื่องยนต์จีนชุดนี้ก็ไม่เคยติดตั้งในเรือดำน้ำแบบใดมาก่อน จึงไม่มีใครรู้ว่าผลการใช้งานระยะยาวเป็นอย่างไร 

สิ่งที่กองทัพเรือต้องกลับมา “ทบทวน” คือทำอย่างไรไม่ให้สิ่งที่ดำเนินการมา “สูญเปล่า” ในขณะเดียวกัน ก็สามารถเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถด้านกำลังรบของกองทัพเรือในระดับต่ำ ตามยุทธศาสตร์และสมุดปกขาวที่เพิ่งมีการปรับแก้ไปตามสภาวะแวดล้อมทางด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่ใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่  “ครูณรงค์ พิพัฒนาศัย”

อย่างไรตาม หาก “ถอยไปสุดทาง” หลังจากรัฐบาลไม่ยอมเป็นหนังหน้าไฟแก้สัญญาให้แล้ว ทร.ยังต้องเสียงบฯ กว่า 7,500 ล้านบาทที่ได้ทยอยจ่ายเงินงวดไปกับเรือดำน้ำแล้ว 5 ปีแลกกับ “ปุ๋ย” หรือถ้าเจรจามาแล้ว งบฯ ที่ได้กลับมาก็ต้องคืนคลังกลายสภาพเป็น “งบฯ ตกน้ำ” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภายใต้สภาพของเรือที่ประจำการอยู่ก็ “บักโกรก” เต็มที ก็จะมีปัญหาอื่นๆ ที่งอกตามมาเป็นงูกินหาง โดยเฉพาะสมรรถนะของเรือแบบต่างๆ ที่ทยอยเข้าคิวซ่อมและปลดประจำการเป็นหางว่าว

ในที่สุด หลังจากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และ “สุทิน  คลังแสง" รมว.กลาโหม หารือกับผู้นำจีน จึงได้ข้อสรุปออกมาเป็นแนวทางซื้อเรือฟริเกตทดแทน ซึ่งเป็น  1 ใน 2 ทางเลือกที่ ทร.ไทยเสนอมา และจีนตอบรับ ด้วยการเปิดเผยวงเงินการจัดซื้ออยู่ที่ 14,000 ล้านบาท

จากบทเรียนในอดีตว่าด้วยการ ลด แลก แจก แถม ตามลักษณะการค้าแบบ “จีนสไตล์” อาจทำให้ ทร.ต้องดำเนินการอย่างรัดกุมขึ้น และตอบสังคมให้กระจ่าง  เพราะเรือฟริเกตราคาถึง 14,000 ล้านบาท แพงกว่าเรือดำน้ำถึง 1,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลและกองทัพเรือพิจารณาร่วมกัน เห็นว่ามีงบประมาณค้างจ่ายเรือดำน้ำเดิมอยู่แล้ว ส่วนต่างที่เพิ่มออกมาจึง “พอรับได้”

จากข้อมูลยังพบพบว่า เรือฟริเกตของจีนที่ ทร.เล็งไว้เพื่อทดแทนเรือดำน้ำ เป็นเรือรุ่นใหม่ มีเทคโนโลยี Stealth เช่นเดียวกับเรือหลวงภูมิพล ปัจจุบันจีนยังไม่ได้ส่งออกหรือขายให้ประเทศไหน จึงยังไม่มีการระบุราคาที่แท้จริง ต้องมีการเจรจาลงรายละเอียดอีกรอบ

อย่างไรก็ตาม ทร.ก็มีการตั้งงบฯ ปี 67 ผูกพันงบประมาณในวงเงิน 17,000 ล้านบาท จะซื้อเรือฟริเกตสมรรถนะสูงที่เล็งไว้ในฝั่งยุโรปเพิ่มเติมตามแผน เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. คนก่อนปูทางไว้ในการวางกำลังทางเรือในฝั่งอ่าวไทยและ อันดามัน โดยต้องมีเรือฟริเกตพร้อมปฏิบัติงานครบ 8 ลำในปี 2580

ขั้นตอนต่อจากนี้คือ คณะกรรมการบริหารโครงการเรือดำน้ำ ที่มี พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ทร. ต้องดูรายละเอียดในเรื่อง “สัญญา” ระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นต้องอยู่ภายใต้การเจรจาให้ได้ของที่เทียบเท่าหรือสูงกว่า ประเทศชาติได้ประโยชน์ก่อนเท่านั้น ซึ่งต่างจากสัญญาจัดซื้อจัดจ้างปกติที่สามารถยกเลิกได้ทันที  

ในประเด็นที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่อง ทร.เสียโอกาสนั้น ทร.มีแนวทางการเจรจาเตรียมไว้หากรัฐบาลไทยเห็นชอบ และจีนพร้อมขายในเงื่อนไขที่ ทร.เจรจา เช่น การขอลดราคา การรักษาองค์ความรู้เรื่อง “เรือดำน้ำ” เอาไว้ รวมถึงมีการเรียนรู้ต่อเนื่อง เพื่อรักษาโครงการจัดหาเรือดำน้ำไว้ให้เดินหน้าต่อไป รอเวลาในการริเริ่มอีกครั้ง

 หนึ่งในนั้นคือ การเจรจาขอเรือดำน้ำมือสองมาฝึกให้แก่บุคลากรไทยได้แบบใช้จริง เหมือนโมเดลของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่กว่าจะซื้อเรือดำน้ำ “ชั้นสกอร์เปียน” เข้าประจำการได้ ฝรั่งเศสก็ได้ให้เรือดำน้ำมือสองเข้ามาฝึกให้ทหารเรือของประเทศเขาก่อน

นอกจากนั้น ก็เป็นระบบอาวุธของเรือฟริเกตจีน รวมถึงจรวดที่ควรให้ในจำนวนที่มากกว่าที่ตั้งไว้ เพราะ ทร.เองไม่มีอาวุธของจีนประจำการอยู่เลย รวมไปถึงระยะเวลาการรับประกันที่มากขึ้น การสนับสนุนการซ่อมบำรุง และอะไหล่ตลอดอายุใช้งาน ส่วนจะมีการจัดหาแบบแพ็กเกจหรือ 2 ลำ ถ้าจีนเสนอมาเป็น “ออปชัน” ก็คงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทั้งข้อดีและข้อเสีย

 เพราะจะว่าไป ระบบควบคุมบังคับบัญชาของเรือฟริเกตที่ ทร.มีอยู่ 3 ลำ ได้แก่ เรือหลวงภูมิพล, เรือหลวงตากสิน และเรือหลวงนเรศวร รวมถึงเรือหลวงจักรีนฤเบศร ใช้ระบบเดียวกันหมด การติดต่อสื่อสาร การฝึกสามารถใช้ทดแทนกันได้ ส่วนเรือฟริเกตอีก 1 ลำ ซึ่งกองทัพเรือได้ขยับชั้นขึ้นมาเป็นเรือฟริเกต คือ เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ซึ่งใช้งานมา 36 ปี ก็ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน (เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี โซนาร์ใช้ไม่ได้จึงปรับภารกิจจากเรือฟริเกต เป็นเรือโอพีวีหรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งแทน)

  ดังนั้น ถ้า ทร.ตัดสินใจใช้เรือจีนก็อาจจะมีปัญหาเรื่องระบบควบคุมบังคับบัญชา ที่ไม่สามารถเชื่อมต่อกับเรือลำอื่นได้ จึงมีแนวโน้มว่า ทร.อาจตัดสินใจซื้อเป็นแพ็กเกจ 2 ลำ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าการจัดหาเรือฟริเกต ในโครงการของงบฯ 67 จะคัดเลือกแบบเป็นเรือสัญชาติจีนไปด้วยเลยหรือไม่

เหนือสิ่งอื่นใดคือ เราต้องไม่เสียเปรียบ ด้วยการใช้ช่องทาง “จีทูจี” ที่หยิบยกและอ้างถึงให้เป็นประโยชน์  

แต่ท้ายที่สุดแผนเหล่านี้จะราบรื่น หรือถูกถล่มยับ  ก็ขึ้นอยู่กับจะสามารถอธิบายให้สังคมได้เข้าใจ ถึงเงื่อนไข และความจำเป็นของกองทัพเรือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใส และตอบทุกคำถามได้หรือไม่. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี