ก้าวย่างของ 'บีอาร์เอ็น' เกมใหม่ 'ใน-นอก' ประเทศ

ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวานนี้ ได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ปี 66-70 โดยมุ่งให้ภาคใต้มีความสงบสุข เหตุการณ์ความรุนแรงยุติได้ในปี 70 และขจัดเงื่อนไขเก่าที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไป ตลอดจนเงื่อนไขใหม่ไม่เกิดขึ้น ตามการแถลงของ พลเอกคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกฯ แถลง

เป็นไปตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศระหว่างเดินทางลงพื้นที่ยะลา-ปัตตานี ติดตามการแก้ปัญหาความยากจน โดยมุ่งเน้นการพัฒนา สร้างงาน พร้อมผลักดันชายแดนใต้เป็นเมืองผลไม้-เมืองปูทะเลโลก หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ลดระดับลง ประชาชนในพื้นที่เริ่มกล้าที่จะฉีดวัคซีน

ถือเป็นการเดินหน้าตามแผนที่รัฐได้วางไว้ หลังจากงานรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ในห้วงที่ผ่านมาพบสถิติการก่อเหตุและการสูญเสียน้อยลง จนกลายเป็นความมั่นใจว่า “คุมพื้นที่ได้”

 แม้การก่อความไม่สงบในช่วงนี้จะถูกมองว่าเป็นเพียงการ “เอาคืน” ของ “โจรใต้” จากการที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดยุทธการ “ฮูแตยือลอ” ไล่ล่าแนวร่วม ขบวนการบีอาร์เอ็น และได้วิสามัญแนวร่วมและกองกำลังติดอาวุธได้หลายศพ  

ตามมาด้วยการวิสามัญแนวร่วมที่ก่อเหตุยิงชาวไทยพุทธที่เข้าไปหาของป่าที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส นำไปสู่การมีชาวบ้านและญาติๆ ของผู้ถูกวิสามัญแสดงความไม่พอใจเจ้าหน้าที่ในเรื่องการพิสูจน์ศพล่าช้า จนมีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้น ก่อนที่จะจบลงด้วยการทำความเข้าใจกับแกนนำชาวบ้าน  

หากดูตามหน้าสื่อแล้วก็ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้กับผู้ที่ติดตามสถานการณ์ เพราะ “ขบวนการบีอาร์เอ็น” ต้องแสดงตัวตนสร้างราคาไม่ให้บทบาทของกลุ่มหายไป เพื่อดึงมวลชนในพื้นที่เอาไว้ ไม่ให้ย้ายข้างไปเป็นมวลชนของฝ่ายรัฐแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แต่ในทางการข่าวแล้ว การปรากฏตัวของกลุ่มผู้ก่อเหตุที่ไม่มีประวัติอาชญากรรม หรือที่เรียกว่า “คนหน้าขาว” นั้นมีอยู่ในเกือบทุกพื้นที่ และกระจายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

นับเป็นสัญญาณที่ฝ่ายความมั่นคงเองก็รู้ดีว่า “ไม่น่าไว้วางใจ”

เพราะนั่นเท่ากับว่า การหายไปช่วงหนึ่งของกลุ่มผู้ก่อความสงบไม่ได้เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 หรือขบวนการอ่อนแอ และเปลี่ยนแนวหันไปเดินเกมยกระดับตัวเองสู่องค์กรสากล และเลิกใช้ความรุนแรง

แต่เป็นเพราะแกนนำได้เปลี่ยน “ยุทธวิธี” ใหม่ เพื่อบรรลุตามยุทธศาสตร์ที่ได้วางเป้าหมายไว้ แต่ครั้งนี้ได้ให้น้ำหนักทุกด้านไปพร้อมกัน ทั้งการเมือง การทหาร ศาสนา และต่างประเทศ

“คนหน้าขาว” ที่ออกปฏิบัติการยังคงเป็นส่วนของแกนนำกองกำลังที่ติดอาวุธ มีความฮึกเฮิมที่จะรับมือกับการปิดล้อม ตรวจค้นได้ยาวนาน ไม่ได้เกรงกลัวกับการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แม้แต่น้อย แสดงให้เห็นว่าการเติมคนรุ่นใหม่เข้าขบวนการมีความเข้มข้นทั้งด้านความคิดและทักษะทางทหาร

 เมื่อดูความเคลื่อนไหวของ “ขบวนการบีอาร์เอ็น” ในห้วงที่ผ่านมาหลังเข้าสู่การรองรับของโอไอซี ในฐานะที่เป็นตัวแทนของกลุ่มมลายู แกนนำสามารถเข้าไปพูดใน “ยูเอ็น” ด้วยการยกแนวทางศาสนาเคียงคู่กับ  “ปาเลสไตน์” มาแล้ว หลายฝ่ายจึงมองว่าการ “โกอินเตอร์” จะทำให้การก่อเหตุลดลง

แต่หน่วยข่าวความมั่นคงก็ยังเกาะติดความเคลื่อนไหว และพบข้อมูลว่า การเดินเกมของแกนนำใช้มาตรการหลักผสมกับมาตรการรอง นอกจากเดินหน้าเพื่อพูดคุยสันติภาพแล้ว ฝ่ายกองกำลังก็ยังเดินหน้าสร้างความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่บางกรณีถูกจำหน่ายเป็นเรื่องความขัดแย้งจากผลประโยชน์ส่วนตัว

ทั้งนี้ การสร้างกลุ่มหัวรุนแรงที่เป็นหน่วยกล้าตายทำได้ง่ายขึ้น ผ่านการปลุกระดมในแนวทาง “ซาฮีดออนไลน์” ไม่ต่างจากแนวคิดดั้งเดิมที่ปลูกฝังกันมาแต่อดีตที่เรียกกันว่า “ตายสิบเกิดแสน” แต่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายง่ายกว่า

ไม่เท่านั้นยังสร้างเครือข่ายแสวงหาแนวร่วมในกลุ่มเยาวชนส่วนกลาง ด้วยการเกาะเกี่ยวแนวคิด “ม็อบคณะราษฎร” ที่มีแนวคิด “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ตามเป้าหมายที่เรียกว่า RSD” หรือกลุ่มที่สามารถกำหนดใจตนเองได้ กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการแบ่งเขตปกครองพิเศษ ซึ่งหากอนาคตมีการเจรจาสันติภาพ และยกเรื่องการทำประชามติ มวลชนกลุ่มนี้ก็จะเป็นฐานสำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของกลุ่ม PERMAS ที่ยกระดับตัวเองเป็นสมัชชาขนาดใหญ่ โดยมีองค์กรนานาชาติและต่างประเทศหนุนหลัง เปลี่ยนชื่อเป็น CAP ซึ่งถือเป็นแนวร่วมสำคัญในการทำหน้าที่ “โซ่ข้อกลาง” เชื่อมต่อการต่อสู้ทางยุทธศาสตร์

ขณะที่ P.N.Y.S” ซึ่งเป็นเยาวชนที่เคยมีบทบาททางการเมือง และถูกจับตามองจากฝ่ายความมั่นคงในอดีตนั้น แกนนำและสมาชิกต่างแตกตัวเข้าสู่โครงสร้างรัฐ นั่ง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในหลายพื้นที่

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ขณะนี้มีองค์กรระหว่างประเทศและมหาอำนาจเข้ามาแทรกซึมมาโดยตลอด

ยิ่งเห็นสัญญาณชัดกรณี “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ที่รัฐบาลต้องถอยไปตั้งหลักใหม่ เพราะนอกจากความลุกลี้ลุกลน และประเด็นไม่ชอบมาพากลที่เกิดจากการซื้อขายที่ดินในพื้นที่แล้ว ยังมีการปล่อยข้อมูลเรื่อง “ทุนจีน” ยิ่งทำให้เห็นการเข้ามาแหย่ขาของเหล่าบรรดาองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะเอ็นจีโอ สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่จ้องตาเป็นมันตั้งแต่ 3-4 ปีที่ผ่านมา ในกรณีม็อบโรงไฟฟ้าเทพา

แม้รัฐจะไม่ให้ราคา “บีอาร์เอ็น” ไม่ยกให้เป็นขบวนการที่น่ากลัว แต่ในความเป็นจริงขบวนการดังกล่าวยังดำรง “ยุทธศาสตร์” ตามเป้าหมายเดิมที่มีมาอย่างต่อเนื่องจากชุดข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ตกทอดกันมา ส่งผลให้ “ไฟใต้” ยังคงไม่ดับมอดลงไปด้วยการพัฒนา ตามความหวังของรัฐบาลจะลดเงื่อนไขทุกอย่างให้เหลือศูนย์ก็ตาม

การประคับประคองไม่ให้การก่อเหตุส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ คงยังเป็นงานประจำที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับมือต่อไป โดยยังไม่เห็นจุดพลิกผันให้สถานการณ์ยุติลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ

คงได้แต่รอลุ้นว่า “ไฟใต้จะดับมอด” ลงตาม “เดดไลน์” ที่รัฐตั้งใจให้จบในปี 70 หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี

สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?

ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี